จาก “ดีเอสไอ” สู่ “เรือนจำ” ชีวิตผกผันของ “ธาริต เพ็งดิษฐ์”

by ThaiQuote, 15 ธันวาคม 2561

ด้วยที่ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาโทษดังกล่าวให้กับธาริต ด้วยความผิดที่เจ้าตัวหมิ่นประมาท “กำนันคนดัง” สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถ้อยแถลงข่าวที่ว่าของธาริต ระบุถึงสุเทพว่า “ส่อทุจริต” ในโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง ที่ก่อสร้างไม่เสร็จทันตามกำหนดเวลา ซึ่งนั่นก็ทำให้กำนันจากปักษ์ใต้เสียหายอย่างหนักและนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี ชีวิตของคนที่เป็นข่าวได้แทบทุกวัน และมีหน้ามีตาในสังคม เป็นนักกฎหมายระดับ “อ๋อง” ของเมืองไทยและคุมกำลังทีมสืบสวนสอบสวนในคดีพิเศษอย่างธาริต ก็เพียงพอที่เขาจะได้รับบทเรียนชีวิตในเรือนจำ และทำให้เขากลานเป็นอีกหนึ่งบุคคลระดับสูงของประเทศ ที่ต้องชดใช้โทษในคุกอีกราย ย้อนเวลากลับไปดูแนวทางการต่อสู้คดีของธาริต ซึ่งเจ้าตัวได้ปฏิเสธข้อหามาโดยตลอด และถึงแม้ว่าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ จะพิพากษายกฟ้องเขาก็ตาม แต่แล้วสุเทพ ก็เลือกจะต่อสู้ไปถึงฎีกา หมายให้คนอย่าง ธาริตต้องหลาบจำ เค้าลางแห่งชีวิตภายภาคหน้าของธาริตเริ่มเด่นชัดขึ้นว่าตัวเองอาจจะต้องไปใช้ชีวิตในคุก ก่อนคำพิพากษาฎีกา เขาดิ้นในเฮือกสุดท้ายด้วยการ “ขอรับสารภาพผิด” พร้อมทั้งขอให้ศาลลงโทษสถานเบา ในฐานะที่เขาเองก็เคยทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดิน รวมทั้งจะใช้เงิน 1 แสนบาท ชดเชยให้กับสุเทพ เพื่อขอคืนดี และให้ “เลิกแล้วต่อกัน” แต่สุเทพไม่เล่นด้วย กฎหมายจึงทำให้ “ธาริต” ต้องเดินเข้าเรือนจำทันที หลังฟังคำพิพากษาเมื่อ 14 ธ.ค. 1 ปี ไม่รอลงอาญา!!! เมื่อมองประวัติของธาริต ก็พบว่าเขาพาดโผนอยู่ไม่น้อย เร่ิมจากเด็กหนุ่มต้นทางกำเนิดที่ชัยนาท สู้อุตส่าห์ร่ำเรียนกฎหมายจนได้เกียรตินิยม ปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ก่อนจะต่อด้วยเนติบัณฑิตไทย ควบปริญญาโทกฎหมาย ในสาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธาริตใช้เวลาร่ำเรียนด้านกฎหมายรวมแล้ว ถึง 12 ปี และเขาเลือกเริ่มต้นเส้นทางอาชีพด้วยการ “สอนหนังสือ” ชีวิตผกผันเมื่อมาพบและรู้จักกับ คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด ที่ได้แนะนำให้ไปสอบอัยการ ธาริตเชื่อในทันที และเข้าสอบเพื่อรับราชการและสอบติดในที่สุด และได้ทำหน้าที่ราชการด้านกฎหมายสมกับความต้องการ ก่อนที่จะเป็นหนึ่งในผู้ถูกเลือกจาก “ทักษิณ ชินวัตร” ที่จะก่อตั้งพรรคเพื่อไทย ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีหนีคดีผู้นี้ ต้องการรวบรวมมือดีนักกฎหมายให้มาช่วยงานสู้ศึกเลือกตั้ง ผลปรากฎอย่างที่ประวัติศาสตร์การเมืองของไทยรู้ดี เพราะ “ไทยรักไทย” ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ทักษิณ ตอบแทนธาริตด้วยตำแหน่ง ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้นชีวิตในหน้าที่การงานของธาริตก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดทันที ธาริต เป็นคนไทยคนแรกที่ได้ตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. และเมื่อมีการก่อตั้ง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” ธาริตก็ได้ขยับมาขึ้นตำแหน่งเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ และแม้เปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นของประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ หลายคนคิดว่า ธาริต น่าจะตกกระป๋องเสียแล้ว เพราะเขาถูกตราว่าเป็นคนที่เติบโตมาในยุคของทักษิณเรืองอำนาจ แต่แล้วกลับผิดคาด เพราะได้ผงาดเป็นอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งขณะนั้นมีกระแสว่าที่ได้เก้าอี้ตัวนี้ เพราะความใกล้ชิดกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น จากชื่อเสียงที่ดังในหมู่ราชการกระทรวงยุติธรรม ระยะเวลา 5 ปีของธาริตบนการทำหน้าที่อธิบดีดีเอสไอ ก็ยิ่งพอกพูนชื่อเสียงของเขาให้เป็นที่รู้จักของสังคมอย่างมาก เพราะตำแหน่งที่ว่ามันคือระดับสูง และชนกับทุกคดีใหญ่ บวกกับเหตุการณ์การเมืองต่างๆ มากมายผ่านพ้นในยุคที่ธาริตเรืองอำนาจ จึงไม่แปลกที่ธาริตจะโด่งดังมากยิ่งขึ้น ธาริต ผ่านพ้นเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ด้วยการ “โอนไปตามลม” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะในปี 2553 ในยุคของอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ เกิดการชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งนับเป็นการชุมนุมที่รุนแรงครั้งใหญ่อีกคร้ังของการเมืองไทย ธาริตก็ทำหน้าที่เป็น คณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ช่วยเหลืองานรัฐบาลได้เป็นอย่างดี อำนาจการเมืองเปลี่ยนมาหาทักษิณอีกครั้ง เมื่อน้องสาวคนสำคัญ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ธาริต ก็รื้อคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ขึ้นมา และครั้งนี้เองที่เขา แถลงข่าวอัดสุเทพ เกี่ยวกับกรณีการก่อสร้างโรงพัก จนเป็นเหตุแห่งชีวิตที่เขาจะต้องจดจำไปจนวันตาย ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อกำนันคนดังพามวลมหาประชาชนปิดเมืองกรุงเทพ ชุมนุมประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ธาริตอีกเช่นกัน ที่ทำหน้าที่ เลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) จัดการกับผู้ชุมนุมกปปส. และดำเนินคดีกับแกนนำชุมนุมในข้อหากบฎและข้อหาอื่นๆ อีกรวม 8 ข้อหา เมื่อครั้งประชาธิปัตย์เรืองอำนาจ เขาก็ทำงานให้ เมื่อครั้งที่ตระกูลชินวัตรผงาด ธาริตก็ทำงานให้เช่นกัน มันจึงสะท้อนได้ตามคำชาวบ้านว่าเขา “อยู่เป็น” กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น เข้ายึดอำนาจ ก่อตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็ถึงคราวที่ชะตากรรมธาริตผกผันครั้งสำคัญ โทษแรก เขาถูกย้ายออกจากเก้าอี้ดีเอสไอที่นั่งมานาน ไปสู่ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนั่งยาวในตำแหน่งนี้จนชื่อของเขาค่อยๆ เลือนไปจากสังคม ก่อนจะมาเป็นข่าวหน้าหนึ่งอีกรอบในปี 2560 เมื่อถูกโทษให้ออกจากราชการ หลังป.ป.ช.พบว่า “รำ่รวยผิดปกติ” เพราะเป็นอธิบดีดีเอสไอ เหตุฉไนจึงมีเงินได้ถึง 346.65 ล้านบาท ป.ป.ช.สอบลึกเข้า ก็พบว่าธาริตโยกย้ายทรัพย์สินบางส่วน และป.ป.ช.มีมติอายัดทรัพย์สินเอาไว้ชั่วคราวจำนวน 90.26 ล้านบาท ไว้ก่อน ส่วนที่เหลือรอเวลาชี้ชะตาเท่านั้นว่าเงินจำนวนนี้ของธาริต เมื่อออกจากคุกจะได้มาใช้หรือไม่ หรือจะต้องตกเป็นของแผ่นดินเพราะความผิดที่ก่อขึ้นอีก วิบากกรรมของธาริต จึงไม่อาจจบง่ายๆ