“ปฏิวัติ”-“รัฐประหาร” เหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคนี้

by ThaiQuote, 8 กันยายน 2563

โดย...กองบรรณาธิการ ThaiQuote

กระแสข่าวการ “รัฐประหาร” ออกมาอย่างไม่ขาดสาย ในชั่วโมงการเมือง ณ ขณะนี้ อาจเป็นด้วย "กลุ่มประชาชนปลดแอก" ที่ออกมาแสดงความต้องการให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก และยุบสภา กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ พร้อมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการตัดทอนอำนาจของ 250 ส.ว.

มันจึงนำไปสู่กระแสข่าวที่ว่า จะมีการ “รัฐประหาร” บ้างก็ว่าจะมีการ "ปฏิวัติ" เพื่อรีสตาร์ทการเมืองใหม่อีกครั้งหนึ่ง ประเด็นเล็ก ระหว่างคำว่า ปฏิวัติ และ รัฐประหาร มันแตกต่างกันอย่างไร

หลายคนมักจะคุ้นเคยกับการใช้คำว่า “ปฏิวัติ” มากกว่าคำว่า “รัฐประหาร” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว 2 คำนี้มีความหมายที่แตกต่างกันอย่างมาก

ปฏิวัติ (revoluton) หรือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศ อย่างรวดเร็วหรือเฉียบพลัน ซึ่งในประเทศไทยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวคือ การปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรญาณาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย

ก่อนหน้าที่จะมีการใช้คำว่า “ปฎิวัติ” นั้น เราเรียกการกระทำดังกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” โดยการบัญญัติศัพท์คำว่า “ปฏิวัติ” นั้น เกิดขึ้นโดย “กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์” และต่อมา “ปรีดี พนมยงค์” ได้เสนอให้เปลี่ยนไปใช้คำว่า “อภิวัฒน์” ซึ่งมีความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร

ขณะที่คำว่า รัฐประหาร (coup de ta) คือ การยึดอำนาจจากผู้บริหารการปกครองรัฐ หรือการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลที่ปกครองโดยเฉียบพลัน ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คำว่า “รัฐประหาร” แปลมาจากศัพท์ภาษาฝรั่งเศสที่ว่า “Coup d’etat”

สำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่มีการ “ปฏิวัติ” เปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น มีการ “รัฐประหาร”มาแล้วถึง 13 ครั้งด้วยกัน

เริ่มตั้งแต่ครั้งแรก 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนถึงครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่หลายครั้งที่ประเทศไทยใช้คำว่า “ปฏิวัติ” ทั้งที่การกระทำนั้นคือการ “รัฐประหาร” อาจเป็นการที่ผู้กระทำต้องการสื่อความหมายให้ภาพการกระทำนั้นออกมาไม่รุนแรงในสายตาของประชาชนเท่ากับคำว่า “รัฐประหาร”

โดยการทำรัฐประหาร ที่ใช้คำว่า “ปฎิวัติ” นั้นเริ่มต้นมีมาในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ โดยใช้คำว่า “คณะปฏิวัติ” ทำการรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ยึดอำนาจจากรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

นอกจากยังมี การรัฐประหารตัวเองของ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 ที่มีการใช้คำว่า “ปฏิวัติ” รวมถึงการออก “ประกาศคณะปฏิวัติ” มาใช้เพื่อเป็นข้อบังคับ

ภายหลังการรัฐประหาร ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้ยึดอำนาจ จากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยใช้ชื่อ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ “รสช.” เพื่ออ้างว่าการทำรัฐประหารในครั้งนั้น เป็นไปเพื่อทำให้บ้านเมืองที่เกิดความระส่ำระส่ายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ขณะที่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดย “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ยึดอำนาจจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นการรัฐประหารครั้งแรกภายหลังปี ค.ศ.2000 และรัฐประหารครั้งล่าสุดในรอบ 15 ปีนับตั้งแต่ปี 2534

น่าเศร้าที่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในโลกนี้ ที่ประเทศไทยกลับมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหลังปี ค.ศ.2000 ซึ่งต่างกลับประเทศอื่นๆในอาเซียน แต่เรากลับถูกนำไปเปรียบเทียบกับประเทศด้อยพัฒนาในแถบแอฟริกา อย่าง ชาด, กินี-บิสเซา, ซูดาน, โตโก, กินี และบุรุนดี ที่ยังคงมีการรัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาลกันอยู่

เลวร้ายไปยิ่งกว่านั้น เมื่อเช้าวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งกลับกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หลายคนไม่เคยนึกคิดว่าก่อน ว่าประเทศไทยจะเกิดการรัฐปแระหารขึ้นอีกขึ้น

คำว่า “ปฎิวัติ” ซึ่งมักติดปากคุ้นหูคนไทย มากกว่า “รัฐประหาร” จึงอยู่ควบคู่กับคนไทยมาตั้งแต่ ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย จนกระทั่งถึงคนรุ่นใหม่ ในปัจจุบัน จะต่างกันก็เพียงในอดีตเราต่างอยู่ด้วยความหวาดกลัว และเศร้าสลด เมื่อต้องเจอเหตุการณ์ในรูปแบบดังกล่าว

แต่วันนี้ กระแสกำลังตีกลับ เรารับรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ว่า ความหวาดกลัว นั้นได้หายไป อาจจะเป็นเพราะความคุ้นชิน หรืออาจเป็นเพราะ โลกในวันนี้เดินก้าวมาไกลจน อำนาจ ที่แท้จริงไม่ได้อยู่ในมือผู้ทำรัฐประหารอีกต่อไป แต่มันจะอยู่ในมือของประชาชนที่กล้าออกมาต่อต้านการกระทำเช่นนั้นแทน

 

ข่าวที่น่าสนใจ