เก็บตกเวทีเสวนา “วิกฤตข้าวไทย” เรื่องเดิมๆที่ เกษตรกรรู้แต่ (ไม่)ทำ

by ThaiQuote, 21 พฤศจิกายน 2559

เวทีการเสวนา“วิกฤตและทางออกของข้าวไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยการปฏิรูประบบราชการและการประเมินผลโครงการภาครัฐ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ซึ่งเป็นการเสวนาที่รวมเอา 3 ภาคส่วนในสังคม ทั้งส่วนของนักวิชาการ เกษตรกร และผู้บริโภค มาพูดคุยกันถึงปัญหาเรื่องของข้าว โดยมีข้อสรุปดังนี้

     นายยูร แก้วหอม ผู้แทนชาวนาจาก จ.สุรินทร์ ได้ชี้ถึงประเด็นในส่วนของเกษตรกรผู้เป็นชาวนาถึงการทำเกษตรกรรมในอนาคตที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยเปลี่ยนการใช้สารเคมีในการทำนาเป็นรูปแบบการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ 

     ทั้งนี้นอกจากจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค ในเรื่องของการได้บริโภคผลผลิตที่ปราศจากสารเคมีแล้ว ผู้บริโภคปลอดภัย ชาวนาเองก็ปลอดภัยแล้ว และยังเป็นการลดต้นทุนการทำนาในส่วนของกระบวนการผลิตอีกด้วย 

     ขณะที่นางฐณิฏฐา จันทนฤกษ์ ตัวแทนสมาพันธ์ผู้บริโภคข้าวไทย ตัวแทนของผู้บริโภคได้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากการบริโภคข้าว ในเรื่องของราคาขายจากพ่อค้าคนกลางหรือกลุ่มทุนที่เป็นฝ่ายกำหนดราคา ไม่ใช่ชาวนาซึ่งเป็นผู้ผลิต หรือประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้บริโภคข้าว 

    ดังนั้นจึงควรมีการตัดตอนกระบวนการของพ่อค้าคนกลางหรือกลุ่มทุนออกไป เปลี่ยนเป็นการที่เกษตรกรและผู้บริโภคสามารถซื้อขายได้โดยตรง หรือผ่านสหกรณ์การเกษตรที่เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรโดยตรง 

    นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวความคิดเรื่องของโรงสีในครัวเรือน ที่มีการลงทุนเครื่องสีข้าวในราคาที่ไม่แพง สีข้าวขายเป็นผลผลิตของกลุ่มสหกรณ์หรือของเกษตรกรเองในราคาที่เกษตรกรเป็นผู้ควบคุม ไม่มีการใช้สารพิษในกระบวนการเก็บรักษา หรือกักตุนไว้เก็งกำไร

     สุดท้ายในส่วนของฝ่ายนักวิชาการ โดยดร.วิชัย รูปขำดี ศูนย์วิจัยการปฏิรูประบบราชการและการประเมินผลโครงการภาครัฐสำนักวิจัย นิด้าได้สรุปถึงสาระสำคัญในเวทีเสวนาว่า ปัจจุบันการทำนาของชาวนาได้เปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมที่เคยทำในอดีต โดยนำเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้ขนาดพื้นที่ของนาเล็กลง ขาดพื้นที่ลานตากข้าว  และยุ้งฉาง เพราะใช้กระบวนการจ้างเก็บผลผลิตแทน เพื่อส่งโรงสีในทันทีที่เก็บผลผลิตเสร็จ

    กระบวนการเหล่านี้จึงทำให้เกิดช่องว่าง โอกาสในการถูกกดราคาขายข้าวจากโรงสีและนายทุน โดยเกษตรกรสามารถที่จะขจัดกระบวนการดังกล่าว ด้วยการจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ที่เข้มแข็ง เป็นตัวแทนในการต่อรองราคาในการขาย การซื้อปัจจัยในการผลิต 


p.p1 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 11.0px Helvetica; -webkit-text-stroke: #000000} p.p2 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 11.0px Helvetica; -webkit-text-stroke: #000000; min-height: 13.0px} span.s1 {font-kerning: none}