ไวรัสซิกา ตระหนักแต่ไม่ตระหนก

by ThaiQuote, 3 กุมภาพันธ์ 2559

ล่าสุด นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)  และ พล.อ.ต.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ร่วมแถลงข่าว ยอมรับ  พบชายไทยอายุประมาณ 20 กว่าปี เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมาด้วยอาการไข้ มีผื่น ตาแดง เมื่อยตามเนื้อตัว จากการตรวจสอบยืนยันว่า เป็นไข้ซิกาจริง  ซึ่งให้การรักษาจนผู้ป่วยอาการดีขึ้น และออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 26 มกราคม

อย่างไรก็ตาม ไม่ถือว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นพาหะ เพราะการแพร่โรคจะเป็นไข้ แต่รายนี้ไม่มี ที่สำคัญรายนี้ไม่มีประวัติเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด  แต่ที่กังวลคือ ปัญหาทารกในครรภ์มารดาที่ติดเชื้อ โดยที่ต้องระวังคือช่วงตั้งครรภ์แรกๆ ประมาณ 12 สัปดาห์ จึงทำให้เกิดข้อกังวล แต่จริงๆ หญิงตั้งครรภ์ต้องดูแลสุขภาพตัวเองอยู่แล้ว

นพ.อำนวย กล่าวว่า ประเทศไทยพบร่องรอยโรคนี้ตั้งแต่ปี 2506 แต่พบผู้ป่วยรายแรกในปี 2555 ซึ่งตั้งแต่ปี 2555-2558 เฉลี่ย 2-5 ราย และทุกครั้งที่พบผู้ป่วยแต่ละรายก็จะหายได้เอง ไม่มีการแพร่ระบาดวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ต้องกังวลว่าโรคนี้จะมาในลักษณะข้ามประเทศ หรือ Case Import เพราะในประเทศก็พบเจอได้ เพียงแต่ควบคุมได้ โดย คร.มีมาตรการต่างๆ ทั้งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การกำจัดยุงลาย ซึ่งใน 1-2 สัปดาห์จะมีกิจกรรมรณรงค์ครั้งใหญ่ร่วมกับทุกหน่วยงานเกี่ยวกับการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะโรค 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา (โรคไข้ปวดข้อยุงลาย) และซิกา นอกจากนี้ ก็มีคำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด เป็นต้น

ส่วนข้อกังวล เกี่ยวกับ ยุงลาย ว่าเป็นพาหะนำโรคมากน้อยแค่ไหน นพ.อำนวยกล่าวว่า ได้มีการประสานภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในการติดตามเรื่องยุงว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ นอกจากนี้ คร.ยังได้ออกประกาศเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ จากฉบับแรกที่เกี่ยวกับประกาศเรื่องโรคไข้ซิกา ในเรื่องอาการ การดูแล เฝ้าระวังต่างๆ โดยประกาศใหม่ คือ 1. ประกาศสธ.เรื่องเพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อและอาการสำคัญ โดยระบุว่าอาการสำคัญ ได้แก่ มีอาการไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตาแดง บางรายอาจมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย โดยทั่วไปจะมีอาการป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ และ 2.ประกาศสธ.เรื่องเพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อต้องแจ้งความ ระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคที่ต้องแจ้งความ  เพื่อความมั่นใจได้กำชับสถานพยาบาลในสังกัดให้คัดกรองกลุ่มเสี่ยงทั้ง 4 กลุ่มอย่างถี่ถ้วน ขณะเดียวกันได้มีการประชุมทางไกลผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์กับนักระบาดวิทยาภาคสนามในระดับอาเซียนบวกสามด้วย

โดย ผู้ป่วยไวรัสซิกา อาการไม่ได้รุนแรงมาก เพราะปกติจะหายเองได้ภายใน 7 วัน ส่วนที่เกิดการระบาดจนองค์การอนามัยโลกออกมาประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน เพราะเด็กที่คลอดออกมามีความพิการทางสมอง จึงต้องออกประกาศดังกล่าว โดยกำชับให้มีการดูแลหญิงตั้งครรภ์เป็นพิเศษ