“คาร์บอนเครดิต” มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน

by วันทนา อรรถสถาวร , 24 ธันวาคม 2565

“คาร์บอนเครดิต” จะเป็นกลไกสำคัญที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ เพื่อเป็นเครื่องมือนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อน และสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

 

เป็นที่รู้กันว่าปัจจุบันนี้เรื่องโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ทุกฝ่ายตั้งแต่ระดับรัฐบาล องค์กรเอกชน ตลอดจนบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างให้ความสำคัญและเร่งรณรงค์ให้โลกใบนี้ไม่ร้อนมากไปกว่านี้ด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก มีการดำเนินกระบวนการผลิตแบบใหม่เพื่อลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมให้มีพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งกิจกรรมส่วนนี้เรียกว่าการละ เลิก

นอกเหนือจากการส่งเสริมการหาพลังงานใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้แล้ว อีกหนทางหนึ่งคือมีความพยายามที่จะลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมการเผาไหม้ของทั่วโลกโดยการปลูกป่า เพื่อให้ป่าไปดักจับคาร์บอน สร้างเครื่องมือการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนที่เกิดจากการปศุสัตว์เป็นส่วนใหญ่ การรณรงค์ให้มีการแยกขยะ ส่งเสริมให้มีการรีไซเคิล สร้างเศรษฐกิจพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น กิจกรรมในลักษณะนี้เป็นการริเริ่มกิจกรรมลดโลกร้อน

การจะแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้ลดโลกร้อนนั้นต้องดำเนินการทั้งละ เลิก และ ริเริ่มที่สามารถวัดได้ ทั่วโลกจึงกำหนดมาตรวัดเป็น “คาร์บอนเครดิต”

Thaiquote ได้สัมภาษณ์คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO เพื่อทำความรู้จักกับคาร์บอนเครดิตอย่างถ่องแท้

 

คุณเกียรติชายเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า คาร์บอนเครดิตคือใบรับรองการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บ ได้จากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ “Project Base” หรือในระดับโครงการ ซึ่งลักษณะนี้เป็นกลไก “ภาคสมัครใจ” เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โครงการผลิตพลังงานความร้อนโดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โครงการปลูกป่าไม้และอนุรักษ์ป่า เป็นต้น ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของแต่ละมาตรฐานในการทำโครงการ

สำหรับประเทศไทย คาร์บอนเครดิต คือ ใบรับรองปริมาณความสำเร็จในโครงการที่สามารถลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการ ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกโดยคาร์บอนเครดิตจากโครงการมีหน่วยเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

เหตุผลของการจัดเก็บคาร์บอนเครดิต

คุณเกียรติชายบอกต่อว่า การจัดเก็บค่าคาร์บอนเครดิตมีส่วนสำคัญมากกับธุรกิจด้านการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ เพราะเป็นผลกระทบจากการกำหนดมาตรการภาคบังคับระหว่างประเทศ และมาตรการกีดกันทางการค้า อาทิ EU CBAM, US BCA ยกตัวอย่าง เช่น มาตารการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เป็นผลมาจากที่สหภาพยุโรปได้กำหนดเป้าหมายภายใต้มาตรการ EU Green deal ให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2050 โดยมีการกำหนดมาตรการต่างๆ ภายใต้กรอบนโยบายดังกล่าว และมีความต้องการยกระดับเป้าหมาย เรียกร้องให้ภาคพื้นอื่นขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรปผ่านมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (หรือการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนของสินค้านำเข้ามาในสหภาพยุโรป) เพื่อป้องกันการรั่วไหลคาร์บอน (Carbon leakage) จากการย้ายฐานการผลิตและเป็นไปตามกฎองค์การการค้าโลก (WTO)

  

 

TGO ได้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ โครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งเป็นกลไกที่ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตซึ่งสามารถนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม/สัมมนา งานอีเว้นท์ และบุคคล ได้ ปัจจุบันมีระเบียบวิธีการคำนวณฯ ทั้งสิ้น 52 ระเบียบวิธีการสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ghgreduction.tgo.or.th/th/tver-method/tvermethodology-for-voluntary-greenhouse-gas-reduction.html

ขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อ

คุณเกียรติชายบอกว่า หัวใจของการทำคาร์บอนเครดิตคือต้องสนับสนุนให้มีการจัดซื้อ โดยกระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การซื้อขายผ่านตลาดแลกเปลี่ยน (Exchange Market) ซึ่งการดำเนินการจะมีลักษณะการทำงานคล้ายๆ กับการซื้อขายในตลาดหุ้น ส่วนการซื้อขายแบบทวิภาคีหรือ Over-the-Counter: OTC ซึ่งเป็นการเจรจาซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยตรงระหว่างผู้รับซื้อกับผู้ขายซึ่งที่เป็นผู้พัฒนาโครงการต้องการขายคาร์บอนเครดิตของตนโดยโดยไม่ผ่านตลาด เป็นการดำเนินงานโดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ คือ

 

 

1 ผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งที่เป็นโครงการ CDM หรือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานต่างๆ เช่น T-VER, Gold Standard, Verified Carbon Standard (VCS) หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น VERRA, CCB Standard, Plan Vivo เป็นต้น

2 กรณีที่ไม่ได้เป็นผู้พัฒนาโครงการ จะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกของตลาด Exchange ก่อน ในฐานะของนายหน้า หรือ ผู้ค้า คือผู้ที่สามารถรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาดแรก (Primary Market) เพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้ซื้อที่เปิดบัญชีในตลาดรอง (Secondary Market) โดยมีลักษณะการทำงานคล้ายกับ Broker ของตลาดหุ้นโดยตลาดซื้อขาย แลกเปลี่ยน คาร์บอนเครดิต ที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ Inter Continental exchange, European Emission Allowances (EEX), European Climate Exchange (ECX), Climex เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย TGO กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกันพัฒนา Exchange Platform ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ชื่อว่า FTIX ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะสามารถเริ่มซื้อขายได้เต็มรูปแบบในต้นปี 2566

กิจการหรือกิจกรรมประเภทใดที่จะต้องมีการจัดซื้อ

ผู้อำนวยการ TGO เล่าว่า สำหรับผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตนั้น จะเป็นองค์กรภาครัฐ เอกชน สาขาการผลิตหรือการบริการใดก็ได้ อาจจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสนใจ โดยวัตถุประสงค์ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม โดยซื้อคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการชดเชยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม/สัมมนา หรืองานอีเว้นท์ และระดับบุคคล โดยกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายของไทย ดังภาพ

  

 

ส่วนในกรณีของต่างประเทศ ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นสาขาการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงๆ ซื้อไปเพื่อใช้บรรลุเป้าหมายตามพันธกรณีหรือผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมายซึ่งต้องมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ออกกฎหมายและเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยผู้ที่เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Legally binding target) อย่างไรก็ดีผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะถูกลงโทษหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมายของประเทศนั้นๆ

การจัดซื้อคาร์บอนเครดิตช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างไร

“การจัดซื้อคาร์บอนเครดิตนับเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อน โดยเฉพาะภาคสมัครใจเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับชุมชน และเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนให้เกิดการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกหลักที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แทนที่จะบริจาคเงินให้ชุมชนนำไปใช้ในการปลูกป่าโดยตรงเพียงอย่างเดียว องค์กรอาจช่วยรับซื้อคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับไว้ในเนื้อไม้ด้วย ทั้งนี้ รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจะกลับไปสู่ชุมชนเพื่อใช้ในการดูแลรักษาป่าต่อไป” คุณเกียตริชายกล่าว พร้อมกับเสริมต่อไปว่า

 

 

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ชุมชนมีการปลูกป่าอย่างจริงจัง เช่น ดูแลอัตราการรอดและการเจริญเติบโตของต้นกล้า ตลอดจนรักษาสภาพความเป็นป่าไว้เพื่อให้ดูดซับก๊าซเรือนกระจก จึงจะได้คาร์บอนเครดิตไว้ขายให้กับองค์กรต่อไป ดังนั้น หากมีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตเยอะๆ ก็จะเป็นแรงจูงใจทำให้มีผู้พัฒนาโครงการหรือกิจกรรมลดการปล่อยหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกและเกิดการรับรองคาร์บอนเครดิตมากขึ้น ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำที่สุดผ่านกลไกตลาดคาร์บอน

ผลการจัดเก็บคาร์บอนเครดิตในปีที่ผ่านมา

คุณเกียรติชายบอกว่า ในรอบปีที่ผ่านมา TGO ในฐานะที่เป็นหน่วยงานให้บริการ ดูแลและกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ ปริมาณการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในภาคพลังงานและป่าไม้ซึ่งเป็นภาคส่วนสําคัญ ในการสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดย TGO ได้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ โครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งเป็นกลไกที่ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตที่สามารถนําไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม/สัมมนา งานอีเว้นท์ และบุคคล ได้ ปัจจุบันมีโครงการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER รวมทั้งสิ้น 310 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดหรือกักเก็บได้รวมทั้งหมด 10,592,672 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และ TGO ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 13,514,836 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาก 136 โครงการ จากการรับรองทั้งสิ้น 266 ครั้ง

 

 

โดยคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER เริ่มมีการซื้อขายในตลาดภาคสมัครใจภายในประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน (พฤศจิกายน 2565) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1) ผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทหรือบุคคลที่ทำ CSR โดยเฉพาะในภาคการบริการ การเงิน และการท่องเที่ยว โดยซื้อคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการชดเชยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม/สัมมนา หรืองานอีเว้นท์ และระดับบุคคล หรือซื้อไว้เพื่อแลกเปลี่ยนถ่ายโอน รวมมีการซื้อขายทั้งสิ้น 1,986,877 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (คิดเป็นประมาณร้อยละ 14.70 ของปริมาณคาร์บอนเครดิตที่รับรองทั้งหมด) มาจาก 8 ประเภทโครงการ ได้แก่ ป่าไม้ ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ การนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ การผลิตสารปรับปรุงดินจากขยะอินทรีย์ และการนำ CO2 ที่ปล่อยสู่บรรยากาศกลับมาใช้ ซึ่งสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้พัฒนาโครงการ T-VER และกระตุ้นให้เกิดตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศโดยมีมูลค่าการซื้อขาย 151,829,551.84 บาท

2) ผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตจากต่างประเทศ คือ มูลนิธิ Zukunft des Kohlenstoffmarktes หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Future of the Carbon Market สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยและเอกชนที่ดำเนินโครงการ T-VER จำนวน 27 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้รับไปใช้สนับสนุนหรือขยายผลการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกหรือทำกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยและเอกชนเพิ่มเติม ซึ่งรวมปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ทำการยกเลิก (Cancel) จำนวน 255,482 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนของไทย มีรายได้เพิ่มจากการส่งมอบคาร์บอนเครดิต TVERs คิดเป็นมูลค่า 58,729,618.24 บาท และเป้าหมายในปีหน้าจะส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายและถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนภายในประเทศมากกว่า 600,000 tCO2eq ต่อปี

 

 

แนวทางการสนับสนุนของ TGO

ผู้อำนวยการ TGO กล่าวว่า สำหรับ TGO ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลสำเร็จ การรายงาน และการทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อย การลดหรือกักเก็บ และการชดเชยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาโครงการและตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

ภายใต้รูปแบบใหม่ TGO จะยกระดับการให้บริการผ่าน “TGO Service Platforms” ที่เน้นความรวดเร็ว เข้าถึงง่าย ทันสมัย และขับเคลื่อนการทำงานโดยยึด Motto ที่ว่า “Driving Ambition for Carbon Neutrality” ที่มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก โดยทำหน้าที่เป็น “Catalyst” หรือตัวเร่งสนับสนุนการยกระดับศักยภาพ และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนองค์กรภาคธุรกิจในการขับเคลื่อน การดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero ตามเป้าหมายของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเราให้ความร่วมวมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและคาร์บอนต่ำ ที่เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้แก่คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นหลังต่อไป.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ชนบทมีความมั่งคั่ง หากพัฒนาถูกทาง ความยั่งยืนจะคืนมา
https://www.thaiquote.org/content/249035

“คุณเจริญ รุจิราโสภณ” ผู้บุกเบิกธุรกิจด้วยหลักคิด ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน นำพา ส.ขอนแก่นขยายกิจการไปทั่วโลก
https://www.thaiquote.org/content/248887

หนุน SME เข้าสู่ ESG และ SDG ลดต้นทุน สร้างโอกาสและแต้มต่อให้ SME ไทยในห่วงโซ่ความยั่งยืน
https://www.thaiquote.org/content/248700