รู้จัก “ยิ้มสู้ คาเฟ่” พลังของผู้พิการ ที่ชงกาแฟและให้บริการด้วยความตั้งใจ

by ThaiQuote, 3 ตุลาคม 2563

มาทำความรู้จักกันอีกสักครั้ง “ยิ้มสู้คาเฟ่” ร้านกาแฟที่มอบโอกาสให้ผู้พิการ ด้อยโอกาส ได้มีอาชีพ มีรายได้ ก่อนจะจายหายเหลือเพียงไว้ชื่อ

“ยิ้มสู้คาเฟ่” ดูภายนอกก็เหมือนกับคาเฟ่ทั่วไป แต่ความพิเศษของที่นี่คือ พนักงานในร้านที่คอยให้บริการจะเป็นผู้พิการทางการได้ยิน ทางร่างกาย และบุคคลออทิสติกครับ ถือเป็นสถานที่สร้างโอกาส และรายได้ให้เขาเหล่านี้ โอกาสผู้พิการได้มาทำอาหารและทำเครื่องดื่มเสิร์ฟให้ลูกค้า ได้ลิ้มรสความอร่อยกัน


“พนักงานหูหนวกยินดีให้บริการค่ะ โปรดสั่งอาหารและเครื่องดื่มโดยการชี้เมนู” ข้อความที่จะได้เห็นทำให้ลูกค้าที่เข้ามาหวังจะดื่มด่ำคาเฟอีนเข้าใจทันทีว่า คาเฟ่ซึ่งมีบรรยากาศแทบจะไม่แตกต่างจากคาเฟ่อื่นแห่งนี้ ‘ไม่ธรรมดา’


ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ผู้ก่อตั้งร้าน “ยิ้มสู้คาเฟ่” อธิบายว่า “ยิ้มสู้” คือชื่อบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชนิพนธ์ เพื่อมอบกำลังใจแก่ผู้พิการทางสายตา เมื่อพ.ศ.2495 ดังนั้นคำว่า “ยิ้มสู้” จึงเป็นทั้งสิ่งมงคล ขวัญกำลังใจ และปณิธาณของคนพิการที่จะต้องฝ่าฝันอุปสรรค ให้ใช้ชีวิตไม่แตกต่างจากคนปกติ เอาชนะความเชื่อของสังคมที่ว่าผู้พิการคือภาระของสังคม ทำอะไรไม่ได้ รอคอยแต่การช่วยเหลือเพียวอย่างเดียว


สิ่งที่คนพิการต้องต่อสู้มากที่สุดคือความเชื่อที่ว่าคนพิการทำอะไรไม่ได้ ความพิการคือกรรมที่ต้องชดใช้ คนพิการจึงมีชะตากรรมเช่นนี้ ทั้งๆ ที่จริงแล้วสังคมต่างหากที่มองคนพิการแบบนั้น”

นับตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ “ยิ้มสู้คาเฟ่” เปิดให้บริการ ได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ผู้พิการโดยทลายกรอบความเชื่อเดิมๆ ที่หลายคนคิดว่าคนพิการต้องขายลอตเตอรี่หรือขอทานเท่านั้น ร้านกาแฟแห่งนี้จึงมีบรรยากาศชวนนั่ง ตกแต่งค่อนข้างทันสมัย ถูกใจสายชิล สายแชะ ที่ชอบหามุมเก๋ๆ ในร้านกาแฟถ่ายรูปลงโซเชียลกัน

 


ต้องบอกว่าไม่ได้มีดีแค่ตกแต่งร้านเท่านั้น แต่อาหารและเครื่องดื่มฝีมือคนพิการก็เป็นอีกจุดขาย ที่ถ้าใครได้ลิ้มลองฝีมือจะรู้เลยว่า ไม่มีอะไรมาขวางกั้น ระหว่าง“คนพิการ”กับ “คนปกติ” ที่สำคัญวัตถุดิบทั้งกาแฟและอาหารนั้นเป็นแบบออแกนิคคือปลอดสารพิษทั้งหมด

สำหรับเมนูที่ที่อาจารย์ยกให้เป็นเมนูแนะนำ (ส่วนตัว) คือ ต้มยำ พะแนงไก่ ผัดซีอิ๊ว ผัดกะเพรา ข้าวหน้าไก่ ส่วนเครื่องดื่มนั้นอาจารย์การันตีว่าอร่อยทุกเมนู เพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟมาอบรมให้พนักงานทุกคน และใช้เมล็ดกาแฟคุณภาพเยี่ยมแบบออแกนิคที่ปลูกบนดอยอินทนนท์


การแบ่งพื้นที่ในร้านถูกแบ่งเป็น 2 โซน คือ โซนกาแฟ และโซนอาหาร ด้วยขนาดพื้นที่ทำให้รองรับลูกค้าได้ประมาณ 100 คน ในช่วงปกติก่อนสถานการณ์โควิด-19 สำหรับลูกค้าที่ผ่านมาราว 80 เปอร์เซ็นต์เป็นนักศึกษา รองลงมาคือวัยทำงานและลูกค้าทั่วไป

 


หลายคนทั้งมานั่งพักผ่อนจิบกาแฟ รับประทานอาหาร และนั่งทำงานอ่านหนังสือ เพราะมีปลั๊กไฟและ wifi ฟรี
ด้วยความที่กระแสตอบรับดีและต้องการขยายโอกาสให้คนพิการ จึงเกิดเป็น “ยิ้มสู้คาเฟ่” สาขา 2 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และทำนองเดียวกันกับสาขาแรกคือลูกค้าส่วนมากเป็นนักศึกษา เพิ่มเข้ามาคืออาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย

พื้นที่อาจเล็กกว่าสาขาแรกค่อนข้างมาก แต่ยังรักษามาตรฐานเรื่องรสชาติเครื่องดื่มเอาไว้อย่างครบถ้วน รวมถึงเบเกอรี่ที่มีให้เลือกจนละลานตา และที่หลายคนยกให้เป็นทีเด็ดของร้านนี้คือ Yimsoo Gelato ไอศกรีมอิตาเลียนโฮมเมดที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไขมันต่ำ

การสั่งอาหารของทั้งสองสาขาจะทำโดยชี้เลือกเมนูรวมถึงรายละเอียดต่างๆ ของเมนู เช่น หวาน ไม่หวาน ปกติ โดยร้านจะมีป้ายคำที่จำเป็นวางอยู่ที่หน้าเคาน์เตอร์บาร์


แต่เป็นที่น่าใจหายและน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเหลือเวลาแค่เดือนเศษ “ยิ้มสู้คาเฟ่” สาขาท่าพระจันทร์ อาจจะเหลือเพียงชื่อและความทรงจำ ตามข้อมูลที่อาจารย์วิริยะ โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า

“ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ สาขาธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จำเป็นต้องปิดตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 นี้ ซึ่งจะทำให้คนพิการหลายคนที่ปฏิบัติงานอยู่สาขานี้ต้องตกงาน ขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพ
สาเหตุเนื่องจาก ทางเจ้าของสถานที่ได้มอบสัมปทานให้แก่ร้านกาแฟอื่นไปเรียบร้อยแล้ว

ผมรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ความพยายามในการหาช่องทางสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่คนพิการ กลับพ่ายแพ้ต่อระบบนายทุนใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้คนพิการจะต้องดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก

สุดท้ายนี้ ผมขอให้ทุกท่านช่วยกันเป็นกระบอกเสียง แชร์ข้อความที่บรรยายจากความรู้สึกของผม ที่เต็มไปด้วยความผิดหวังและเสียใจ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แก่คนพิการ ในการเรียกร้องโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้กลับมาเป็นของคนพิการดังเดิม

สำหรับท่านใดที่ต้องการอุดหนุนกาแฟของเรา ทางคณะฯ ได้สั่งให้คนพิการเลิกขายกาแฟที่ร้านนับตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 แต่ต้องจ่ายค่าเช่าเต็มเดือน ดังนั้นอีก 20 วันที่เหลือ เราจึงต้องขายตามซอกตามมุมอย่างยากลำบาก หากไม่ขายจะโดนปรับวันละ 500 บาท

แวะมาอุดหนุนและให้กำลังใจร้านยิ้มสู้คาเฟ่ สาขาธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ได้ถึงภายในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้นะครับ”

ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (4 ต.ค.) ศ.วิริยะ โพสต์ข้อความอีกครั้ง โดยระบุว่า

“เบื้องต้น ได้รับการติดต่อจาก รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมรู้สึกได้ว่าท่านไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย

โดยหลังจากที่ท่านได้ทราบข่าว ก็ได้มีการประสานมาเบื้องต้นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีจุดยืนในการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และพร้อมให้การช่วยเหลือมูลนิธิสากลคนพิการและร้านยิ้มสู้คาเฟ่อย่างเต็มที่ ในการส่งเสริมการฝึกอาชีพคนพิการและผู้ด้อยโอกาส โดยจะจัดหาพื้นที่ใหม่ในทำเลที่ดีและเหมาะสมภายในท่าพระจันทร์เพื่อเป็นที่ตั้งใหม่ของร้านต่อไป”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชื่นชม! “คาเฟ่ อเมซอน” ขอถอนตัว หลังผู้ก่อตั้ง ยิ้มสู้คาเฟ่ พ้อ คนพิการต้องตกงาน