“ร้านชำ” โฉมใหม่ “พลิกแนวคิด ติดเทคโนโลยี” สู่ “สมาร์ทโชห่วย” ช่วยเศรษฐกิจชุมชน

by ThaiQuote, 1 กุมภาพันธ์ 2563

ถ้าพูดถึงร้านขายของชำหรือที่เราเรียกกันว่า “ร้านโชห่วย” หลายคนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นร้านค้าวิถีชุมชนที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานแล้ว แม้ว่าการเข้ามาของร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังใหญ่ๆ จะเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย แต่ก็มีร้านโชห่วยที่ยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง แม้จะเริ่มค่อยๆ แรงลงเรื่อยๆ ก็ตาม

สำหรับ “โชห่วย” คือ ร้านขายของชำ ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เป็นคำที่มาจากภาษาจีนแต้จิ๋วอ่านว่า โชวห่วย แปลว่า หยาบ พื้นๆ แปลว่าสินค้า สิ่งของ รวมกันจึงหมายถึงสินค้าพื้นๆ ที่ใช้กินใช้สอยประจำวัน โดยร้านขายของชำ สะดวกซื้อ สารพัดสิ่ง มักมีลักษณะอยู่ในตึกแถว มีขนาดต่างๆ กันตั้งแต่คูหาเดียวถึงหลายคูหา

โดยมากเป็นกิจการเล็กๆ กิจการในครัวเรือน สร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ใช้ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบัน มีจำนวนน้อยลงไปมาก เนื่องจากไม่ได้รับการปรับรูปแบบให้ทันสมัย และต้องเผชิญกับคู่แข่งยุคโมเดิร์นเทรดที่เป็นร้านสะดวกซื้อ ติดแอร์ รูปลักษณ์ทันสมัย มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย แถมเปิดตลอด 24 ชั่วโมงอีกต่างหาก

แต่จุดเด่นของร้านค้าชุมชนอย่าง โชห่วย ก็มีเสน่ห์ไม่น้อย ทั้งความสนิทชิดเชื้อและความเป็นกันเอง ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า ขอติดไว้ก่อนหากเตรียมเงินมาไม่พอ การขอเปลี่ยนสินค้าหากซื้อผิดไป รวมถึงถ้อยคำสนทนาปราศรัยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันเหมือนเป็นญาติสนิทมิตรสหายที่รู้จักการมายาวนาน ที่เราหาไม่ได้ในร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังสมัยใหม่ ที่มีอยู่กลาดเกลื่อนเมืองอย่างทุกวันนี้

ดังนั้นคำพูดที่ว่า “ค้าปลีกสมัยใหม่กำลังมาฆ่าโชห่วย” จึงมีทั้งส่วนที่ถูกและผิด อยู่ที่ว่าจะมองด้านไหน เพราะเราก็ไม่อาจปฏิเสธเช่นกันว่าในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการร้านโชห่วยหลายรายทยอยปิดตัวไปไม่น้อยเช่นกัน

ซึ่งหลายคนอาจคิดว่า “ร้านโชห่วย” กำลังถูกบีบให้ล้มหายตายจากไปจากสังคมไทยอย่างช้าๆ จากการเข้ามาของ “ร้านสะดวกซื้อ” แต่หากได้ดูสถิติ การเติบโตของร้านค้าโชห่วย เราอาจไม่คิดเช่นนั้น เพราะ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ประเทศไทยมี ร้านค้าโชห่วย 438,820 ร้าน ส่วนปี 2562 “เพิ่มขึ้น” เป็น 443,123 ร้าน

เมื่อเทียบ “ส่วนแบ่ง” ระหว่างร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ และไฮเปอร์มาร์เก็ต จะพบว่า ร้านโชห่วยมีสัดส่วนสูงสุดที่ 44.1% ตามด้วยร้านสะดวกซื้อ 31.8% ไฮเปอร์มาร์เก็ต น้อยสุดที่ 24.1%

และหากแบ่งตามภูมิภาคจะพบว่า “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็นภาคที่มี ร้านค้าโชห่วยกระจายอยู่มากที่สุดในประเทศถึง 34% ขณะที่ ภาคกลาง 22% ภาคเหนือ 16% ภาคใต้ 15% ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 13%

แต่ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันอย่างเข้มข้นของเหล่าร้านค้า ทั้งร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ และไฮเปอร์มาร์เก็ต ทุกคนล้วนต้องขยับตัวเพื่อตอบโจทย์และเอาชนะใจผู้บริโภคให้ได้

 

รัฐมุ่งพลิกโฉม “โชห่วย” ยกระดับสู่ “SMART โชห่วย”

ประเด็นนี้มาจากการที่ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดโครงการ “พัฒนาร้านค้าปลีกสู่ SMART โชห่วย” ซึ่งร่วมกับภาครัฐ เอกชน สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน รวมถึง ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกไทยในระดับท้องถิ่น ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค และผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน เพื่อเปิดตัวการพัฒนาร้านค้าชำให้กลายเป็น SMART โชห่วย ด้วยการพลิกกลยุทธ์ปรับร้านค้าเป็นโฉมใหม่กับแนวคิด “คนซื้อสะดวก คนขายจัดการง่าย” เช่น ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยจัดการระบบ แบ่งเบาภาระการบริหารจัดการ ขยายบริการ สร้างยอดขายเพิ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการชุมชน

แนวคิดดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงโครงการนามธรรม เพราะกระทรวงพาณิชย์ประกาศเอาจริง! ทั้งยังกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่าภายในปีนี้ จะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกับร้านค้าโชห่วยไม่ต่ำกว่า 30,000 ร้านทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้ร้านค้าประเภทดังกล่าวมีศักยภาพมากขึ้น สามารถเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

เปลี่ยน “โชห่วย” เป็น “สมาร์ทโชห่วย” แล้วดีอย่างไร?

ในแง่การปรับตัวของร้านค้าโชห่วยที่ภาครัฐและพันธมิตรความร่วมมือพยายามผลักดันผ่านโครงการนี้ ถูกวิเคราะห์มาจากปัญหาจริงของธุรกิจ พร้อมกับพัฒนาเป็นต้นแบบให้เห็นภาพความเป็นไปได้จริง ซึ่งหลักการพลิกโฉมของร้านค้าโชห่วยง่ายๆ คือเริ่มต้นจากแนวคิดที่จะทำให้ร้านค้าสะดวกกับผู้บริโภคมากที่สุด เช่น การจัดผังร้าน-เรียงสินค้าให้ง่ายต่อการค้นหา, การจัดโปรโมชันดึงดูดลูกค้า, การใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการให้เป็นระบบ อาทิ เครื่อง POS เพื่อช่วยบริหารสต็อกสินค้าและการทำบัญชี, การรับชำระสินค้าผ่าน QR code, การจำหน่ายสินค้าชุมชน หรือแม้แต่การเติมภาพลักษณ์ มุมกาแฟ และครัวชุมชน รวมถึงการเปิดจุดรับชำระค่าบริการเพื่อสร้างช่องทางรายได้ใหม่ๆ แก่ร้าน รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการขายแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง เป็นต้น

เขาพลิกโฉมยังไง? ให้ “โชห่วย” กลายเป็น“สมาร์ทโชห่วย”

ขณะนี้ภาครัฐและพันธมิตรภาคเอกชนได้บูรณาการทำงานร่วมกัน โดยมีความคืบหน้าไปในหลายด้าน เริ่มจากการสำรวจร้านค้าโชวห่วยทั่วประเทศที่มีความพร้อมจำนวนกว่า 30,000 ราย ซึ่งแบ่งเป็น 4 ขนาด คือ ขนาด SS มีพื้นที่ 1 คูหา (ประมาณ 20 ตร.ม.) หรือรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วน 56.2%, ขนาด S มีพื้นที่ 2 คูหา (ประมาณ 40 ตร.ม.) หรือรายได้ 30,000-50,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วน 21.7%, ขนาด M มีพื้นที่ 3 คูหา (ประมาณ 60 ตร.ม.) หรือรายได้ 50,001-100,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วน 12.6% และขนาด L มีพื้นที่มากกว่า 3 คูหา (มากกว่า 60 ตร.ม.) หรือรายได้มากกว่า 100,000/เดือน คิดเป็น 9.5%

โดยนำผลสำรวจมาจัดทำเครื่องมือการพัฒนาให้เหมาะสมกับร้านโชวห่วยแต่ละขนาด และวิเคราะห์เชิงลึกถึงจุดอ่อนที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาให้เป็นร้าน SMART โชวห่วย โดยกำหนดไว้ 5 แนวทาง คือ

1.) การปรับภาพลักษณ์ร้านค้าโชวห่วยให้เชิญชวนลูกค้ามาเข้าร้าน โดยกำหนดหลักสูตรให้ความรู้ พร้อมลงพื้นที่ร่วมกับพันธมิตรสถาบันการศึกษา, บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO), บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง จำกัด และสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย
2.) ส่งเสริมการนำเทคโนโลยี POS มาใช้เพื่อบริหารร้านค้า สำหรับร้านขนาด SS และ S เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากและถูกจำกัดด้วยงบประมาณในการลงทุน จึงได้ส่งเสริมให้ใช้โปรแกรม Mobile POS ซึ่งปัจจุบันทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่เป็น Smart Phone อยู่แล้วก็จะสามารถใช้อุปกรณ์ที่มีมาช่วยในการบริหารร้านได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก สำหรับร้านขนาด M และ L เป็นร้านขนาดกลาง-ใหญ่มีการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องมีเครื่องมือและโปรแกรมเพื่อบริหารจัดการได้แบบครบวงจรด้วยระบบ POS ผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) โดยให้คูปองส่วนลดจำนวน 10,000 บาท เพื่อซื้อโปรแกรมดังกล่าวได้ในราคาพิเศษ หากร้านขนาด S มีความพร้อมในการลงทุนก็สามารถใช้งานระบบและสิทธิประโชน์นี้ได้เช่นกัน
3.) ด้านการส่งเสริมการตลาด ร่วมกับผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายรายใหญ่ (Supplier) จัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับร้านค้าโชห่วยเพื่อนำสินค้ามาจำหน่ายในร้านด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
4.) เพิ่มรายได้ด้วยบริการเสริมจากการสนับสนุนของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยใช้พื้นที่ของร้าน SMART โชวห่วยเป็นจุดรับ-ส่งพัสดุ (Drop-off) รวมถึงเชื่อมโยงผู้ผลิตสินค้าชุมชน และ OTOP Select ให้นำสินค้ามาจำหน่ายในร้านซึ่งจะส่งผลดีตลอดทั้งวงจรของเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทั้งผู้ผลิตสินค้ามีโอกาสกระจายสินค้าได้มากขึ้น และร้านโชวห่วยก็จะมีช่องทางการเพิ่มรายได้
5.) การเข้าถึงเงินทุน ร้านโชห่วยจำเป็นจะต้องมีเงินทุนสำหรับลงทุนเพื่อประโยชน์ในระยะยาว จึงได้ร่วมกับสถาบันทางการเงินให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ร้านโชห่วยสามารถขยับขยายธุรกิจของตนเองให้เติบโตและมั่นคงได้

สำหรับแนวทางการดำเนินงานขั้นต่อไปจะเข้าสู่การนำเครื่องมือ 5 ด้านที่ได้กำหนดให้เหมาะสมกับร้านโชวห่วยแต่ละขนาดมาปฏิบัติจริง พร้อมกับลงพื้นที่จริงเพื่อเปลี่ยนร้านโชวห่วยแบบดั้งเดิมให้สำเร็จเป็นร้าน SMART โชวห่วยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความคล่องตัวมากขึ้น และที่สำคัญเจ้าของธุรกิจตัวเล็กๆ ในท้องถิ่นก็จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

อุปสรรคสำคัญของ โชห่วย ไม่ใช่ “คู่แข่งรายใหญ่”

ต้องยอมรับว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยาก แถมไอเดียที่ภาครัฐพยายามปลุกกระตุ้นให้ร้านค้าโชห่วยปรับตัวเช่นนี้ ก็ยังเป็นแนวทางที่เรียกว่าค่อยเป็นค่อยไป ปลุกร้านค้าลุกขึ้นปัดฝุ่นให้ตัวเองแต่ไม่ถึงกับต้องทุบร้านสร้างใหม่ เพราะเทคโนโลยีที่ว่ามาทั้งหมด ก็เป็นแนวทางที่ร้านสะดวกซื้อและไฮเปอร์มาร์เก็ตต้องมุ่งไปเช่นกัน แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคและทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นยากที่สุด ก็คือ การก้าวข้ามกรอบความคิดเดิม! สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงของร้านค้าโชห่วยแบบดั้งเดิม

ดังนั้น นอกจากแนะแนวทางแล้ว ภาครยังออกแรงัฐยังต้องออกแรงสุดตัว ผ่านการพัฒนาความรู้การบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ด้วย รวมถึงแนวทางการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร้านค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดทีมพี่เลี้ยงเพื่อช่วยให้คำปรึกษา ปรับภาพลักษณ์ให้ร้านค้า ทั้งยังมีบริการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การเชื่อมโยงสินค้า SME – OTOP และสินค้าชุมชนจากท้องถิ่น เพื่อจำหน่ายในร้านค้าเพื่อขยายช่องทางสร้างรายได้ทถือเป้นการพึ่งพาและช่วยเหลือกันระหว่างร้านโชห่วยและผู้ผลิตสินค้าโอท็อปในชุมชน ได้เติบโตไปพร้อมกันด้วย

จากสถิติการเติบโตของ “ร้านค้าโชห่วย” ที่ได้เห็น ประกอบกับแนวทางการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมของภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน ทำให้มั่นใจได้ว่า “เอกลักษณ์” ความเป็นร้านโชห่วยจะยังคงอยู่กับสังคมไทยไปอีกนานเท่านาน และยังมีโอกาสพัฒนาศักยภาพได้อีกยาวไกล ไม่แน่ว่าท้ายที่สุดเราอาจได้เห็น โชห่วยยุคใหม่ที่กลายเป็น “สมาร์ทโชห่วย” ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับชุมชน และเป็น “ฐานรากทางเศรษฐกิจ” ที่สร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยไปอีกยาวนานและยั่งยืน

คงต้องลุ้นกันว่า สมาร์ทโชห่วยที่ว่านั้นจะเป็นรูปเป็นร่างอย่างไรและจะสามารถคืนชีพหรือต่อลมหายใจให้โชห่วยบ้านเราได้หรือไม่ คงต้องติดตามและเอาใจช่วยกันต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :