กองทุนหมู่บ้านเขาคีรี เปลี่ยนวิกฤตโควิด เป็นโอกาส

by ThaiQuote, 30 กรกฎาคม 2563

เมื่อในวิกฤต ย่อมมีโอกาสเสมอ กองทุนหมู่บ้านเขาคีรี ต้นแบบกองทุนหมู่บ้าน ที่ผสานความร่วมมือของคน 2 วัย สู่การพัฒนาเป็น “ท่องเที่ยวชุมชน โดย กทบ.

เราได้มีโอกาสติดตาม “รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ” ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เพื่อร่วมงาน “กิจกรรมส่งเสริมอาชีพสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อเพิ่มรายได้และการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน” ในส่วนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) พื้นที่ภาคกลาง 29 จังหวัด ณ ต.ย่านยาว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เมื่อช่วงสายวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา


ทราบกันดีว่าที่ผ่านมาประเทศไทยได้เผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแต่ละกองทุนฯ ต่างได้รับผลกกระทบจากการล็อคดาวน์ปิดเมือง ไม่สะดวกทั้งการจำหน่ายสินค้า และการขนส่ง ดังนั้นจึงทำให้ “รักษ์พงษ์” เริ่มต้นโครงการของการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ให้กับสมาชิกกองทุนฯ เริ่มต้นจากโครงการการแลกเปลี่ยนสินค้า นำไปถึงการประยุกต์ให้เทคโนโลยีที่เรียกว่า ไลน์ “ตลาด กทบ.” การเพิ่มช่องทางการซื้อขายสินค้า ให้กับสมาชิก กทบ.ทั่วประเทศ


ก่อนที่จะพัฒนาด้วยความร่วมมือกับพันธมิตร หน่วยงานต่าง ๆ แตกหน่อสู่ ไลน์ “ตลาด กทบ. สสว.” และแอปพลิเคชัน “คิวหมู่บ้าน” ด้วยแนวคิดการใช้บริการขนส่งภายในชุมชน โดยผู้ให้บริการคือคนในชุมชน พร้อมทั้งโครงการ “ท่องเที่ยวชุมชนโดย กทบ.” ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งคนในชุมชนต้อง “ร่วมมือกัน” และพร้อมที่จะเดินไปใน “ทิศทางเดียวกัน”

วันนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ชลิต หอมยามเย็น” เลขานุการกองทุนหมู่บ้านเขาคีรี อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี กองทุนหมู่บ้านที่นำมาเอาภูมิปัญญาความรู้ของคนรุ่นเก่า มาผนวกกับแนวคิดและนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว


กองทุนหมู่บ้านเขาคีรี เกิดขึ้นจากการที่วิสาหกิจชุมชน 3 แห่งมารวมตัวกัน ประกอบด้วย วิสาหกิจเย็บเสื้อผ้าชุดไทยเด็กเย็บณิชารีย์ วิสาหกิจชุมชนเขาคีรี เดิมทีผลิตสมุนไพร ปลาร้าผง น้ำพริกผง ต่อเนื่องมาจนปัจจุบันผลิตสุราชุมชน “สังเวียน” และกลุ่มสุดท้ายกลุ่มโรงสีข้าวชุมชนบ้านเขาคีรี ผลิตข้าวอินทรีย์ และกลุ่มสารชีวพันธุ์ที่ใช้กำจัดศัตรูพืช เช่น บิวเวอเรีย กำจัดเพลี้ยกระโดด ไตรโคเดอร์มา กำจัดเชื้อรา โดยทำเป็นรูปผลิตภัณฑ์ผงจัดจำหน่ายให้กับเกษตรกร


การรวมกลุ่มของกองทุนหมู่บ้านเขาคีรี จึงทำให้สมาชิกซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนในเกือบทุกครัวเรือนสามารถสร้างรายได้ในพื้นที่ของตนเอง จากการทำกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชน ทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และการรับคณะศึกษาดูงาน การสร้างความรู้ให้กับเกษตรกรทั่วไป
“เราเปิดให้มีการศึกษาดูงานในพื้นที่กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้ความรู้การปลูกข้าวอินทรีย์ การทำเกษตรผสมผสาน โดยมีการจัดอาหารกลางวันจากสมาชิกของชุมชน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่น ข้าวอินทรีย์ สุราชุมชน สารชีวพันธุ์ นี่คือสิ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกของกองทุนฯ” ชลิต กล่าวกับเรา


ความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ชุมชนนี้ อย่าง ข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ กข.43 และข้าวหอมมะลิที่ปลูกเอง โดยการใช้สารชีวพันธุ์ ที่ผลิตขึ้นเองของชุมชน อย่าง เชื้อราบิวเวอเรีย ที่ใช้กำจัดเพลี้ยกระโดด และการปลูกพืชผสมผสาน ที่ใช้ไตรโคเดอร์มา กำจัดเชื้อรา สาเหตุของโรคพืช ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นเชื้อรา ไม่ใช่สารเคมี ดังนั้นจึงหมดห่วงเรื่องของการสารเคมีตกค้างจากผลผลิต


อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การแปรรูปอ้อยสด ให้เป็นสุรากลั่นของชุมชน ด้วยแนวคิดของคนรุ่นใหม่ภายในหมู่บ้าน ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตอ้อย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามักประสบกับปัญหาราคาตก เนื่องจากกลไกการควบคุมโดยโรงงานน้ำตาล

“สุราชุมชน “สังเวียน” กลั่นมาจากอ้อยสด เกิดขึ้นจากแนวคิดของลูกชายประธานกองทุน ที่จบมาทางด้าน Food Science นำอ้อยจากเกษตรกรในชุมชนมาผลิต ซึ่งทำให้เกิดทางเลือกของการจำหน่ายผลผลิต ที่จากอดีตต้องส่งเข้าโรงงานน้ำตาลเท่านั้น มาเพิ่มมูลค่า และสามารถควบคุมแบ่งช่วงเวลาการตัดอ้อยได้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเดือนที่แน่นอนในช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. โดยเราเพิ่งเริ่มผลิตสุราชุมชนออกจำหน่ายเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเจอกับโควิด-19 พอดี” ชลิต เล่าถึงการผลิตสุราชุมชนที่กำลังจะเปิดตัว แต่ต้องเผชิญกับโควิด-19 หลังจากนี้ทราบมาว่าก็จะมีการโปรโมทในกรุงเทพมหานคร และตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทั่วไป


แม้โควิดจะทำให้กิจกรรมทั้งการศึกษาดูงาน การค้าขายรวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ของชุมชนต้องหยุดชะงัก แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ช่วงเวลาสุญญากาศกว่าเดือนนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ของคนระหว่าง 2 ช่วงวัยประสานควมาร่วมมือมากขึ้นกว่าเดิม

“เราได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ เป็นเกษตรเชิงเดี่ยวคือทำนา ไม่มีน้ำก็ทำไม่ได้ ส่วนผมแม้จะทำนาด้วย แต่ก็เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกเมล่อน และพืชผักอื่น ๆ พอถึงวันที่ไข่ไก่แพง เราขายได้ดี วันที่นาทำไม่ได้ เรายังมีรายได้จากเมล่อน จากพืชผักชนิดอื่น คราวนี้เขาก็เริ่มมองว่าเราทำได้ เริ่มสนใจ หรืออย่างเรื่องสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืช ปกติจะต้องไปซื้อจากร้านค้า แต่เมื่อเราผลิตสารชีวภาพใช้เองได้ ทำให้ลดต้นทุน ขณะเดียวกันก็สามารถจำหน่ายเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้อีก ” ชลิต เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้กองทุนเขาคีรี เริ่มเข้มแข็งขึ้น

วันนี้ชุมชนเริ่มเกิดความสามัคคีมากขึ้น ตามที่ “ชลิต” บอก โดยกองทุนหมู่บ้านได้กำหนดให้มีการลงทุนร่วมกันแบ่งหุ้นเป็นรายได้ ทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน จากในอดีตที่ทำเรื่องหลักคือการปล่อยกู้ ตอนนี้เปลี่ยนไปตามนโยบายของ สทบ.โดยการบูรณาการร่วมกันในชุมชน ทำให้เกิดประโยชน์ของการสร้างกลไกทางการตลาด การไม่จำเป็นต้องนำสินค้าไปขาย แต่สามารถดึงคนจากภายนอกเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อเปลี่ยนให้เป็นการท่องเที่ยวชุมชน


“เรามีสินค้า เรามีพื้นที่ดูงาน เราส่งเสริมอาชีพ ก็เป็นไปตามนโยบายของ สทบ. เรามีวัฒนธรรม การทำขวัญข้าว และแหล่ลิเก วัฒนธรรมเหล่านี้เป็นต้นทุนของเรามาจากอดีต คนภายนอกจึงไม่ใช่แค่ศึกษดูงานด้านการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เขาสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมของเราได้ด้วย ต่อจากนี้เราจะต่อยอดไปสู่การเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชน โดยมีพื้นที่ท่องเที่ยวหลักใกล้เคียง ที่เราสามารถเชื่อมโยงอย่างบึงฉวาก” ชลิต กล่าว

นอกจากนี้ “ชลิต” ยังบอกกับเราว่า คนรุ่นใหม่ที่ไปทำงานในเมือง หรือไปทำงานต่างประเทศก็กลับมาบ้าน วันนี้คนกลุ่มนี้กำลังมาร่วมกับพวกเขาเพื่อที่จะเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้ด้านการทำการเกษตรแบบผสมผสาน การทำสารชีวภาพ เพื่อทำเกษตรแบบอินทรีย์ ที่นี่จึงมีงานรองรับคนที่อยากกลับบ้านทุกคน


เรื่องที่น่าสนใจ