เยี่ยม “ปอเนาะญาลันนันบารู” บำบัดผู้ติดยาด้วยหลักศาสนา

by ThaiQuote, 2 สิงหาคม 2562

ลงพื้นที่เยี่ยมเยือน ศาสนบำบัด “ปอเนาะญาลันนันบารู” อ.เทพา จ.สงขลา เรียนรู้การฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดด้วยหลักศาสนา


เรือท้องถิ่น 2 ลำ เคลื่อนเอื่อยไปตามคลองน้ำกร่อย นำพาคณะสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 ชีวิต เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่ความเชื่อทางศาสนาและความมุ่งมั่นตั้งใจมาบรรจบกัน เป็นหนทางสายใหม่ให้กับหลายๆ คนที่เลือกจะเข้ามาที่นี่


สถานที่ที่กำลังไปเยือนนี้ มีนามว่า ปอเนาะญาลันนันบารู ตามโครงการสื่อมวลชนสัญจรพื้นที่จ.ปัตตานี ระหว่างวันที่ 23-25 ก.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนโดย ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กำลังเป็นปัญหาในระดับภัยแทรกซ้อนที่กำลังเกิดขึ้น และยกระดับความรุนแรงทั้งการค้ายาเสพติดและผู้ติดยาเสพติด ที่ผ่านมา พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ทำการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และมีการมอบนโยบายการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 4 พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้


และในเรื่องแผนปฏิบัติการรวมพลังแก้ไขปัญหายาเสพติด คืนความสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการกำหนดแนวทางการบำบัดรักษาและแก้ไขปัญหายาเสพติดใน 5 ขั้นตอน โดยให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจังและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านการบำบัดรักษา ได้กำหนดเป้าหมายนำผู้ป่วยยาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในระบบปกติคือสถานพยาบาลของรัฐ และในระบบค่าย ทั้งในระบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และค่ายพักพิงเพื่อการบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยเลิกใช้ยาเสพติดและกลับคืนเป็นคนดีของสังคม

บาบอ (ครูใหญ่) อับบาส บิณอิบรอฮีม

บาบอ (ครูใหญ่) อับบาส บิณอิบรอฮีม


ในขณะเดียวกัน ภาคส่วนประชาชน อย่างปอเนาะญาลันนันบารู ศาสนบำบัดสำหรับผู้ติดยาเสพติด โดยใช้แนวทางหลักศาสนานำจิตใจ บาบอ (ครูใหญ่) อับบาส บิณอิบรอฮีม ผู้ดูแลปอเนาะแห่งนี้ ได้อธิบายความเป็นมาเป็นไปของการจัดทำกิจกรรมนี้ว่า โครงการนี้เป็นการคิดวางแนวทางของประชาชนอย่างแท้จริง ก่อนที่จะมีโครงการของภาครัฐเข้ามาร่วมสนับสนุนถึง 2 ปี


‘ผู้ที่มายังปอเนาะแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด มีการคัดกรองผู้ที่เข้ามาบำบัด แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้ประชาชนมีความหวัง จึงมีการประสานกับทางโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในพื้นที่ เพื่อดูแลการคัดกรองผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบจิตประสาทและถ่ายทอดความรู้ให้จิตอาสาในการช่วยงานการคัดกรอง และช่วยเหลือฟื้นฟูเยาวชน’
บาบอ อับบาส บอกเล่าความเป็นมาเป็นไป

สำหรับกฎเกณฑ์ปอเนาะนี้ มี 4 ข้อหลัก ได้แก่
1.เรายำเกรงอัลลอฮที่สุด
2.เรารักรอซูลลุ้ลอฮที่สุด
3.เรารักพ่อและแม่ของเราที่สุด
4.เราเกลียดยาเสพติดที่สุด

ซึ่งเป็นคำปฏิญาณของผู้ที่จะเข้ามาสู่สถานที่แห่งนี้ ทุกคน ทุกรุ่น รวมทั้งของชุมชนโดยรอบ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักในชีวิต


จากจุดเริ่มต้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่เมื่อปี 2556 และฝ่ายราชการ ไม่ว่าจะเป็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย (กฝผ.) จึงถือเป็นความโชคดีของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เรื่องทางออกจากวังวนปัญหายาเสพติด


การอบรมดูแลเยาวชนที่หลากหลายในการเข้ามารับการบำบัดด้วยศาสนา มีการดึงเอาผู้มีความรู้ด้านศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเป็นอิหม่าม และบุคลากร เช่นผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ก็มีส่วนเข้ามาร่วมทำงานร่วมกัน อีกทั้งยังร้องขอกำลังพลพื้นถิ่น อย่างบุคลากรที่มีความรู้ด้านสาธารณสุข เข้ามาประจำการดูแลเยาวชน ในปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ประจำทั้งสิ้น 7 นาย ผู้รู้ศาสนาอีก 6 ท่าน

‘ที่น่าสนใจของการรับบุคคลเข้ามารับการบำบัดในปอเนาะ เราพบว่า ไม่ใช้มีพียงเยาวชน หรือวัยรุ่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่ตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากยาเสพติด แต่เด็กที่อายุน้อยที่สุดในที่นี่ คือ 11 ปี ก็ตกเป็นผู้ใช้ยาเสพติดแล้ว และอายุมากที่สุดคือ 58 ปี โดยเราจะแบ่งเยาวชน 11-18 ปี ซึ่งประเมินแล้วว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติดมากเกินไป สามารถบำบัดให้หายขาดได้ ทำการแยกออกมาเพื่อให้ความรู้โดยเฉพาะ เราสามารถสร้างเสริมเขาได้ ทั้งให้ความรู้ตามข้อบังคับการศึกษาและหลักศาสนาไปพร้อมๆ กัน ถัดมาเป็นช่วงอายุ 20-40 ปี เฉลี่ยประมาณ 200-300 คน ขณะที่อายุ 40-60 ปี มีอยู่ 5 คน’


สิ่งที่น่าตกใจเมื่อมองจากคนนอก ที่เชื่อว่าปัญหายาเสพติดในพื้นที่ เกิดจากการขาดความรู้ ขาดการเอาใจใส่ในแง่มุมศาสนา รวมทั้งปัญหาความยากจน แต่ในความเป็นจริง บาบอ อับบาส บอกว่า เกิดจากปัญหาครอบครัวและเพื่อน ความผิดหวัง อีกทั้งอยากเป็นฮีโร่ และหลายคนมีความรู้ระดับสูง มีเงินทอง มีฐานะ และการติดยาในพื้นที่ คนที่ไม่ค่อยมีฐานะติดน้ำมันเบนซิน กระท่อม คนที่มีกำลังทรัพย์ก็จะติดยาเสพติดอีกระดับหนึ่ง

ทางออกของปัญหา จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยหลักศาสนา เน้นย้ำความเข้มแข็งของจิตใจ อีกทั้งในหลักศาสนาอิสลาม ชี้ย้ำว่า ถ้าจิตใจได้รับการกล่อมเกลาด้วยธรรมะ ก็จะมีจะเป็นคนดีได้ จึงเป็นปอเนาะเดียวที่แตกต่างกับที่อื่น ที่ใช้สถานที่ให้ความรู้เป็นที่บำบัดการติดยาเสพติด คนที่มารับการบำบัดจะต้องอยู่ในกฎที่ตั้งไว้ ใส่ใจในศาสนา อดทนอดกลั้นในการที่จะหวนกลับไปใช้ยา ค่าใช้จ่ายก็จะมีเพียงค่าอาหารเป็นหลัก


จากท่าเรือ เราใช้การเดินเท้าไปบนสถานที่ที่เป็นเกาะริมทะเล มีอาคารโล่งสำหรับทำกิจกรรม โรงครัว ที่ผู้บำบัดหลายคนขะมักเขม้นทำอาหารให้กับทุกๆ คนในปอเนาะ อาคารที่พักแบบเป็นทั้งส่วนที่เป็นผู้บำบัดไทยพุทธ มีอาคารนอนยาวสำหรับพี่น้องไทยมุสลิม ที่อาบน้ำกลางแจ้ง ลานกีฬาสำหรับผ่อนคลายและออกกำลังกาย

เวลาที่ไปถึงยังปอเนาะนั้น เป็นเวลาละหมาดประจำวัน สมาชิกทั้งหมดรวมตัวกันที่อาคารประชุมและเป็นสถานที่เรียนศาสนา เสียงให้การละหมดดังชัดเจน ท่ามกลางความตั้งอกตั้งใจในการปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อสวดรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า


แต่ในการสังเกต เห็นบางคนที่รับการบำบัด ใส่โซ่ล่ามขาไว้ ซึ่งได้รับการบอกเล่าว่า เหตุที่ต้องทำอย่างนี้ เป็นการป้องกันการหลบหนีของบางคนเท่านั้น กับอีกสาเหตุคือทะเลาะวิวาท จึงถูกจับใส่โซ่ให้คู่กรณีอยู่ด้วยกันตลอดเวลา จนกว่าจะสามัคคีกัน

‘เอ็ม’ หนึ่งในผู้รับการบำบัดที่มาไกลที่สุด จาก อ.แม่สอด จ.ตาก ชายหนุ่มอายุ 29 ปี หน้าตาคมสัน ร่างกายกำยำแข็งแรง ไม่น่าเชื่อว่าช่วงชีวิตหนึ่งเคยผ่านการใช้ยา เขาบอกเล่าว่า เคยใช้ยามาก่อนในช่วงวัยเด็ก แต่ได้หยุดไปครั้งหนึ่งแล้ว จนเมื่อเข้ามาใช้ชีวิตทำงานในกรุงเทพมหานคร ด้วยหน้าที่การงานที่มีความเครียด จึงหวนกลับมาใช้ยาอีกครั้ง และได้ถูกตำรวจจับกุมจากการเสพยาเสพติด


เอ็มเล่าต่อไปว่า ในความเป็นจริง ทางบ้านเขาสามารถประกันตัวออกไปได้ แต่ต้องการให้ตัวเขาเองสำนึกตัวในความผิดที่ทำลงไป และได้สัญญากับครอบครัวว่า เมื่อออกจากการคุมขัง เขาจะหันหลังให้มันและตั้งใจใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง บนหลักศาสนา

เวลาก่อน 40 วันที่เขามารับการบำบัดที่ปอเนาะ เขาตั้งใจอยู่กับการปฏิบัติ สำนึกในบาปที่ตนได้ทำลงไป และใช้เวลาอย่างจริงจังในการเรียนศาสนา ที่ทางผู้รู้เข้ามาสอนในแต่ละวัน


สำหรับกิจกรรมในแต่ละวัน เอ็มเล่าว่า ตี 4 เป็นเวลาตื่นนอนและทำการละหมาด ก่อนที่จะเป็นเวลาการเรียนศาสนาโดยอิหม่าม จากนั้นจึงเป็นเวลากินข้าวเช้า ก่อนที่จะเคารพธงชาติ พอ 11 โมงอาบน้ำ เพื่อละหมาดเที่ยง รับประทานอาหาร พักผ่อนตามอัธยาศัย ก่อนที่จะละหมาดเย็น เรียนศาสนา อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน และเข้านอนตอน 4 ทุ่ม

ส่วนในเรื่องของความต่าง เอ็มบอกว่า อยู่ที่นี่เขารู้สึกผ่อนคลายกว่าสถานที่บำบัดอื่นๆ ที่เคยผ่านมา ที่อื่นนั้นมีความกดดัน มีการทำกิจกรรมกลุ่ม สำหรับที่นีให้อิสระเต็มที่ โดยส่วนสำคัญอยู่ที่การเรียนหลักศาสนา และในแต่ละวันจะมีการอบสมุนไพรไล่สารเสพติดตกค้างในร่างกาย โดยแต่ละคนจะเข้ากิจกรรมนี้อย่างเต็มใจ





สุดท้าย เอ็มบอกว่า เขาตั้งใจจะอยู่ที่นี่ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีเป้าหมายคือการเข้าถึงหลักศาสนาอย่างลึกซึ้ง



ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
รู้จัก ‘ป่าพรุหนองจำรุง’ จากพื้นที่ตกสำรวจสู่แหล่งเรียนรู้ระดับประเทศ

#ปอเนาะญาลันนันบารู #ปอเนาะ #ศาสนบำบัดผู้ติดยาด้วยหลักศาสนา #บำบัดยาเสพติด