กินดี มีกำลัง ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน

by ThaiQuote, 15 ธันวาคม 2561

พ.อ.รศ.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกพรุนระบุว่า “โรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่มักเป็นในผู้สูงวัย สังเกตได้ง่ายเช่นเมื่อเกิดการล้ม คนหนุ่มสาวจะไม่ค่อยเป็นอะไร แต่กับผู้สูงวัยอาจมีอาการกระดูกส่วนต่างๆแตกหักได้ง่าย จึงควรต้องมีการตรวจวัดมวลกระดูกอย่าง สม่ำเสมอ ขณะที่การป้องกันง่ายๆ ก็ทำได้ด้วยทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างกระดูก อาทิ โปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก ลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก”   ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกพรุนจะพบมากในชาติพันธุ์ ผู้หญิงผิวขาว (Caucasian) และผู้หญิงเอเชียมีการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่น เมื่ออายุเฉลี่ย 65 ปี จะเกิดภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานน้อยลง แต่เซลล์สลายกระดูกเพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น ผลลัพธ์คือทำให้มวลกระดูกลดลง นอกจากนี้การสูบบุหรี่เป็นประจำ ทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกรดเพิ่มขึ้นและทำให้แคลเซียมละลายออกจากกระดูก ภาวะขาดสารอาหารสำหรับการสร้างกระดูก ซึ่งอาหารสำคัญของการสร้างกระดูกก็คือ โปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี การรับประทานอาหารประเภทโปรตีน (เนื้อสัตว์) มากเกิน ทำให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากผิดปกติ อีกสาเหตุที่สำคัญคือการรับประทานอาหารเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะเกลือโซเดียมจะทำให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลงและเพิ่มการขับแคลเซียมทางไตมากขึ้น ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสี หรือให้สารเคมี ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่มีการทำลายเซลล์กระดูก ซึ่งนำไปสู่โรคกระดูกพรุน เช่นเดียวกับการใช้ยา cyclosporine A ในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ การเสพติดแอลกอฮอล์ หรือดื่มชา กาแฟ ช็อกโกแลต ในปริมาณมาก ส่งผลให้กาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้ ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้เล็ก ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร หลายคนคงไม่รู้ว่าการดื่มน้ำอัดลมในปริมาณมาก กรดฟอสฟอริกที่ทำให้เกิดฟองฟู่ในน้ำอัดลมจะทำให้ความสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสเสียไป (ทำให้มีฟอสฟอรัสมากขึ้น) ร่างกายจึงจำเป็นต้องสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น แม้แต่การใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์ (มีผลกดการสร้างกระดูกใหม่ ลดการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ และเร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย), ยากันชักบางชนิด (เช่น Barbiturates, Carbamazepine, Phenytoin มีผลทำให้เกิดภาวะพร่องวิตามินดี ลดการดูดซึมของแคลเซียม และการทำงานของฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพิ่มขึ้น), ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ (การใช้เกินขนาดจะยับยั้งขบวนการดูดซึมฟอสเฟตในร่างกาย ทำให้เกิดฟอสฟอตในเลือดต่ำ มีผลทำให้กระดูกผุ), ยากดภูมิคุ้มกัน, ยารักษามะเร็ง, ยากลูโคคอร์ติคอยด์, ยาเฮพาริน (กลไกยังไม่ทราบแน่ชัด), ยาขับปัสสาวะ (เช่น ฟูโรซีไมด์) เป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคกระดูกพรุนก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ควรมีการตรวจวัดมวลกระดูกอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนหรือบริโภคแต่พอสมควรและรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกได้แก่ โปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการทำงานของเซลล์ที่สร้างกระดูกและลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก แต่ถ้าขาดการออกกำลังกาย ไม่ขยับร่างกายหรือขยับร่างกายน้อย เซลล์สลายกระดูกก็เพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น