อีก 1 ปี Tokyo โอลิมปิก 2020 (2021) มหกรรมกีฬาที่คนทั้งโลกยังเฝ้ารอ

by ThaiQuote, 24 กรกฎาคม 2563

ทั่วโลกลุ้น และรอ อีก 1 ปี Tokyo โอลิมปิก 2020 (2021) ความภาคภูมิใจของชาวอาทิตย์อุทัย มหกรรมกีฬาสีเขียว Cool Japan Style

บทความโดย ปกรณ์ ดุลบุตร

 

วันที่ 24 ก.ค.63 หากโลกไม่ต้องเผชิญกับวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดไปเกือบทุกประเทศ เราก็คงจะได้ตื่นเต้นกับพิธีเปิดมหกรรมการแข่งกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่มหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าภาพ ตามกำหนดเดิมที่วางไว้ คือ 24 ก.ค.-ส.ค.63

 

ความภาคภูมิใจของชาวอาทิตย์อุทัยและภูมิภาคเอเชีย

ย้อนกลับไปในปี 2556 (2013) ที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกสากล สมัยที่ 123 มีมติให้กรุงโตเกียวได้รับเกียรติเป็นเจ้าจัดโอลิมปิก 2020 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านี้ในปีปี ค.ศ.1940 โตเกียวได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกของทวีปเอเชีย และได้จัดอีกครั้งใน 1964 (พ.ศ.2507) ซึ่งการเป็นเจ้าภาพปี 2020 นี้สร้างความภาคภูมิให้กับประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพซึ่งมีเพียงไม่กี่ชาติที่จะมีได้รับโอกาสถึง 3 ครั้งในการจัดงานมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ

 

เปิดตัวสุดยิ่งใหญ่ โดดเด่นตามแบบฉบับวัฒนธรรม Cool Japan Style

ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นเจ้าภาพ ญี่ปุ่นได้ได้วางแผนอย่างดีที่สุด พร้อมโปรโมตให้ทั่วโลกรับรู้ด้วยมาสคอต มิไรโทวะ (Miraitowa) และโซเมตี (Someity) คู่หู ที่จะสะท้อนวัฒนธรรมของญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม แต่ก็ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีพร้อมเดินหน้าสู่อนาคตอย่างสง่างาม พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัวเพลง TOKYO GORIN ONDO 2020 ที่ใช้ประจำการการแข่งขัน ซึ่งเพลง TOKYO GORIN ONDO นั้น คือเพลงเก่าที่เคยใช้เป็นหลักในโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นปี 1964 โดยนำมาเรียบเรียงคำร้องและทำนองใหม่ให้มีความร่วมสมัย

 

 

 


นอกจากนี้ยังมีการนำคาแรคเตอร์จากอนิเมชั่นและเกมของญี่ปุ่นมาอยู่ในบรรดาสินค้าโปรโมต เช่น ตัวการ์ตูนจากเรื่องดรากอนบอล เซเลอร์มูน วันพีช ฯลฯ รวมทั้งได้มีกลุ่มศิลปินชาวญี่ปุ่นร่วมได้โปรโมต ด้วยการออกแบบนักรบสไตล์ญี่ปุ่นในคอสตูมสุดเท่ ตามสีสันของธงชาติในแต่ละประเทศที่เข้าร่วม ซึ่งได้รับเสียงฮือฮาไปทั่วทั้งทั้งโลก ที่ถือเป็นความโดดเด่นตามแบบฉบับวัฒนธรรม Japan Style ที่เป็นเอกลักษณ์

 

 

 

 

ปรับภาพลักษณ์ทางสังคม งดขายหนังสือโป๊ เฝ้าระวังกลุ่มคนโรคจิต

เนื่องจากโอลิมปิกเป็นอีเวนต์ระดับโลก ทุ่งสายตาต้องพุ่งเป้ามายังโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งผู้มาเยือนอีกจำนวนมหาศาล ในฐานะเจ้าภาพจึงต้องมีการดูแลในเรื่องภาพลักษณ์ โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันของญี่ปุ่นได้วางมาตรการเข้มทางสังคม เช่น ห้ามการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในทุกสนามการแข่งขัน ตลอดจนพื้นที่สาธารณะทั้งหมด ในช่วงของมีการแข่งขัน

รวมถึงการที่บริษัทร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น พร้อมใจหยุดจำหน่ายหนังสือแนววาบหวิว เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับการรถไฟทุกสาย ออกประกาศถึงแนวทางการรับมือกับพวกโรคจิตลวนลามผู้หญิงในรถไฟ ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมญี่ปุ่นที่มีมานาน ทั้งนี้ก็เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีและความปลอดภัยของผู้มาเยือนในเทศกาลของการแข่งขัน

 

 

 

ระดมเทคโนโลยีรองรับการแข่งขัน

ญี่ปุ่นในฐานะของผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก แน่นอนว่าโอลิมปิกครั้งนี้เจ้าภาพพร้อมที่จะจัดเต็มความไฮเทคเพื่ออวดสายตาชาวโลก เช่น “รถยนต์บินได้” ที่จะนำมาโชว์ในงานวันพิธีเปิดในการจุดคบเพลิง เทคโนโลยีจดจำใบหน้า เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความเร็วในด้านการคัดกรองเพื่อความปลอดภัยสำหรับนักกีฬาและทีมงาน รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ แท็กซี่ไร้คนขับ รับส่งผู้โดยสารระหว่างสนามแข่งขันกีฬา และสนามกีฬาป้องกันแผ่นดินไหว เป็นต้น

 


นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเตรียมความพร้อมรับมือในเรื่องสภาพอากาศช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ด้วยการสร้าง “หิมะเทียม”เพื่อลดความเสี่ยงจากอากาศที่ร้อนระอุสำหรับนักกีฬาและผู้ชม

 

 

 

โอลิมปิกรักษ์โลก มหกรรมกีฬาเขียวที่สุด

อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของโอลิมปิกครั้งนี้ที่ญี่ปุ่นได้วางไว้คือ เป็นมหกรรมกีฬาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเรียกได้ว่า ครั้งนี้จะเป็นโอลิมปิกสีเขียว ผู้จัดงานตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่เกิน 2.93 ล้านตัน เพื่อลบสถิติ 3.3 ล้านตัน ของลอนดอน 2012

ไฟฟ้าที่ใช้ในระหว่างการแข่งขันจะมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล และพลังงานน้ำ ทุกจุดในงานติดตั้งไฟแอลอีดีทั้งหมด รถพลังงานไฟฟ้าจะนำมาใช้สำหรับการเดินทางภายในสนามแข่งขัน ส่วนการบรรทุกเคลื่อนย้ายสิ่งของหนักจะใช้รถยกพลังงานโฮโดรเจน เพื่อสร้างมลพิษให้น้อยที่สุด

ทุกขั้นตอนของการดำเนินงานจะพยามยามรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด เริ่มจากคบเพลิงโอลิมปิกครั้งนี้ผลิตด้วยอลูมิเนียมจากบ้านพักชั่วคราวผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ เหรียญรางวัลเป็นโลหะซึ่งได้จากการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือเก่า จำนวน 6.2 ล้านเครื่อง ขณะที่โพเดียมในพิธีมอบเหรียญสร้างด้วยขยะจากมหาสมุทร รวมทั้งพลาสติกรีไซเคิลซึ่งประชาชนบริจาคให้

 


และอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ คือเตียงนอนที่จะถูกนำไปใช้ในหมู่บ้านนักกีฬา ที่ผลิตจากวัสดุกระดาษลัง ปรับเปลี่ยนความอ่อน-แข็งได้ตามโครงสร้างร่างกายของนักกีฬา และรองรับน้ำหนักได้ดี มีความแข็ง-นุ่มที่แตกต่างไปตามสรีระเพื่อปรับให้เหมาะกับนักกีฬาที่ใช้ รับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม โดยเตียงนอนที่ถูกใช้งานแล้วจะถูกนำไปรีไซเคิลต่อไป ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการจัดกีฬาโอลิมปิก ที่เตียงนอนนักกีฬาทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาจากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

 

 

 

 

พิษโควิด-19 จาก Tokyo 2020 สู่ 2021

อย่างไรก็ตาม แม้การเตรียมความพร้อมจะเป็นไปได้ด้วยดี นานาประเทศล้วนออกมาชื่นชม แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) พิจารณาเลื่อนจัดการแข่งขันออกไปอีก 1 ปี เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬา โดยมีกำหนดจัดในวันที่ 23 ก.ค.-8 ส.ค.64 (2021)

 


ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันที่โอลิมปิกเลื่อน ในช่วงเวลาที่โลกไม่พบเจอกับสงคราม โดยก่อนหน้านี้สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ได้ทำให้การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 1916 ที่กรุงเบอร์ลิน โอลิมปิกฤดูร้อน 1940 ที่กรุงโตเกียว และโอลิมปิกฤดูร้อน 1944 ที่กรุงลอนดอน ต้องถูกยกเลิกการแข่งขัน

เชื่อว่าคนทั้งโลกจะยังคงเฝ้ารอ พร้อมกับอธิษฐานให้สถานการณ์การแพร่ระบาดจบลงโดยเร็วที่สุด และขอให้การแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินี้เกิดขึ้นได้ตามกำหนดการในปีหน้า

 

เรื่องที่น่าสนใจ

ทั่วโลกลุ้น และรอ โอลิมปิก 2020 (2021) มหกรรมกีฬาเขียวที่สุด

ไปรษณีย์ไทย เตรียมจำหน่ายแสตมป์ชุดวันเฉลิมพระชนมพรรษา 68 พรรษา รัชกาลที่ 10