“โซลาร์เซลล์” ความยั่งยืนด้านพลังงานที่เข้าถึงง่าย เริ่มต้นได้ทันที

by ThaiQuote, 14 มกราคม 2564

เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงาน! ส่อง ข้อดี-ข้อเสีย “โซลาร์เซลล์” เช็กราคาติดตั้งเบื้องต้น พร้อมข้อมมูลเด็ด บ้านแบบไหนที่คุ้มค่า น่าติด

ถือเป็นประเด็นซึ่งกำลังที่สนใจ สำหรับ “โซลาร์เซลล์” ในเรื่องของพลังงานทดแทนและความยั่งยืน โดยเฉพาะเมืองไทยที่ถือว่ามีความเหมาะสมในเบื้องต้นจากสภาพภูมิอากาศเนื่องจากแดดแรงตลอดทั้งปี

แต่การติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้นมีรายละเอียดอยู่พอสมควร คนที่จะเริ่มใช้จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน ทั้งข้อดี-ข้อเสีย ความคุ้มค่า ประเภทของโซลาร์เซลล์ หรือครอบครัวที่ต้องการติดตั้งบนหลังคาบ้าน เพื่อความเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด

 

ข้อดี-ข้อเสีย “โซลาร์เซลล์”

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้ข้อมูลว่าจุดเด่นของโซลาร์เซลล์ คือพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมด เนื่องจากเกิดจากการเปลี่ยนพลังงาน แสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง รวมทั้งยังสร้างไฟฟ้าได้ทุกขนาด และใช้ได้กับเครื่องคิดเลขถึงโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ รวมถึงยังมีความสะดวก ผลิตที่ไหนใช้ที่นั่นทันที เช่น รับแสงแดดจากหลังคาบ้านแล้วเปลี่ยนมาเป็นแสงไฟ

ส่วนจุดด้อย คือ มีความเข้มของพลังงานขาเข้าต่ำ หากต้องใช้ไฟสูงจำเป็นต้องใช้จำนวนเซลล์แสงอาทิตย์มากและพื้นที่มากตามไปด้วย อีกส่วนหนึ่งคือปริมาณไฟฟ้าที่ได้จะแปรผันตามสภาพอากาศ ดังนั้นการจ่ายไฟออกจึงแปรผันตาม นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีต้นทุนสูงด้านการติดตั้งและอุปกรณ์ในการติดตั้ง รวมถึงค่าบำรุงรักษา

 

 


เริ่มต้นที่หลักร้อย! เช็กราคาติดตั้ง “โซลาร์เซลล์”

แน่นอนว่าขณะนี้สิ่งที่คนทั่วไปสนใจคือในเรื่องของราคา เบื้องต้นสำหรับแผงขนาดเล็กตั้งแต่ 100-380 วัตต์ ในแบบ Mono-Poly ขนาดตั้งแต่ 630x540x25 mm จนถึงไม่เกิน 1,979x1,002x40 mm ราคาจะอยูที่ประมาณ 900-3500 บาท

ขณะที่โซลาร์เซลล์สำหรับติดหลังคาบ้าน หากเริ่มที่ขนาด 1 กิโลวัตต์ ซึ่งต้องใช้พื้นที่ 8-10 ตารางเมตร ราคาจะอยูที่ 35,000-50,000 บาท หากต้องการติดตั้งสูงสุดเท่าที่หลังคารองรับได้คือ 10 กิโลวัตต์ ราคาจะตกราว 500,000-700,000 บาท ซึ่งราคาจะมีการผันแปรตามเกณฑ์ของผู้รับเหมา ขณะที่ความคุ้มค่านั้นกระแสไฟ 1 กิโลวัตต์ จะเทียบเท่าค่าไฟบ้าน 600-800 บาทโดยประมาณ

 

 


แล้วบ้านแบบไหนที่คุ้มค่า น่าติดโซลาร์เซลล์

เมื่อต้องการติดตั้ง “โซลาร์เซลล์” ไว้ที่บ้าน ผู้อยู้อาศัยจำเป็นศึกษารายละเอียด ไม่ว่าจะในเรื่องของหลังคา พฤติกรรมในการใช้พลังงานไฟฟ้าในแต่ละวัน รวมทั้งความเหมาะสมของบ้านว่าจะใช้โซลาร์เซลล์รูปแบบไหน สำหรับบ้านที่เหมาะกับการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ พอสรุปรายละเอียดได้ดังนี้ (ขอบคุณข้อมูลจาก SCG)

1.บ้านที่มีหลังคาลาดเอียงทางทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงได้รับแสงแดดและความร้อนจากดวงอาทิตย์ทางทิศตะวันตกและทิศใต้สูงสุดในแต่ละวันเป็นระยะเวลา 8-9 เดือนโดยประมาณ หากมีพื้นที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ฝั่งดังกล่าวจะคุ้มค่ากว่าทิศอื่น ๆ

 

2.บ้านที่มีพื้นที่ว่างสำหรับวางแผงโซลาร์เซลล์

โดยปกติแล้วก่อนติดตั้ง เจ้าของบ้านควรทราบความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้ารวม เพื่อประเมินได้ว่าควรต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมดกี่แผง แต่ละแผงมีสเปคเท่าไหร่ ตัวอย่างแผงโซลาร์เซลล์ของ SCG หากใช้กับบ้านทั่วไปที่มีหลอดไฟ 20 ดวง ทีวี 2 เครื่อง เครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง (ขนาด 9000 BTU) และตู้เย็น 1 เครื่อง จะต้องใช้แผงโซลาร์เซลล์ 5 แผง ใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 10-14 ตร.ม.

 

3.บ้านที่ใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากหรือสำนักงาน

พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ สามารถผลิตได้ช่วงกลางวัน หากการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านหรืออาคารสถานที่ มุ่งเน้นการใช้งานกลางวันก็จะช่วยส่งกระแสไฟฟ้าได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเก็บสำรองในแบตเตอรี่ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ จึงคุ้มค่ามากและเหมาะอย่างยิ่งสำหรับสำนักงาน, Home Office, คาเฟ่, ร้านอาหาร ที่โดยปกติจำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้สำนักงานจำนวนมาก หรือบ้านไหนมีผู้สูงอายุ มีเด็ก ที่ปกติต้องอยู่บ้านทั้งวันและใช้พลังงานไฟฟ้าสูงเกิน 3,000 บาทขึ้นไป ก็เหมาะสมเช่นกันครับ

 

4.บ้านที่กระแสไฟตกบ่อย

แม้ปัจจุบันในประเทศไทย ไฟฟ้าได้เข้าถึงเกือบทุกพื้นที่แล้ว แต่ก็มิได้หมายความว่ากระแสไฟฟ้าจะเสถียรทั้งหมด แม้แต่ในชุมชนเมืองบางพื้นที่ ที่มีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นมักเกิดปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ ทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟตกบ่อยครั้ง การมีพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เองด้วยแผงโซลาร์เซลล์ จึงเป็นเสมือนตัวช่วยประกันความเสี่ยงในการใช้พลังงานไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี

 

5.บ้านสวนสนามกว้างสายไฟไปไม่ถึง

โซลาร์เซลล์ไม่ได้มีเฉพาะแบบแผงสี่เหลี่ยมที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาเท่านั้น ยังมีในรูปแบบอื่น ๆ ให้เลือกใช้งาน อาทิ ไฟตกแต่งสวนโคมไฟโซลาร์เซลล์แบบฝังพื้น โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์แบบปักสนาม ที่สะดวกสำหรับบ้านสนามหญ้ากว้าง ๆ จึงไม่จำเป็นต้องเดินระบบสายไฟออกไกลนอกบ้าน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและลดอันตรายจากการต่อสายไฟออกมากลางแจ้งได้เป็นอย่างดี

ส่วนบ้านที่ไม่เหมาะที่จะติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพราะไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น คือ บ้านที่มีอาคารสูงบังทางทิศใต้หรือทิศตะวันตก บ้านที่มีพื้นที่หลังคาน้อยหรือโครงสร้างหลังคาไม่รองรับ หรือบ้านที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยมีค่าไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน หากติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

 

 


เรื่องที่น่าสนใจ

เปลี่ยนพื้นที่จำกัด ให้เป็น “ศิลปะฟอกปอด”