สั่งสมความรู้ จนบ่มเพาะเป็นภูมิปัญญา “ปุ๋ยหมักระบบกองแบบเติมอากาศ” คืนชีวิตให้ดิน

by วันทนา อรรถสถาวร , 14 มกราคม 2566

“เปลี่ยน สีเสียดค้า” อดีตผู้ใหญ่บ้านวัยกว่า 70 ปี ได้รับการยอมรับเป็นปราชญ์จากหลายที่และรวมทั้งได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์สัมมาชีพแห่งมูลนิธิสัมมาชีพด้วยความโดดเด่นความรู้ด้าน“ปุ๋ยหมักระบบกองแบบเติมอากาศ”

 

จุดเริ่มต้น รากฐานเศรษฐกิจพอเพียง

ลุงเปลี่ยนเล่าให้ Thaiquote ฟังว่าอาชีพของตนเองเป็นเกษตรกร ทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงลูก แต่ด้วยความไม่ตระหนักรู้ของตนเองทำให้ต้องขายที่ดินทำกินที่พ่อแม่ให้มาจนหมดสิ้น พอดีช่วงนั้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกำลังได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทำให้ลุงเปลี่ยนเข้าไปศึกษา อบรมจากโครงการต่าง ๆ ที่เปิดสอน จนกระทั่งตกผลึกในความคิดของตนเองว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้เราเอาชีวิตรอดได้

 

เปลี่ยน สีเสียดค้า

เปลี่ยน สีเสียดค้า

 

“ถ้าเราใช้วิธีคิดที่ถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องมีอะไรมากมาย เราก็สามารถนำพาให้เราสามารถประกอบสัมมาชีพที่ไม่มีปัญหากับคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเราเอง ไม่ต้องลงทุนสูง เราก็อยู่รอดได้” 

 

ลุงเปลี่ยนกล่าวกับ Thaiquote ว่า “ เมื่อผมมีหลักยึดที่เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ผมก็หันมาสนใจเรื่องดิน เพราะผมเป็นเกษตรกร และลมหายใจของการเกษตรที่สำคัญคือดิน หากดินมีชีวิต มีความอุดมสมบูรณ์ ก็จะส่งเสริมให้พืชที่เราปลูกเจริญเติบโต และงอกงาม”

การทำดินให้มีชีวิต คือ การสร้างชีวิตคือการให้ลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นคน หรือ ดิน ต้องเริ่มต้นจากลมหายใจ จากนั้นเมื่อเติบโตจึงจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเองทำให้อยู่รอดด้วยการรู้จักหาอาหารด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง ร่างกายจึงจะสมบูรณ์

ทำดินให้มีชีวิต

ลุงเปลี่ยนเล่าว่า กว่าจะได้หลักการทำปุ๋ยที่เป็นวิธีของตนเองนั้น เริ่มต้นก็ได้จากการไปเรียนรู้หลักการทำปุ๋ยอินทรีย์จากกสถาบันต่าง ๆ ที่ทางราชการสอน แล้วนำมาฝึกทำเป็นกองปุ๋ย ในระยะแรกต้องใช้แรงงานมาก ทำให้ต้นทุนของการทำสูง ลุงจึงค่อย ๆ ปรับวิธีในการหมักปุ๋ยไปเรื่อย ๆ จนสามารถทำจากแรงงานคนไม่มาก ปล่อยให้ปุ๋ยทำงานของตัวเขาเอง ครั้นพอระยะหลังการตลาดของปุ๋ยเคมีรุนแรง ตนเองจึงออกไปรณรงค์สอนชาวบ้านให้หันมาใช้ปุ๋ยหมักของตนเองดีกว่า ซึ่งประหยัด และคืนชีวิตให้กับดินในระยะยาวได้

 



ลุงเปลี่ยนเล่าต่อว่า การให้อาหารแก่ดินมีสองลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นการใช้ปุ๋ยเคมี เปรียบเสมือนกันให้อาหารคนในห้องที่เป็นห้องปิด ไม่มีโอกาสได้ออกไปรับรู้โลกภายนอก ถึงแม้นอาหารที่ได้รับนั้นจะมีสารอาหารสมบูรณ์ครบถ้วนทุกด้าน แต่เมื่อร่างกายไม่มีการออกกำลัง ถูกป้อนอย่างสุขสบาย ส่งผลทำให้การเจริญเติบโตรวดเร็วแต่ขาดความแข็งแรงของร่างกาย คือ ดินที่ได้รับปุ๋ยเคมีให้ผลผลิตถูกใจเกษตรกร แต่ไม่นานนักดินเสื่อมคุณภาพ กลายเป็นดินที่แข็งจนไม่สามารถปลูกพืชให้งดงามได้อีก

ในขณะที่อีกลักษณะหนึ่ง เราใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ทำมาจากส่วนผสมของอินทรียวัตถุจากธรรมชาติ ถ้าเราจะเปรียบก็เปรียบได้กับการให้อาหารคนด้วยการสอนให้เรียนรู้วิธีหาอาหารด้วยตัวเอง คือการเปิดประตูห้องให้คนที่อยู่ในห้องมีโอกาสออกมาสู่โลกภายนอก เพื่อเรียนรู้วิธีหาอาหารแก่ตนเอง จะทำให้รู้ว่าอาหารประเภทใดที่สามารถทานได้มีคุณค่า อาหารประเภทใดที่ไม่มีคุณประโยชน์ และการออกมาหาอาหารนี้เองจะทำให้ร่างกายมีการออกกำลังกายเมื่อผนวกกับธาตุอาหารที่ได้รับจึงทำให้ร่างกายแข็งแรงทั้งภายในและภายนอก ซึ่งก็เปรียบกับดินที่ได้รับปุ๋ยอินทรีย์ไปช่วยทำให้เกิดรูพรุนด้วยอากาศ เหมือนการเปิดประตูสู่โลกภายนอก เพราะดินร่วนซุยมากขึ้นทำให้รากไม้สามารถชอนไชไปได้ในทุกที่ที่ต้องการไป คือหลักปรัชญา “เมื่อดินมีชีวิต ต้นไม้ก็มีชีวิต ไร้มลพิษ”

 

 

หลักปรัชญาทำดินให้มีชีวิต

ลุงเปลี่ยนเล่าว่า หลักปรัชญา “ทำดินให้มีชีวิต” เพราะเมื่อดินมีชีวิตจะทำให้พืชงดงาม สิ่งที่งดงามทำให้สิ่งรอบข้างงดงามตามไปด้วย ในทางวิชาการเมื่อพืชงดงามให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ ส่งผลทางมูลค่าเศรษฐกิจที่สูงตามไปด้วย ท้ายที่สุดจะทำให้คนอยู่รอด ด้วยความพอเพียง การประหยัด และไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพราะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้นทุนการผลิตต่ำ ลดต้นทุนการผลิต ทำให้ดินฟื้นสภาพ ผลผลิตที่สูงขึ้นทำให้คนอยู่ได้โดยไม่ต้องแข่งขันกันทางธุรกิจ ดังนั้นต้องเริ่มต้นจากดินที่มีชีวิต

การทำปุ๋ยเพื่อดินที่มีชีวิต คือ ทำปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศ เริ่มต้นด้วยการนำเศษวัชพืช เช่น ฟางข้าวตามนาข้าวในพื้นที่ไม่ต้องซื้อหา มูลสัตว์(ขี้วัว) มาหมักด้วยกันในสัดส่วน 2:1 คือ มูลสัตว์:เศษวัชพืช จากนั้นนำไปหมักผึ่งแดดกลางแจ้ง เติมอากาศด้วยท่อที่จัดทำระบบเตรียมไว้สอดเข้าไปกลางกองปุ๋ย ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จะนำเข้าไปหมักต่อในที่ร่มอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดการบ่มซึ่งจะทำให้ปุ๋ยหมักที่ได้ร่วนซุยมากขึ้น

 

 

ปุ๋ยที่ได้จะขายเป็นกระสอบ ๆ ขายให้กับเกษตรกรในพื้นที่กว่า 53 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะเป็นสมาชิกของศูนย์ ฯ มีการร่วมลงหุ้น ทุกปีจะมีปันผลแก่สมาชิกด้วย ขายในราคาที่ไม่ขายแพง เพราะปุ๋ยที่ทำเองมีต้นทุนการผลิตต่ำ เศษฟางข้าวตามท้องนาชาวบ้านให้ทางศูนย์ ฯ ไปเก็บเอง ซื้อแต่มูลสัตว์มาผสมเท่านั้น ส่วนอาคาร อุปกรณ์ รัฐบาลและท้องถิ่นมีงบประมาณสนับสนุนมาให้ ทุกปีจะมีหน่วยงานต่าง ๆ มาศึกษาดูงานและมีโครงการที่สนับสนุนงบประมาณให้ตลอด ทุกวันนี้ผมดูแลที่นี่มีคนงาน 3 คน ที่มีหน้าที่ผสมปุ๋ยและบรรจุลงกระสอบ

ถ้าเราจะเปรียบเทียบปุ๋ยเคมีเปรียบเหมือนยอดอาหาร ทำให้เห็นผลผลิตเร็ว แต่ผลเสียที่ตามมาคือทำให้ดินแข็ง ขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ อาจจะทำให้เห็นผลผลิตช้าแต่ดินมีคุณภาพ ไม่แข็ง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้มาก่อนจำเป็นต้องมีความอดทนอย่างมาก ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี ถึงจะเห็นผลช้าก็ต้องอดทน

ภูมิปัญญาในการทำปุ๋ยหมักของลุงเปลี่ยนคือ การทำปุ๋ยหมักระบบกองแบบเติมอากาศ เป็นการทำปุ๋ยหมักบนลานพื้นกลางแจ้ง และผลิตได้ทุกฤดูกาล ใช้เวลาสั้น 30 วัน ต้นทุนต่ำ เหมาะกับสภาพพื้นที่ชนบทที่มีเศษพืชและมูลสัตว์ เป็นการสะสมประสบการณ์ของการเรียนรู้ด้วยตนเอง จนพัฒนาเป็นสูตรการหมักปุ๋ยระบบกองแบบเติมอากาศที่มีศักยภาพสามารถใช้ประโยชน์เชิงเกษตรกรรมชุมชนหรือผลิตใช้เอง มีค่าใช้จ่ายต้นทุน 1,630 บาท/ตัน โดยปุ๋ย 1 ตัน = 1 กอง จะประกอบไปด้วยส่วนผสมมูลสัตว์ 3 ลบ.ม. เศษพืช 6 ลบ.ม. หินฟอสเฟต 5,000 กรัม ปุ๋ยยูเรีย 5,000 กรัม และสารเร่งปฏิกิริยา 1 ซอง

การหมักปุ๋ยดังกล่าว มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงต่อการย่อยสลายของจุลินทรีย์โดยใช้ออกซิเจน เช่น (1) ความชื้น จุลินทรีย์ต้องการความชื้นที่เหมาะสมประมาณ 45-60 ของความชื้น (2) แหล่งจุลินทรีย์ มูลสัตว์จะเป็นแหล่งจุลินทรีย์ที่ไปทำหน้าที่ย่อยสลาย (3) ออกซิเจน การย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ชนิดที่ใช้ออกซิเจนจะมีปฏิกิริยาที่รวดเร็วกว่าจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจนหลายเท่า การใช้เครื่องเติมอากาศง่ายกว่าการพลิกกองปุ๋ย (4) อุณหภูมิในกองปุ๋ย ปฏิกิริยาการย่อยสลายจะให้ความร้อนภายในกองปุ๋ยอยู่ที่อุณหภูมิประมาณ 50-60 องศาเซลเซียส ก็จะเป็นสภาวะที่จุลินทรีย์สามารถเจริญเติบโตได้ดี ส่งผลให้การหมักปุ๋ยเสร็จเร็วขึ้น (5) เศษพืช เศษพืชที่จะนำมาหมักปุ๋ยควรถูกย่อยให้มีขนาดพอดี ประมาณ 1-4 นิ้วเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์

 



สำหรับสัดส่วนการใช้ ปุ๋ยอินทรีย์:ปุ๋ยเคมี เริ่มต้นจากน้อยไปหามาก เช่น 1:4 ,1:3, 1:2, 1:1, 2:1, 3:1, 4:1, จนถึงไปสัดส่วน 1:0 และเมื่อพื้นที่การเกษตรสามารถปรับใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทั่วพื้นที่หมดแล้ว ประมาณ 3 ปี ดินจะฟื้นสภาพสมบูรณ์ 100% จากนั้นสามารถหยุดใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปีถัดไปเกษตรกรอาจจะปลูกพืชตระกูลถั่วใช้เป็นปุ๋ยพืชสดทดแทนบ้าง แต่ไม่ควรใช้ตลอดไป ต้องให้ดินได้พักบ้าง เพราะหากเติมปุ๋ยและใช้ดินปลูกพืชมากเกินไปดินจะโทรมเร็ว ก็เหมือนหญิงสาวถูกใช้งานหนักมีลูกถี่ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรงได้เหมือนกัน

กรณีจะใช้ปุ๋ยพืชสด มีข้อแนะนำว่า ต้องเป็นพืชตระกูลถั่วที่กำลังจะเตรียมจะให้ผลผลิต เพราะช่วงนี้ถือว่าพืชกำลังสร้างธาตุอาหารเพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่จึงทำการไถกลบได้เลย แต่หากรอเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจึงไถกลบจะทำให้ได้ปุ๋ยพืชสดที่ไม่มีคุณภาพ หรือ คุณภาพต่ำ

“ทุกวันนี้ในแต่ละปีขายปุ๋ยได้เกือบ 500 ตัน ราคาตันละ 2,000 บาท ในแต่ละปีได้เงินเป็นหลักล้าน เงินนี้เป็นเงินที่นำเข้าชุมชน และยังเป็นการสร้างงานให้ชุมชน และทำให้ผมเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องมีที่ดินเป็นร้อยเป็นพันไร่ ขอให้เรามีความคิดดี ๆ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ทำมาหาเลี้ยงชีพ ในสิ่งที่เราชอบอะไรก็ทำอย่างนั้น นำประสบการณ์ที่เราได้ไปแบ่งปันให้คนในชุมชนฟัง ถ้าหากเราคิดเป็นอะไรก็ทำได้” ปราชญ์สัมมาชีพกล่าว

ดอกผลแห่งภูมิปัญญา

จากความสำเร็จในการทำปุ๋ยอินทรีย์ ทุกวันนี้ลุงเปลี่ยนต่อยอดมาทำทรัพยากรที่แปรรูปมาจากธรรมชาติ ด้วยการสกัดน้ำมันตะไคร้หอม แล้วนำมาใช้ไล่ยุง หรือทำน้ำมันยูคาลิบตัสที่ทำมาจากเศษไม้ที่เหลือ ทำน้ำมันแคปซูนกระเทียมดอกคำใต้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยพะเยา ให้คำแนะนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด รายได้ต่าง ๆ ที่ลุงเปลี่ยนได้ ก็นำมาใช้กับสาธารณะ

 

 

ลุงเปลี่ยนได้นำรายได้จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อไปเจียดขอซื้อที่ดินประมาณ 2-3 ไร่ มาจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน สั่งสอนและสะสมภูมิความรู้ของคนในชุมชน

ลุงเปลี่ยนบอกว่า หลักคิดในการทำงานพัฒนาชุมชนและสังคมนี้น ยึดแนวทางว่า “สังคมชุมชนต้องยืดหยุ่นได้ ทรัพยากรธรรมชาติต้องอยู่ สิ่งแวดล้อมต้องสะอาด” การเรียนรู้ของชุมชนย่อมเกิดขึ้นได้จากการทำงานที่มีความสนุก (ม่วน) เรียนเรื่องใกล้ตัว วิธีธรรมชาติ ได้ความรู้จริง (ฮู้แต้) ได้ปฏิบัติ ทดลองด้วยตนเอง ได้เพื่อน (มีหมู่) เครือข่ายจากชุมชนอื่น ได้กินได้ใช้ (ได้กิ๋น ได้ใจ้) ทำเป็นเอง ได้ขาย และได้เงิน (มีตังค์) เพราะจัดการเป็น

“หลักการทำงานของตนเองคือต้องมีความพอเพียงด้านความคิด มีเท่าไหร่ ทำเท่านั้น อย่าทำเกินตัว ต้องหาความรู้ให้จะแจ้งก่อนค่อยลงมือทำ คิดก่อนทำ คิดให้ถ้วนถี่ว่ามีกำไรแน่แล้วถึงค่อยทำ ต้องทำน้อยให้ได้มาก ด้วยยึดหลักการสร้างมูลค่าและคุณภาพ”

ลุงเปลี่ยน ปราชญ์สัมมาชีพกล่าวกับ Thaiquote ก่อนที่จะจบบทสัมภาษณ์

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาดูงานสามารถติดต่อเพื่อเรียนรู้ได้ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบจังหวัดพะเยา โทรศัพท์ 086-1908654

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ปราชญ์จัดการน้ำแห่งตำบลดงขี้เล็ก ส่งเสริมสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน ลดปัญหา หลาก ท่วม แล้ง อย่างยั่งยืน
https://www.thaiquote.org/content/249185

“คาร์บอนเครดิต” มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน
https://www.thaiquote.org/content/249104

ชนบทมีความมั่งคั่ง หากพัฒนาถูกทาง ความยั่งยืนจะคืนมา
https://www.thaiquote.org/content/249035