ถอดรหัสที่ดิน “ส.ป.ก.” ในวันที่ไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกร

by ThaiQuote, 24 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ที่ดิน ส.ป.ก.กลายเป็นที่หมายตาของเหล่านายทุน ทั้งที่ความจริงที่ดินดังกล่าวมีเพียงเกษตรกรเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิ์ถือครอง ตั้งแต่กรณี ส.ป.ก.4-01 ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ถึง “เอ๋ ปารีณา” และ “สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ”

ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) พบว่า มีที่ดิน ส.ป.ก. ทั่วประเทศรวม 36,200,432 ไร่ แบ่งเป็นที่เกษตรกรรม 35,320,043 ไร่ ที่ดินชุมชน 395,570 ไร่ และที่ดินเอกชน 484,819 ไร่ และจังหวัดราชบุรีมีที่ดิน ส.ป.ก.อยู่จำนวนทั้งหมด 193,662 ไร่

ส.ป.ก.4-01 โด่งดังสุดขีดในสมัย “ชวน หลีกภัย” เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2535-2537 เมื่อฝ่ายค้านล็อคเป้าโจมตี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รมช.เกษตรฯ ในขณะนั้น ด้วยข้อหาใช้ช่องโหว่กฎหมายให้เครือญาติถือครองที่ดิน ส.ป.ก. จนเป็นสาเหตุให้ “รัฐบาลลุงชวน” ต้องยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่

ก่อนมาถึงคดีความของ “เอ๋ ปารีณา ไกรคุปต์” ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี “วีระ สมความคิด” เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ร้องให้ตรวจสอบการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. 682 ไร่

สำหรับคดีของ เอ๋ ปารีณา “นภดล ตันติเมฆิน” ผอ.สำนักกฎหมายสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ชี้แจงว่า “การถือครองที่ดินสปก. ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หากส่งคืนกลับให้ ส.ป.ก. ถือว่าตรงตามเจตนารมณ์ เพื่อให้ ส.ป.ก. จัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรต่อไป ไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย ส.ป.ก. เว้นแต่จะมีความผิดในที่ดินตามกฎหมายอื่นๆ ยืนยันว่าการดำเนินการเรียกคืนที่ดิน ส.ป.ก. ดำเนินการมาตรฐานเดียวกันทุกกรณี ไม่แตกต่างกัน” ซึ่งเท่ากับว่า เมื่อ ปารีณา ได้คืนที่ดิน ส.ป.ก.จำนวน 682 ไร่ แล้วก็เป็นอันจบกัน

 

ด้านคดีที่ดินของ “สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” มารดาของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เช่นเดียวกันกับ “เอ๋ ปารีณา” ก็ถูกร้องให้มีการตรวจสอบเช่นเดียวกัน และไม่ใช่จากใครที่ไหน เพราะ “เอ๋ ปารีณา” คือคนร้องให้ กมธ.ปปช. ที่มี “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” เป็นประธานให้ตรวจสอบ ภายหลังที่ดินของเธอได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว

โดยผลการตรวจสอบการถือครองที่ดินของ “สมพร” โดยเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้, กรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ราชบุรี เมื่่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 1,000 ไร่ จากทั้งหมด 3,098-1-27 ไร่ คงเหลืออีก 2,000 ไร่ โดยที่ผ่านมา “สมพร” ได้ถูกชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจ.ราชบุรี ไปแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อขอคืนที่ดินให้กับป่าชุมชนจำนวน 450 ไร่ ซึ่ง “สมพร” ได้คืนที่ดินแปลงนั้นในกับป่าชุมชนไป โดยไม่มีการดำเนินคดีความแต่อย่างใด

ภายหลังเหตุป่วนๆ ของคดีที่ดิน ส.ป.ก. ของนักการเมือง และเครือญาติ ไม่วายให้ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรฯ ในฐานะกำกับดูแล ส.ป.ก. ต้องเร่งตรวจสอบการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. อย่างผิดกฎหมาย และพบว่ามีนักการเมือง ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งคนใหญ่คนโต มีที่ดิน ส.ปก.อยู่ในครอบครองหลายรายด้วยกัน โดยข้อมูลดังกล่าวจะมีการเปิดเผยภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น

หากถามถึงเหตุผลว่า ทำไมที่ดิน ส.ป.ก. จึงถูกถือครองโดยกลุ่มบุคคลนักการเมือง และผู้มีอิทธิพลมากที่สุด ทั้งที่ความหมายที่แท้จริงของที่ดิน ส.ป.ก.คือ ที่ดินที่รัฐจัดให้แก่เกษตรกร ซึ่งไม่มีที่ดินของตนเองหรือมีที่ดินไม่เพียงพอต่อการครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตเท่านั้น

โดยเกษตรกรผู้ได้รับสิทธิ คือ ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก บุคคลที่ยากจน (รายได้ไม่เกินกว่า 15,000 บาทต่อคนต่อปี) หรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้ที่เป็นบุตรของเกษตรกร หรือผู้ที่ไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและต้องการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเกษตรกรแต่ละรายมีสิทธิในที่ดินไม่เกิน 100ไร่ ต่อราย ด้าน สถาบันเกษตรกร คือ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

บทเรียนราคาแพงของเกษตรกร ผู้มีสิทธิทำกินในที่ดิน ส.ป.ก.คือ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิต จนทำให้ที่ผ่านมาที่ดิน ส.ป.ก.ได้เปลี่ยนมือไปสู่กลุ่มนายทุนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการนำที่ดินดังกล่าวไปจำนอง ซื้อขายนอกระบบ เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียน หรือเปลี่ยนสินทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดิน ส.ป.ก.ให้กลายเป็นเงินทุน นี่จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนมือที่ดิน ส.ป.ก. ทั้งที่ห้ามไม่ให้มีการขาย จำหน่าย โอนกรรมสิทธิ์ให้บุคคลอื่นทุกกรณี.

ข่าวที่น่าสนใจ