พลิกวิกฤตอีสาน คิดใหม่ใช้ “เกษตร-ท่องเที่ยว-อาหาร” ฟื้นที่ราบสูง

by ThaiQuote, 9 กันยายน 2563

เวที“คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ครั้งที่ 2 ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น โดยความร่วมมือระหว่าง 8 องค์กรหลัก ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้า เป็นผู้ประสานงานโครงการ เพื่อหารูปแบบใหม่ขับเคลื่อนสังคมไทยเพื่อสู้กับวิกฤติ

----- 3 ปัจจัยส่งผลภาวะเศรษฐกิจอีสานชะลอตัว -----

นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ภาคอีสานมีประชากร 22 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 6.5 ล้านคน เกษตรกร 5.6 ล้าน พื้นที่และประชากร เป็น 1 ใน 3 ของประเทศ ประมาณ 30% แต่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียง 10 % เฉลี่ยรายได้ต่อหัว 80,000 บาท/คน/ปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 220,000 บาท/คน/ปี รายได้หลักประมาณ 60 % เป็นภาคบริการ การเกษตร 20 % และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร 19%

แม้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นด้านการเกษตร แต่การบริหารจัดการน้ำด้านชลประทานทำได้แค่ 10 % เกษตรกรต้องพึ่งพาน้ำฝนเมื่อเกิดภาวะแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตน้อย เกษตรกรขาดรายได้ จึงทำให้จำเป็นต้องมีการก่อหนี้เพิ่ม การดูแลด้านแรงงานจึงต้องมุ่งไปที่ภาคการเกษตร

ทั้งนี้ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 เศรษฐกิจอีสานเริ่มหดตัว จาก 3 ปัจจัยหลักคือ การส่งออกหดตัวตามภาวะโลกจากข้อพิพาททางการค้าของจีน และอเมริกา พ.ร.บ.งบประมาณที่อนุมัติล่าช้า และล่าสุดคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“ผลดีจากการล็อคดาวน์เต็มรูปแบบช่วยทำให้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น การหดตัวน้อยลงแม้เศรษฐกิจของภาคอีสานคล้ายกับภาพรวมของประเทศแต่พึ่งพาการท่องเที่ยวต่างประเทศแค่ 2 % ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวในประเทศจึงไม่ได้รับผลกระทบเหมือนที่อื่น จึงยังทำให้ภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเสถียรภาพกว่าภาคอื่นในสถานการณ์โควิด-19” นายประสาท กล่าว



----- ปรับวิธีคิดพึ่งตนเองสร้างความเข้มแข็ง ----

นายโชคชัย คุณวาสี ที่ปรึกษาอาวุโสหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ทุกวิกฤติมีโอกาส การวางรากฐานพึ่งพาตนเองให้เกิดความเข้มแข็ง หอการค้าจังหวัดในภาคอีสานร่วมวางแผนที่จะยกระดับ 3 เรื่องหลักคือ การเกษตร การท่องเที่ยว และนวัตกรรมด้านอาหารอีสาน บูรณาการร่วมกันกับภาครัฐ แต่การแก้ปัญหายังติดในเรื่องของระเบียบของทางราชการ ทำให้ล่าช้า

นายโชคชัย กล่าวอีกว่า ในด้านการเกษตร บูรณาการภูมิปัญญาชาวบ้านและความรู้เชิงวิจัยใหม่ เทคโนโลยีใหม่ด้านการเกษตร ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถเพิ่มผลผลิตโดยไม่มีต้นทุน เพราะเกษตรกรทำเองไม่ได้ รวมไปถึงส่งเสริมด้านเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ยกระดับมูลค่าสินค้าทางการเกษตร มีการจัดการแหล่งน้ำที่ดี ทางหอการค้าภาคอีสาน 20 จังหวัดได้ขอความร่วมมือจากกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ พัฒนาระบบน้ำอย่างโครงการ โขง-ชี-มูล ควรนำมาทำใหม่ เพิ่มการจัดเก็บน้ำให้ภาคเกษตร

นอกจากนี้ ในด้านการท่องเที่ยว ภาคอีสานมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี จุดเด่นเรื่อง วัดป่า อาหารอีสาน แต่ยังไม่มีความชัดเจน ทางหอการค้าฯ กำลังบูรณาการพัฒนาการท่องเที่ยว 7 จังหวัดริมน้ำโขง วางแผนให้เป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทำให้หัตถศิลป์หัตถกรรม เช่น ผ้าไหม ผ้าทอมือ มีมูลค่าสูงขึ้นโดย TCDC ได้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาต่อยอด

ปรึกษาอาวุโสหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เสริมด้วยว่า สิ่งสำคัญคือเรื่อง “คน” มาตรการของรัฐฯต้องแก้ปัญหาแรงงานให้ตรงจุด ช่วง 2-4 ปีนี้คาดการณ์ว่าธุรกิจที่มีศักยภาพจะดำเนินการต่อได้ การลดพนักงานเพื่อลดต้นทุนจึงต้องลดอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ลดแล้วเกิดปัญหาตามมา ภาครัฐต้องจุนเจือในช่วงที่คนตกงาน


---- Smart Farming ทางออกภาคเกษตร ----


นายมนตรี ดีมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มองว่าภาคอีสานมีทรัพยากรมากมายที่ยังไม่ได้นำมาใช้อย่างเต็มที่ อาทิ เกลือโปแตสใต้ดิน ขณะที่การบริหารจัดการน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญ น้ำภาคอีสานไม่ขาดมีประมาณ 45,000 ล้านคิว แต่เก็บได้เพียงร้อยละ 17 เนื่องจากพื้นที่เป็นดินทราย การออกแบบแหล่งน้ำต้องเป็นขนาดเล็กในไร่นาไม่ใช่แหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับเกษตรกรจะใช้พื้นที่อย่างไรเพราะส่วนใหญ่ไม่อยากเสียที่นา เนื่องจากการทำนาเป็นวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เป็นเงื่อนไขหนึ่งทางสังคม

การเกษตรต้องเปลี่ยนวิถีเกษตรให้สามารถยกระดับมูลค่าได้ ไม่ใช่ปลูกเพื่อบริโภคอย่างเดียว แต่ต้องเปลี่ยนไปตามโครงสร้างของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องปลูกเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าตามบริบทโลก โดยใช้งานวิจัยและพัฒนามาช่วยเข้าสู่ Bio Economy ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กำลังทำต้นแบบอยู่

หัตถกรรมพื้นถิ่น เช่น ผ้าไหม ต้องหาวิธีจัดการให้มีมูลค่า ตั้งแต่พันธุ์ไหม เส้นไหม ตัวไหม ต้นหม่อน คุณภาพดีเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมให้ เกิดอัตลักษณ์ ดูที่คุณค่าเชิงวัฒนธรรม ทำเรื่องคุณภาพสินค้าและพัฒนาคนในห่วงโซ่ให้ได้รับประโยชน์เต็มที่

ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุ จากผลิตภาพ (Productivity) ที่ลดน้อยลง สินค้าราคาไม่สูง และขาดทักษะ การเกษตรจึงต้องใช้ Smart Farming ภาคอุตสาหกรรมต้องใช้การ Reskill ถ้าภาคเอกชนไม่ลงทุน ผลิตภาพก็ไม่เกิดตาม ส่วนอัตราการเกิดที่น้อยลง โดยเฉพาะในภาคอีสาน ในอนาคตจะไม่มีแรงงานทดแทนทำให้คนเข้ามาจากต่างพื้นที่ ปัญหาสังคมวัฒนธรรมจะเกิดขึ้น


---- แรงงานต้องเพิ่มทักษะ ----


ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงผลการทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสาน ลดลงมาต่ำกว่า 100 ต่อเนื่อง 12 ไตรมาสก่อนเกิด โควิด-19 ไตรมาส 2 ของปี 2563 ลดลงแรงมาก

แรงงานอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เป็นผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้างตามสถานประกอบการด้านบริการ รองลงมาคือธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย อาชีพอิสระ ถัดมาคือด้านเกษตรกรรม

เรื่องที่กังวลว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตคือแรงงานที่ขาดทักษะ เพราะระบบเศรษฐกิจจะหันไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อทดแทนผลิตภาพที่โตเร็ว แรงงานที่ไม่สามารถเพิ่มทักษะ จะเกิดปัญหาไม่เป็นที่ต้องการของระบบเศรษฐกิจใหม่ ทำให้มีรายได้น้อย แรงงานภาคการเกษตรมีถึง 1 ใน 3 “น่ากังวลว่าจะเป็นแรงงานที่ระบบเศรษฐกิจไม่ต้องการในอนาคต ภาครัฐจึงต้องมีกลไกช่วยเหลือ”


ทั้งนี้โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” กำหนดจะออกรับฟังความเห็นครั้งที่ 3 ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ และครั้งที่ 4 ภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี จากนั้นคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวมทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบในเดือนพฤศจิกายน

 

 


บทความที่น่าสนใจ