"บรรจง" ตั้ง 6 ประเด็น หวั่น เหตุการณ์พลิก อียู กลับมาแจก "ใบเหลือง"

by ThaiQuote, 9 มกราคม 2562

วันนี้(9 ม.ค.62) หลังจากที่  สหภาพยุโรป หรือ อียู ปลดใบเหลืองประมงไทย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจปะมงไทย นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งเป็นผู้เคลื่อนไหวในเรื่องการทำประมงถูกกฎหมาย และ สนับสนุนประมงพื้นบ้านเพื่อไม่ให้มีการทำประมงแบบทำลายล้างมาตลอดได้ออกมาแสดงความเห็นผ่าน เฟชบุ๊ก ยกประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

บรรจง นะแส

อียูปลดใบเหลืองประมงไทย...ดีไหม??แล้วไงต่อ??? เป็นคำถามในเช้านี้จากหลายสื่อ

ก่อนอื่นโดนส่วนตัวผมมองว่าดีครับ โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจประมงที่ต้องอาศัยตลาดอียูในการขายสินค้าประมง ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าประมงไปยังตลาดอียูตก 2.5-3แสนล้านบาท/ปี(สินค้าหลักๆก็มีทูน่ากระป๋อง/กุ้ง)ส่วนอาหารสุนัข/แมวไม่สูงนัก อย่างน้อยๆก็ทำให้ฝ่ายที่ทำธุรกิจสินค้าทะเลไปตลาดอียูก็ได้หายใจโล่งอก (ไปอีกระยะหนึ่ง) เพราะถ้าโดนใบแดงสินค้ามูลค่า 3 แสนล้านจะถูกแบนไม่ให้นำเข้าไปขาย การหาตลาดอื่นๆเพื่อให้ได้มูลค่าขนาดนั้นคงไม่ง่ายนัก อีกด้านเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งก็ไม่ต้องนอนสะดุ้ง....ตรงไปตรงมาก็ต้องให้เครดิตรัฐบาลที่พยามทำหน้าที่ แม้จะใช้เวลาเกือบ 4 ปีในการแก้ไขปัญหา

โจทย์ต่อมาก็คือ แล้วไงต่อ เพราะปัญหาหลายๆอย่างยังคาราคาซัง ยังไม่ลงตัว100% และมีแนวโน้มพลิกผันได้อีก จากเหตุผล 6 ข้อ คือ

1.การใช้มาตรการต่างๆในการหาทางปลดใบเหลือที่ผ่านมาของรัฐบาลไม่ว่าการออกกฎหมายประมงใหม่(พรก.ประมง2558) ที่ไม่รอบคอบ เสมือนต้องการใช้ยาแรงในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมม โดยเฉพาะกรณีเรือเถื่อน/สวมทะเบียน เรื่องแรงงานประมง การตั้งศูนย์PIPO มีการออกกฎระเบียบรายอาทิตย์ จนปั่นป่วนกันไปทั้งทะเลไทย(โดยเฉพาะพี่น้องประมงพาณิชย์ขาใหญ่ทั้งหลายต้องออกมาตอบโต้ทั้งใส่เสื้อดำ/ชุมนุมจอดเรือประท้วง/ยกป้ายประท้วงด่ารัฐบาลกันวุ่นวาย ดีที่รัฐบาลมีแรงกดดันที่มากกว่า(จากฝ่ายธุรกิจส่งออกสินค้าประมง)เลยไม่ยอมและคงประเมินถูกว่าการชุมนุมของพี่น้องประมงพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นได้แค่ “การชุมนุมแดดเดียว” คือมาเช้าเย็นกลับเพราะเกณฑ์ลูกเรือกันมาเป็นส่วนใหญ่ไม่ใช่เจ้าของเรือจริงๆในจำนวนผู้ชุมนุมแต่ละครั้ง) การลุกกันขึ้นมาชุมนุมแดดเดียวของประมงพาณิชย์จึงพ่ายแพ้กลับไปทุกครั้ง

2. การจัดระบบการทำประมงที่นำเอาระบบMSYเข้ามาใช้(Maximum Sustainable Yies คือ การคำนวณปริมาณสัตว์น้ำที่มีในทะเล/กำหนดการจับแต่ละชนิดนำขึ้นมาจากทะเล) ทำให้ออกมาตรการการกำหนดวันออกทำการประมงของเรือ แต่ระบบMSYเป็นระบบที่ใช้คำนวณปริมาณสัตว์น้ำที่ทำได้ง่าย  ในพื้นที่ทะเลที่ไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล อย่างทะเลในแถบยุโรปก็โอเค แต่บ้านเราเป็นทะเลที่อยู่ในเขตร้อนมีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำมาก ทั้งกุ้งหอยปูปลา เอาแค่ปลาก็มีเป็นร้อยๆชนิด ระบบการเก็บข้อมูลเพื่อหาค่า MSY ก็ทำการอย่างเร่งรีบ ทำให้ข้อมูลไม่เป็นจริงเพราะส่วนใหญ่เก็บข้อมูลจากท่าเรือ/แพปลา แต่ประมงพื้นบ้านแต่ละชุมชนที่นำสินค้าประมงตามพื้นที่ชายฝั่งก็ตกหายไป รวมถึงการนำสัตว์น้ำจากประเทศใกล้เคียงเข้ามา การจะบอกว่าทะเลไทยมีปูม้า/ปลาทู/ปลาชนิดต่างๆกี่หมื่นกี่พันตันยังตอบไม่ได้ การนำระบบนี้มาใช้ก็ยังต้องปรับปรุงระบบฐานข้อมูลอีกมาก

3.ที่แน่ๆตอนนี้ทะเลไทยอยู่ในภาวการณ์ทำประมงที่เกินศักยการผลิตของทะเล(Over Fishing)โดยไม่มีใครกล้าเถียงเพราะข้อมูลมีมากพอ การนำเรือออกนอกระบบ(ซื้อเรือคืน) คือ มาตรการที่รัฐบาลกำลังจะนำมาใช้ในตอนนี้ ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล(นรบ. นำเรือออกนอกระบบ)1ตามข้อมูลกรมประมงบอกว่ามีอยู่ 679ลำ และกำลังเร่งสำรวจ.นรบ.2 ที่จะหมดเขตในวันที่11มกราคม62นี้ การนำงบประมาณมาใช้ในลักษณะเช่นนี้  เป็นธรรมกับพี่น้องประมงพื้นบ้านที่เคยได้รับผลกระทบจากการทำประมงพาณิชย์เหล่านี้มาตลอดแค่ไหน บ้างต้องหยุดอาชีพ/ชุมชนประมงล่มสลายฯลฯ(โดยเฉพาะจากเรืออวนลาก/เรือปั่นไฟ) พวกเขาควรจะได้รับการชดเชยเยียวยาด้วยไหม???

4. โดยส่วนตัวผมคิดว่าการที่ สนช.ผ่านมติให้ความเห็นชอบให้รัฐบาลไปลงนามในสนธิสัญญาคุ้มครองแรงงานประมง(C.188) น่าจะมีส่วนสำคัญในการที่ทำให้กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมและทะเลของอียูปลดใบเหลืองในครั้งนี้ และคาดว่าจะมีการไปลงนามในวันที่ 24 มกราคม 62 แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มประมงพาณิชย์ก็ออกมาต้านอย่างหนัก และก็พรรคการเมืองบางพรรคได้ออกหาเสียงกับประมงพาณิชย์ว่า  ถ้าพวกเขาได้เป็นรัฐบาลจะให้มีการชะลอ/ทบทวนเรื่องนี้ เค้ารางของการจะกลับมาโดนใบเหลืองจึงเป็นไปได้สูงเพราะกรณีเรื่องงานทาสเป็นเรื่องใหญ่ที่การประมงไทยถูกจับตาตลอดมา

5.ในส่วนของพี่น้องประมงพื้นบ้าน 3 ปีกว่าที่ผ่านมา การออกมาตรการต่างๆของรัฐบาลโดยเฉพาะการจัดการกับเรือเถื่อน/สวมทะเบียนหรือผิดประเภทต่างๆเช่น  มีทะเบียนเรือแต่ไม่มีอาชญาบัตร  หรือมีทะเบียนแต่ไม่ตรงกับเครื่องมือทำการประมง ประกอบกับ พรก.ประมง2558 มีการกำหนดโทษที่รุนแรง ทำให้ขาใหญ่ทั้งหลายไม่กล้าหือ  ท้าทายกฎหมายเลยต้องจอดกันระนาว ส่งผลให้พันธุ์สัตว์น้ำได้เติบโตกระจายไปตามชุมชนประมงชายฝั่งทำให้อาชีพประมงพื้นบ้านพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง (อีกประเด็นที่มีผลทำให้พันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มขึ้นคือรัฐบาลได้ใช้ ม. 44 ในการให้หยุดเครื่องมือทำการประมงที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำที่รุนแรงคือ อวนรุนเป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย...แต่ก็ยังปล่อยให้เครื่องมือที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนที่รุนแรงอีก 2 ชนิดคือ เรือปั่นไฟและอวนลากยังลอยนวล  โดยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกแต่อย่างใด)

6.เราต้องไม่ลืมว่ามาตรการของอียูที่เรียกกันว่า IUU FISHING นั้น ไม่ใช่ถูกกำหนดขึ้นมาลอยๆ แต่อียูได้แปลงมาจากข้อกำหนดขององค์การอาหารสหประชาชาติหรือFAO ที่ว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารและการทำประมงอย่างรับผิดชอบ (Code of Conduct for Fishery Responsibility) แล้วอียูก็เอามาออกมาตรการ iuu fishing เพื่อเป็นข้อกำหนดสำหรับประเทศสมาชิกว่าด้วยสินค้าประมงที่จะเข้าสู่ประเทศสมาชิกของเขา

ดังนั้น  เราต้องคำนึงถึงที่มาของมาตรการดังกล่าว  เพื่อกำหนดเป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทะเลไทยให้อยู่ในเป้าหมายของการทำประมงอย่างรับผิดชอบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับผู้คนในสังคมไทยอย่างยั่งยืนของเราเอง

ถ้าเราคำนึงถึงเรื่องเรื่องนี้และนั่งลงดูข้อมูลข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วลงมือแก้ไข โดยไม่ต้องรอให้มีมาตรการจากต่างชาติมากดดันก็ได้....แต่ทำไมเราไม่ทำ??? นี่คือคำถามที่สังคมไทยก็พอจะรู้คำตอบ

ปล.ตอนนี้ผมเป็นที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทยครับไม่ได้เป็นนายกฯแล้ว นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยคนปัจจุบันคือวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรีครับ

ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากเฟชบุ๊ก:  บรรจง นะแส