ทางลงของ บิ๊กตู่ และ ม็อบ มันคือทางเดียวกัน

by ThaiQuote, 2 พฤศจิกายน 2563

โดย....กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ทิศทางของการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย กำลังเดินเข้าไปสู่เส้นทางเดียวคือ "คณะกรรมการสมานฉันท์" ที่จะเป็นกลไกที่ช่วยแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ระหว่างประชาชน และรัฐบาล

กลุ่มประชาชน เยาวชน ในนามกลุ่มคณะราษฎร 2563 ออกมาเรียกร้องพร้อมกับชุมนุม และยืนยันจุดยืนเดิมใน 3 เรื่องคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะต้องลาออก 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญจากประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง อาจจะถูกนำเข้าไปพูดคุยและพิจารณาเพื่อหาทางออกในคณะกรรมการสมานฉันท์ หากว่ามีการจัดตั้งขึ้นจริงตามแนวคิดของประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ที่หลังจากเปิดประชุมสภาวิสามัญปลายเดือนตุลาคม 2563 ก็ดูเหมือนว่า "โซลูชั่น" เดียวที่จะเป็นทางออกให้กับประเทศ อยู่ที่คณะกรรมการชุดนี้

แน่นอนว่าฝั่งรัฐบาลย่อมเอาด้วย แต่สำหรับฝั่งฝ่ายค้าน ทั้งแกนหลักอย่างพรรคเพื่อไทย และก้าวไกล ดูเหมือนว่า โซลูชั่นที่ชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ จะไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

การประสานเสียงล่าสุดจากการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2563 จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้นเหตุของปัญหา คือตัวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว และหากลาออก ปัญหาทุกอย่างก็น่าจะทุเลาได้ไม่ยาก

"คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม เราไม่เห็นด้ยที่จะเข้าไปร่วมโดยไม่เห็นปลายทางว่าจะแก้ไขอะไร ปัญหาทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายกฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านได้อภิปรายชี้แจงให้นายกฯเห็นแล้วว่านายกฯล้มเหลว ไร้ความสามารถทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม ทำให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มนิสิต นักศึกษา นายกฯ ต้องตัดสินใจเสียสละลาออก" ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์หลังวงประชุม

"หากพล.อ.ประยุทธ์ไม่เสียสละเพื่อประเทศโดยการลาออกการแก้ปัญหาก็เกิดขึ้นได้ยาก" คำนี้จากรังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกลที่ร่วมวงประชุม

ตัวอย่างจากคำอธิบายของพรรคร่วมฝ่ายค้านหลังวงประชุม คงพอกำหนดทิศทางได้ว่า ฝ่ายค้านไม่เชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับปัญหาประเทศได้ และพุ่งเป้าไปว่า ตัวของพล.อ.ประยุทธ์ นี่แหละคือปัญหา หากจะแก้ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารประเทศไทย

แต่คำยืนยันจากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะอารมณ์ไหน จะดีหรือร้าย เมื่อเจอคำถามนี้จะมีคำตอบเดียวคือ "ไม่ลาออก"

เหตุผลของพล.อ.ประยุทธ์ คือ ยังมีปัญหาบ้านเมืองที่ต้องแก้ไข ตัวเขาเองจะไม่ยอม "ตัดช่องน้อยแต่พอตัว" เพื่อให้ตัวเองรอดออจากบ่วงของปัญหาในขณะนี้ เข้าทำนองว่า ข้าคือผู้เสียสละ ข้ายอมเหนื่อยเพื่อไม่ให้เดือดร้อนคนอื่น

แต่อีกมุมของผู้ประท้วง ก็เพราะการที่ไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัวของพล.อ.ประยุทธ์นี่แหล่ะ ที่ถือว่าเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวทางการเมือง ที่ไม่ยอมให้ใครอื่นใดมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ราวกับว่า ปัญหานี้มันเกิดมาเพื่อชายที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะรับมือ

อีกนัยหนึ่งสำหรับข้อเรียกร้อง คือความเบื่อ ในการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์แล้ว เพราะกว่า 6 ปีนับตั้งแต่ยึดอำนาจรัฐประหาร จนร่างรัฐธรรมนูญออกมาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ภาพพล.อ.ประยุทธ์ที่มีกำกับท้ายหลังนามสกุลว่านายกรัฐมนตรี ก็ชาชินกับสายตาของคนไทย แม้จะมีบางส่วนที่ดีขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าบรรยากาศของประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนไปจากตอนที่เป็นประเทศที่ถูกบริหารโดยคณะทหารในนามคสช.เมื่อครั้งยึดอำนาจ

เพราะกฎเกณฑ์กติกาทางการเมืองต่างๆ ก็ยังดูเหมือนว่าเอื้อประโยชน์ให้กับทางรัฐบาลที่มีอำนาจ จุดนี้เองที่มันเกินลิมิตของกลุ่มผู้ประท้วง และประชาชนคนไทยอีกส่วน ที่พอแล้วจะทนกับสถานะที่ต้องดำรงอยู่แบบนี้

แต่เมื่อเสียประชาชนเริ่มดังขึ้น อะไรที่ทำให้บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ถอยเสียที

คำตอบก็น่าจะเป็นเพราะรัฐบาลเอง ไม่ใช่พรรคเดียวที่พอมีสิทธิ์มีเสียงครอบคลุมไปทุกด้าน หากจะไขก๊อกแล้วตัดช่องน้อยออกไป บรรดาพรรคการเมืองที่ร่วมหัวจมท้ายอยู่ ได้สิทธิ์ ได้อำนาจ ได้คะแนนรางวัลความนิยมจากการทำงานในกระทรวง งานในพื้นที่ ก็เท่ากับว่าต้องไปเริ่มศูนย์กันใหม่ เพราะหากนายกฯ ลาออก หรือยุบสภา เกมการเมืองก็ต้องเข้าสู่สนามเลือกตั้งกันใหม่ทันที

แรงเสียดทานจากพรรคร่วมจึงเป็นเสียงที่พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่อาจเพิกเฉยไม่รับฟัง เพราะการบริหารประเทศดั่งที่เจ้าตัวบอกว่าไม่ออก ก็ต้องพึ่งพาการทำงานของพรรคร่วมด้วยเช่นกัน

ครั้นว่าแผนการหยุดปัญหาทุกอย่างคือ “ทหาร” หรือการปฏิวัติรัฐประหารตัวเอง ก็เป็นอีกทางเลือกที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะแน่นอนว่าการทำเช่นนี้ หรือการรัฐประหารตัวเองของพล.อ.ประยุทธ์ อาจจะยิ่งทำให้ประเทศไปไกลมากกว่าการหยุดนิ่ง นั่นคือถอยหลังไปเลย เพราะแน่นอนว่าต่างชาติจะรับไม่ได้ และไม่อยากจะเข้ามามีเอี่ยวการลงทุนอะไรในประเทศไทย เพราะการเมืองมันไม่มีความนิ่งให้เห็นเลย

อีกทั้ง หากพล.อ.ประยุทธ์ เลือกทางนี้ก็จะมีภาพติดตามตัวว่าเป็นผู้นำประเทศ แต่ทำรัฐประหารเสียเอง การตั้งใจแก้ปัญหาด้วยการปฏิรูปประเทศให้ดียิ่งขึ้น จากเดิมที่ตั้งใจจะทำใน 4 ปี แต่ปัจจุบันเวลาก้าวผ่านมา 6 ปี และหากรัฐประหารอีก จะใช้เวลาอีกเท่าไหร่เพื่อฟื้นคืน เพื่อปฏิรูปอย่างที่ต้องการ

กระนั้น เหรียญย่อมมีสองด้าน ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ที่ดูเหมือนว่าจะ “ไร้ทางลง” หากมองในแง่บริบททางการเมืองในปัจจุบัน เพราะบางข้อเรียกร้องนั้น อาจจะยอมไม่ได้ที่จะให้เกิดขึ้น แต่สัญญาณที่เริ่มเด่นชัดจากฝั่งประท้วง ที่ส่งมาให้เห็นกันบ้างว่า หากจะหาทางแก้ปัญหา อันดับแรกสุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก

นี่ก็อาจจะเป็นบันไดอีกขั้นที่พาดเอาไว้ให้ทั้ง กลุ่มผู้ชุมนุม และพล.อ.ประยุทธ์ ได้ปีนลงมา นั่นคือ การลาออก แล้วว่ากันในยกสองสำหรับข้อเรียกร้องต่างๆ และการต่อรองทางการเมืองต่อไป

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ชวน เผย 2 โมเดลปรองดอง เตรียมเรียกฝ่ายค้าน-รบ.หารือ