ผลงานทองคำ 5 ชิ้นในปี 61 ของกระทรวงพาณิชย์

by ThaiQuote, 29 ธันวาคม 2561

ThaiQuote ขอรวบรวม 5 มาตรการเด่นของ “พาณิชย์” ที่ดำเนินการในปี 2561 ภายใต้การกำกับดูแลของ “สน ธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เจ้ากระทรวง ว่าผลงานที่ผ่านมา อะไรบ้างที่เข้าตาคนไทย
  1. ถือเป็นโครงการเด่นของกระทรวงพาณิชย์ เลยทีเดียว สำหรับโครงการ ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เคียงคู่ บัตรคนจน’ ที่เทงบ 4.5 หมื่นล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการ มีผลช่วงเดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือนกันยายน 2562 วงเงิน 3.87 หมื่นล้านบาท ส่วนนี้จะมีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 11 ล้านคน ที่จะยังได้รับเงินเดือนละ 200 บาท หรือ 300 บาท ตามหลักเกณฑ์ที่ได้ขึ้นทะเบียน เพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ยังไม่หมดแค่นั้น ครม.บิ๊กตู่ แถมพิเศษวงเงินอีก 7.25 พันล้านบาท ที่จะใส่เงินเข้าในบัตรสวัสดิการสำหรับผู้ถือบัตรทุกคนวงเงิน 500 บาทต่อคน เพื่อนำไปซื้อสินค้า หรือบริการ หรือกดเป็นเงินสด ครั้งเดียวในเดือนธันวาคม อีกฟากที่ใจจดจ่อไม่ต่างกัน คือ ผู้รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรคนจน ที่มีร้านที่เข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐเท่านั้น เพราะจากนี้อีก 12 เดือนจะมีเงินผ่านมือผู้ใช้ผ่านบัตรคนจน สู่ระบบการค้า วงเงินกว่า 4.59 หมื่นล้านบาท เมื่อไปสำรวจดูว่ากลุ่มผู้รับบัตรคนจนเพื่อชำระค่าสินค้านั้น กลุ่มดั้งเดิมอย่างร้านค้าที่ได้รับการติดตั้งเครื่องรูดบัตรระบบอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องอีดีซี) ก็ยังคงจำนวนเดิม 4 หมื่นเครื่อง และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ อีกกลุ่มที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้ผู้ค้าทั่วไปที่ไม่อาจติดตั้งเครื่องอีดีซีได้ โดยเปิดให้โหลดแอพพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ เพื่อให้ผู้ใช้เงินมีทางเลือกในการซื้อสินค้าและชำระเงินกับร้านค้าใกล้บ้านได้มากขึ้น ซึ่งเดิมทางการต้องการเพิ่มจำนวนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่สามารถรับบัตรคนจนได้เกินแสนแห่งภายในสิ้นปีนี้ แต่เมื่อสอบถามยอดจริง พบว่ายอดติดตั้งแอพพ์ต่ำกว่าเป้าหมายอีกมากโข  
  1. โครงการผลักดัน สินค้าเกษตร อย่างผลไม้ไทยเข้าสู่ อาลีบาบา ที่เปิดตัวด้วย ทุเรียนมีออเดอร์ยอดสั่งซื้อทันที 80,000 ลูก ภายในระยะเวลาเพียง 1 นาที ตามด้วยผลักดันผลไม้ชนิดอื่นๆ ตามรอยทุเรียน ทั้ง ลำไย มังคุด มะม่วง ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม เข้าสู่ ตลาดออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่างจีนเช่นกัน
เป็นที่ฮือฮามาก กับการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายทุเรียนผ่านเว็บไซต์ Tmall.com ในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป โดยมียอดจองซื้อทุเรียนไทย 130,000 ลูก หรือ 350 ตัน คิดเป็นเงิน 70 ล้านบาท จากนั้น อาลีบาบาได้ตกลงที่จะร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมการขายทุเรียน จากไทย มูลค่า 3,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี ในช่วงที่นายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ได้เดินทางมาพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และได้ประเดิมด้วยการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายทุเรียนล่วงหน้า เป็นที่ฮือฮาอย่างมากทั้งที่จีนและไทย โดยมีการสั่งซื้อถึง 80,000 ลูก ภายในระยะเวลาเพียง 1 นาที สำหรับเกษตรกรที่ต้องการจะขายสินค้าใน Tmall.com กระทรวงฯได้เปิดกว้างให้กับเกษตรกรทุกราย แต่มีเงื่อนไขจะต้องเป็นนิติบุคคล อาจจะเป็นในรูปสหกรณ์ ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทก็ได้ เพื่อเป็นการยืนยันการมีตัวตน และต้องมีแบรนด์เป็นของตัวเอง จากนั้นให้สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ thaitrade.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายสินค้าทางออนไลน์ของกระทรวงฯ และกระทรวงฯจะประสานงานกับอาลีบาบา เพื่อให้มาคัดเลือกสินค้าไปจำหน่าย โดยเฉพาะทุเรียน มีเกษตรกรกว่า 100 ราย ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาขายใน Tmall.com ได้ และกระทรวงพาณิชย์กำลังผลักดันผลไม้ชนิดอื่นๆ ตามรอยทุเรียน ทั้ง ลำไย มังคุด มะม่วง ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม กำลังเป็นที่สนใจของผู้บริโภคชาวจีนในตลาดออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่างจีน  
  1. ข้าวไทยในโครงการ Thai Rice Flagship Store ประสบความสำเร็จในการขายข้าวในตลาดจีนผ่านเว็บไซต์ Tmall.com ซึ่งเป็นแคมเปญส่งเสริมการขายที่มีขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกโดยแพลตฟอร์ม ทีมอลล์ ของอาลีบาบา ซึ่งมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ข้าวจากพื้นที่การผลิตข้าวที่สำคัญๆ รวมทั้งประเทศไทย
เป็นที่น่ายินดีที่ผู้บริโภคชาวจีนชื่นชอบข้าวไทย และสั่งซื้อข้าวไทยข้าวหอมมะลิและผลิตภัณฑ์ข้าวอื่นผ่านออนไลน์ ที่กระทรวงพาณิชย์กำลังทำงานร่วมกับอาลีบาบาในการทำตลาดผ่านทาง Thai Rice Flagship Store ภายใต้ทีมอลล์ พร้อมแนะนำข้าวพันธุ์อื่นให้กับผู้บริโภคชาวจีน เช่น พันธุ์ กข43 ซึ่งถือเป็นข้าวพันธุ์พิเศษที่มีผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า มีค่าการแตกตัวเป็นน้ำตาลน้อย และมีค่าดัชนีน้ำตาล(ค่า GI)อยู่ปานกลางค่อนข้างต่ำ ถือเป็นข้าวทางเลือกของผู้ใส่ใจสุขภาพ เหมาะกับผู้บริโภคชาวจีนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง และให้ความสนใจกับการรักษาสุขภาพ โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังจะมีความร่วมมือในการผลักดันผลิตภัณฑ์จากข้าวมากขึ้น เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันจมูกข้าว ซีรัมบำรุงผิวและขนมขบเคี้ยวที่ทำจากข้าวให้กับประเทศจีน ซึ่งเชื่อว่าการส่งเสริมการส่งออกสินค้าพรีเมี่ยมอย่างข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว ผลไม้และกล้วยไม้ไปยังจีนผ่านช่องทางออนไลน์จะช่วยส่งเสริมให้สังคมจีนมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง  
  1. โครงการส่งเสริมและสนับสนุน SMEs และ Startup ไทยกว่า 3 ล้านราย ให้แข่งขันได้ในตลาดโลกได้ ผู้ประกอบการ SMEs ไทยในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านกิจการ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.7 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ SMEs ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6 คิดเป็นมูลค่า 1.74 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.8 ของ GDP รวมทั้งประเทศ จึงถือได้ว่า SMEs มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกธุรกิจยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้ SMEs ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในโลกการค้าที่ก้าวสู่ยุค industry 4.0 ที่เป็นโกลบอล และดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลตระหนักถึงและได้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้อย่างยิ่ง
ผลที่ว่า จึงได้กำหนดให้การพัฒนา SMEs เป็นวาระแห่งชาติ ขับเคลื่อนผ่านทุกกลไกของรัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ได้ใช้ศักยภาพทั้งหมดที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs มีความแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มอาเซียนเท่านั้น แต่ต้องติดอาวุธให้ SMEs สามารถบุกไปในทุกภูมิภาคได้ นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในชุมชน และท้องถิ่น ผู้ประกอบการ SMEs ในโครงการ ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทยโตไกลในต่างแดนให้สามารถพัฒนาศักยภาพในการประกอบธุรกิจที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด มีองค์ความรู้ในการทำธุรกิจ ที่ทันสมัย เข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้า เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยการฝึกอบรมผ่านสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA : New Economy Academy) ของกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้โครงการ SME Proactive  เกี่ยวกับเรื่องนี้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการหาตลาดใหม่และส่งเสริมการส่งออกสินค้านวัตกรรมภายใต้โครงการ SMEs Proactive นี้ ทำต่อเนื่องมาหลายปี และได้รับการตอบรับที่ดีมาก เป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถบุกเจาะขยายตลาดได้หลาย1,000 รายต่อปี ดังนั้น กระทรวงฯ จึงตั้งใจจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ สายด่วน 1169  
  1. โครงการเสริมสร้างศักยภาพร้านค้าชุมชนไทยสู่โชห่วย-ไฮบริดเสริมพื้นฐานการทำธุรกิจให้ร้านค้าชุมชน ที่เป็นการช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Omni-Channel หรือ ดึง...ออฟไลน์” และ “ออนไลน์”...ดูดลูกค้า และช่วยให้เกิดศูนย์กลาง (Hub) กระจายสินค้าในร้านและผลิตภัณฑ์ชุมชนไปสู่มือผู้บริโภคด้วยแพลตฟอร์มของไปรษณีย์ไทย และผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตของ DEPA
โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมอย่างจริงจังเพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานรากของไทยผ่านร้านค้าชุมชนให้สามารถเผชิญความท้าทายต่อการแข่งขันที่รุนแรงทั้งสถานการณ์การตลาดในประเทศและต่างประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องติดอาวุธทางความคิด มีการวางแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการร้านค้าสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ร้านค้าชุมชนมีโอกาสเติบโต... นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจของตนเอง แล้วยังครอบคลุมเศรษฐกิจในท้องถิ่นด้วย แนวทางการดำเนินการ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ “โชห่วย–ไฮบริด” จึงเป็นอีกการดำเนินการที่มุ่งขจัดอุปสรรค...ตอบโจทย์การสร้างความเติบโตให้ร้านค้าชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยใช้การตลาดยุคใหม่อย่าง ‘Omni–Channel’ เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ต้องเร่งพัฒนาก็คือแพลตฟอร์ม “การซื้อ–ขาย” สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่สามารถนำมาปรับใช้กับร้านค้าโชห่วยและร้านค้าชุมชน ประกอบกับเสริมความรู้ให้กับร้านค้าชุมชนด้านบริหารจัดการเครือข่ายโลจิสติกส์ของสินค้าตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นจุดแข็งของไปรษณีย์ไทยที่จะมาช่วยให้ร้านค้าชุมชนสามารถจำหน่าย... กระจายสินค้าได้ครอบคลุมทั่วประเทศ “โชห่วย–ไฮบริด” จะช่วยพลิกโฉมและเชื่อมโยงร้านค้าชุมชนหรือร้านโชห่วยในท้องถิ่นให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ด้วยเทคโนโลยี สร้างผู้ประกอบธุรกิจหรือธุรกิจของคนตัวเล็กๆ ให้มีความเข้มแข็งสะท้อนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่สำคัญ “ร้านค้าชุมชน” จะสามารถอยู่ร่วมกับ “ร้านค้าสมัยใหม่ (Modern Trade)” ได้ รวมถึงปรับตัวให้ดำเนินธุรกิจบนช่องทาง “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” อย่างยั่งยืน