สธ. บังคับอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหาร

by ThaiQuote, 20 เมษายน 2562

กรมอนามัย บังคับใช้กฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ว่าด้วยการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหาร 25 เมษายนนี้ พร้อมย้ำผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่กรมอนามัยกำหนด ภายในเดือนธันวาคม 2563

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมสถานที่จำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมีหรือโลหะหนัก คุ้มครองสุขภาพผู้บริโภคและพิทักษ์สิทธิของประชาชนในการรับบริการด้านอาหาร รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบใน ร่างกฎกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามประกาศเป็นกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

โดยสาระสำคัญของกฎกระทรวงกำหนดในเรื่องการควบคุมสุขลักษณะสถานที่ขายนั้น ต้องดูแลให้ถูกต้องตั้งแต่จุดเตรียมอาหาร แสงสว่าง ที่ล้างมือ ห้องน้ำ ที่กำจัดขยะและน้ำเสีย วัตถุดิบก็ต้องมีความสด มีการจัดเก็บอย่างดี น้ำดื่มหรือน้ำที่เอามาใช้ทำอาหารก็ต้องสะอาด ส่วนน้ำแข็งที่ใช้กินก็ห้ามเอาหมู เอาผัก หรือเอาน้ำอัดลมลงไปแช่ จานชามช้อนส้อม ต้องสะอาดและมีการฆ่าเชื้อหลังทำความสะอาดด้วย ห้ามการใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการทำ ประกอบปรุงอาหารบริเวณโต๊ะรับประทานอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร ห้ามใช้เมทิลแอลกอฮอล์หรือเมทานอลเป็นเชื้อเพลิงในการทำ ประกอบ ปรุง หรืออุ่นอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร รวมทั้งต้องจัดให้มีมาตรการอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับป้องกันอัคคีภัยจากการใช้เชื้อเพลิงทำ ประกอบ ปรุงการเก็บรักษาและการจำหน่ายอาหาร น้ำใช้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด

“นอกจากนี้ คนขายหรือผู้ที่สัมผัสอาหารต้องมีสุขภาพแข็งแรงและต้องผ่านการอบรมหลักสูตร การสุขาภิบาลอาหารตามประกาศกระทรวงที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน 2562 นี้ด้วย โดยผู้ที่ประกอบกิจการสถานที่จำหน่ายอาหารและผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมภายในเดือนธันวาคม 2563 และต้องอบรมทบทวนเพื่อต่อใบอนุญาตใหม่ทุกๆ 3 ปี ซึ่งเป็นการอบรมเกี่ยวกับความรู้ตามสุขลักษณะในกฎกระทรวงทั้ง 22 ข้อ ประกอบด้วยความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารหรือการจัดการสถานที่จำหน่าย การจัดการอาหารวัตถุดิบ ภาชนะอุปกรณ์ เลือกล้างเก็บนำมาใช้อย่างไรไม่ให้ปนเปื้อน การจัดการด้านของเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น น้ำทิ้ง ขยะ สัตว์แมลงนำโรคต่างๆ และการดูแลสุขภาพอนามัยของคนปรุงคนเสิร์ฟที่เรียกว่าผู้สัมผัสอาหาร รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่ผู้สัมผัสอาหารทุกคนในประเทศไทยจะต้องได้รับการอบรม ฝึกปฏิบัติและหรือ สอบผ่าน” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ที่ผ่านมาราชการส่วนท้องถิ่นได้มีการดำเนินงานตรวจแนะนำร้านอาหาร จัดอบรมผู้สัมผัสอาหาร เพื่อสร้างความร่วมมือกันในพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นวิทยากรให้ความรู้และให้คำแนะนำมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นๆ ภาคเอกชน สถาบันที่มีความรู้ มีความสามารถจัดการอบรมผู้ประกอบการ ผู้สัมผัสอาหารได้อีกด้วย โดยผ่านการเห็นชอบจากกรมอนามัย ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับนี้ได้ตีความครอบคลุมสถานที่จำหน่ายอาหารที่เป็นอาคาร สถานที่ หรือบริเวณใดๆ ที่มิใช่ที่หรือทางสาธารณะ ที่จัดไว้เพื่อประกอบอาหารหรือปรุงอาหารจนสำเร็จ และจำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อสามารถบริโภคได้ทันที

ข่าวที่น่าสนใจ
แพทย์ชี้พฤติกรรมร้าย ทำให้เกิดภาวะสมองฝ่อ