“สมคิด” ใส่เกียร์ “กองทุนหมู่บ้าน” สตาร์ทเครื่องยนต์ตัวที่ 3 ฟื้นเศรษฐกิจไทยจากฐานราก

by ThaiQuote, 3 กรกฎาคม 2563

“หากผมยังอยู่ผมจะยังทำงานให้ท่าน แต่หากผมทำไม่ไหวแล้ว ก็จะมีคนรุ่นใหม่มาทำแทน” คำมั่นสัญญาของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยเครื่องจักรที่ชื่อว่า “กองทุนหมู่บ้าน”

 

โดย....คเชนทร์ พลประดิษฐ์

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้าน โดยในครั้งนี้มีหมุดหมายที่ กองทุนหมู่บ้านบ้านท้องคุ้ง ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ “รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ” ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ในการเปิด “โครงการอนุรักษ์คลองอ้อมเกาะเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ” ตามแผนงานการสร้างท่องเที่ยวชุมชนใหม่ของ กทบ.

ภายในงาน นอกจากการเยี่ยมชมสินค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชนต่าง ๆ และการเยี่ยมชมเส้นทางท่องเที่ยวทางเรือ ในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว “รองนายกฯ สมคิด” ยังได้ส่งต่อข้อความถึงกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ ถึงนโยบายที่ กทบ. จะดำเนินการต่อจากนี้เพื่อเข้าสู่ โปรเจกต์ใหญ่ของรัฐบาล เรื่อง “การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายใต้งบประมาณ 4 แสนล้านบาท”

 

 

จับใจความ “รองนายกฯ สมคิด” ผู้ซึ่งเป็นคนวางฐานรากให้กับกองทุนหมู่บ้าน ในช่วงเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ในขณะนั้นที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ก็เพื่อต้องการให้กองทุนหมู่บ้านสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก หรือ การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน

“เพราะเรารู้ว่ากระดูกสันหลังจริง ๆ ของเศรษฐกิจคือ หมู่บ้าน โดยกองทุนหมู่บ้านประกอบด้วยผู้บริหารซึ่งก็คือ คนในหมู่บ้านนั้น ๆ เมื่อเขาสามารถเข้มแข็งดูแลตัวเองได้ ก็จะสามารถเดินไปได้ การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง คือการพัฒนาท้องถิ่นของเราเองให้เข้มแข็ง ดังเช่น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า เราจะเข้มแข็งได้ เราจะต้องเติบโตมาจากภายใน” สมคิด เกริ่นถึงแนวคิดริเริ่มในอดีตของการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน

ที่ผ่านมา “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ซึ่งร่วมรัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน เกือบครบ 5 ปีแล้ว ผ่านช่วงเวลาของเศรษฐกิจไทยที่มักจะถูกผลกระทบจากอุปสรรคจากเศรษฐกิจโลก ทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เพราะการพึ่งพาเครื่องยนต์ตัวหลักเพียง 2 ตัว คือ การส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมกับการยกเอา “เศรษฐกิจฐานราก” ให้ขึ้นมาเป็นเครื่องยนต์ตัวที่ 3 มาโดยตลอด

 

 

และในวันนี้ก็เช่นกัน เมื่อเครื่องยนต์ทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออก และการลงทุน สะดุดอีกครั้ง เพราะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของทั้งโลกสะดุด การฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อจากนี้จึงจำเป็นต้องเดินตามแนวทาง การให้ความสำคัญกับ “ท้องถิ่น” เช่นเดิม

“รัฐบาลคิดว่า ท้องถิ่น คือ กลไกสำคัญ ในขณะที่เงินมีจำกัด แต่เราต้องการให้คนไทยที่กลับมาอยู่ในท้องถิ่นได้มีงานทำ มีรายได้ นี่คือที่มาของโครงการตาม พ.ร.ก. ที่มีงบประมาณ 4 แสนล้าน โดยเน้นโครงการในท้องถิ่น โครงการที่จะเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ในขณะเดียวกันก็จะต้องให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นได้ ทั้งเรื่องของแหล่งน้ำ โรงสีข้าวชุมชน หรือการต่อยอดทางการผลิต ดังนั้นจึงเกิดโครงการเศรษฐกิจพอเพียง สร้างไทยให้แข็งแรง” รองนายกฯ กล่าว

นอกจากนี้ “สมคิด” ยังฉายภาพให้เห็นอีกว่า กองทุนหมู่บ้านคือแกนหลักที่สำคัญแกนหนึ่งที่ ซึ่งจะต้องร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น ธ.ก.ส. ธ.ออมสิน ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน ความรู้เรื่อง การบริหารจัดการ และเชื่อมต่อการผลิตกับการท่องเที่ยว เมื่อมีแหล่งท่องเที่ยวเราจะสามารถขายสินค้าในชุมชนได้

 

 

 

“สิ่งที่เราพยายามทำมาตั้งแต่ 10-20 ปีแต่ยังไม่ทำสำเร็จคือ สินค้าที่เราทำขึ้น ไม่ใช่แค่ทำขึ้นมาเฉย ๆ แต่ให้ทำเป็นหมู่บ้าน OTOP ให้คนมาเยี่ยมชม แหล่งผลิต กระบวนการการผลิต และที่สำคัญคือ การคิดสร้างผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างแบรนด์ให้กับชุมชน สร้างเรื่องราว สร้างบรรยากาศให้น่าสนใจ นี่คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยเชื่อมโยงผ่านช่องทางการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ที่สามารถสร้างร้านในรูให้มีคนเข้าถึงได้”

ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ว่า กองทุนหมู่บ้านจะหวังพึ่งพิงการตลาดจากภายนอกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถอาศัยเครือข่ายของกองทุนหมู่บ้านด้วยกันเอง ซึ่ง “รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ” ผอ.สทบ.คนปัจจุบันกำลังสานงานต่ออยู่ในขณะนี้

รองฯ สมคิด ฉายภาพอีกว่า วันนี้กองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 79,000 หมู่บ้าน มี 12 ล้านครัวเรือน นี่คือพลังที่ยิ่งใหญ่ ขอแค่ครึ่งเดียว 6 ล้านครัวเรือน นำสินค้าที่ตัวเองผลิตได้ มาแลกเปลี่ยนกันเอง หรือขายผ่านทางออนไลน์ ถ้าหมู่บ้านทำไม่เป็น เราจะส่งหน่วยงานมาช่วย ทั้ง ธ.ออมสิน ธ.ก.ส. หรือแม้แต่ สทบ.เอง โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ละหมู่บ้านจึงต้องมีแพลตฟอร์มของตัวเอง เชื่อมแพลตฟอร์มเข้ากับหลายๆช่องทาง ตัดพ่อค้าคนกลาง หมู่บ้านสามารถเชื่อมโยงกับผู้ซื้อ ผู้บริโภคได้โดยตรง ผมพยายามใช้เวลา 10 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนเรื่องเหล่านี้ให้ได้

 

 

“ผมไม่ต้องการให้ชาวนาเป็นแค่เกษตรกรเพาะปลูก แต่ผมต้องการให้เราเป็นผู้ประกอบการ จัดการตัวเราเองได้ โดยการสร้างคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น ที่มีศักยภาพ และมีคนในหมู่บ้านเป็นที่ปรึกษา ให้คนรุ่นใหม่ ทำให้หมู่บ้านเข้มแข็ง อย่างข้าวถุง 1 ถุง น้ำ 1 ขวด วันนี้หากสามารถผลิตขายบริโภคกันเองในกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ ถือเป็นการสร้างธุรกิจของหมู่บ้านได้ในทันที ต่อจากนั้นคือ การร่วมมือกับเอกชนสร้างดีลขึ้นมา เรามีผลผลิต เขามีช่องทางการจำหน่าย นี่คือการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน” สมคิด กล่าวส่งต่อแนวคิดไปยังกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศถึงความร่วมมือที่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที

นอกจากนี้ “สมคิด” ยังมองว่า จังหวัดจะเป็นหลักใหญ่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำ เพราะจังหวัดต้องพัฒนาจากภายในเช่นเดียวกัน เมื่อผู้ว่าฯ เข้มแข็ง พัฒนาจังหวัดให้เข้มแข็งได้ เมื่อทุกจังหวัดเข้มแข็ง นี่คือ เครื่องยนต์ให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การส่งออก การลงทุน แต่เราจะมีเครื่องยนต์อีก 1 เครื่อง ซึ่งมีจังหวัดและกองทุนหมู่บ้าน เป็นตัวขับเคลื่อน ที่จะต้องจุดให้ติดให้ได้

ขณะเดียวกัน กองทุนหมู่บ้านจะสามารถต่อยอดไปสู่ การเป็นองค์กรที่สามารถดูแลทุกคนในหมู่บ้านได้ เช่น การทำโครงการดูแลเด็ก การดูแลผู้สูงอายุ เรื่องสาธารณสุขอนามัย การสร้างงานให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งมันจะไม่ใช่แค่การสร้างรายได้ แต่มันเป็นการสร้างสังคม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกด้วย

“นี่คือกิจกรรมการสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศที่แท้จริง สร้างคน สร้างคุณภาพการผลิตและบริการ การสร้างการท่องเที่ยว สร้างสังคมที่เป็นสุข ผมไม่เคยลืมกองทุนหมู่บ้าน ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะคิดถึงว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนหมู่บ้าน เดินหน้าต่อไปได้ แต่ไม่มีเวลาหรือโอกาสที่จะไปเยี่ยมให้ทั่วทั้งประเทศได้ ถ้าผมยังมีชีวิต ผมยังอยู่ ผมจะพยายามทำให้พวกท่าน หากเมื่อไหร่ที่ผมแก่ ผมทำไม่ไหว ก็จะมีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดงานนี้แทน” สมคิด กล่าวในตอนท้าย


เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

กองทุนหมู่บ้าน ยก “คลองนาเกลือโมเดล” ต้นแบบ ปั้นท่องเที่ยวชุมชน 2 หมื่นหมู่บ้าน

“SME D Bank” ทุ่มหมื่นล้าน หนุน SMEs ธุรกิจท่องเที่ยว ฝ่าวิกฤตโควิด-19