มาตรการ “อยู่บ้าน” แต่ “ขยะ” มากตาม กับคนไทยที่ละเลย

by ThaiQuote, 23 เมษายน 2563

พวกเราควรมีความตระหนักรู้ในเรื่องการป้องกันภัยจากไวรัสโควิด-19 ในขณะเดียวกันก็ควรไม่ละเลย ควรมีจิตสำนักในการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เพราะ “คุณภาพสิ่งแวดล้อม เท่ากับ คุณภาพชีวิตเรา”


โดย...ธาราวิน พยัคชาติ


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID -19 รัฐบาลมีมาตรการล็อคดาวน์ให้ประชาชน “อยู่บ้าน ลดเชื้อ เพื่อชาติ” และสนับสนุนการทำงานจากบ้าน (Work From Home) ทำให้ผู้คนไม่น้อยหันมาสั่งซื้ออาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น เนื่องจากห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และบริการต่างๆ ถูกสั่งปิดการให้บริการภายในร้าน ยกเว้นการสั่งหรือซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน ปัญหาที่ตามมา คือ ขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียว ที่มากับสินค้ามีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงขยะติดเชื้อซึ่งเป็นขยะอันตราย


สำนักข่าว Thaiquote ได้มีโอกาสมาพูดคุยกับ ดร.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ตามมาจากนโยบายและคำสั่งของรัฐบาล ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID -19 ที่พบว่า การห้ามนั่งรับประทานอาหารภายในร้าน บรรดาร้านกาแฟงดรับแก้วส่วนตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้การใช้บรรจุภัณฑ์ไม่ว่า ถุง กล่อง แก้วพลาสติกพุ่งกระฉูด ล้มความพยายามของนักสิ่งแวดล้อมที่ได้รณรงค์กันมานานหลายปีที่ผ่านมาอย่างน่าเสียดาย ปริมาณขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 15-20% ซึ่งปริมาณขยะที่จะเพิ่มขึ้น ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย แต่ถามว่ามีมาตรการรองรับหรือไม่ ต้องบอกว่า “ไม่มี”

 

ดร.เพ็ญโฉม บอกว่า ตั้งแต่ปี 2557 ประเทศไทยกำหนดให้เรื่องขยะเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้มีการจัดการอย่างจริงจัง ด้วยการมีโรดแม็พและมีแผนแม่บทว่าด้วยเรื่องเฉพาะการจัดการบริหารขยะพลาสติก ซึ่งได้ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินงานได้ดีในระดับหนึ่ง ประชาชนเริ่มตื่นตัว เริ่มใส่ใจกับขยะพลาสติกและเริ่มลดการใช้พลาสติกอย่างต่อเนื่อง แต่พอเกิดโรคระบาด COVID -19 ขึ้น ทำให้สิ่งเหล่านี้หยุดชะงักไปโดยปริยาย ความรู้สึกของคนถูกดึงไปเรื่อง COVID -19 หมด ทำให้ละเลยการใส่ใจในเรื่องนี้ลง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็น คือ หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลหรือในส่วนของผู้บริโภคเอง ไม่ได้เข้มแข็ง เพราะไม่มีหน่วยงานใดเลยออกมารณรงค์ที่ให้ประชาชนใส่ใจระมัดระวังเรื่องการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่ควรละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม

 

 

 

“ความแล้วเรื่องขยะเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ใด มันต้องอยู่ในจิตสำนึกของพวกเราทุกคนอยู่แล้ว แม้บางครั้งมันจำเป็นจะต้องใช้จริงๆ แต่ต้องคิดว่าควรใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น อย่างการสั่งซื้ออาหารทางออนไลน์หรือซื้อของผ่านออนไลน์สูงมากในขณะนี้ โดยเฉพาะในช่วงล็อคดาวน์ รัฐควรประกาศหรือออกมาตรการให้ผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์ที่หลีกเลี่ยงพลาสติก หรือออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดรับกับนโยบายเรื่องการลดละถุงพลาสติก ซึ่งถ้ามีมาตรการเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง”

 

 

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมผู้นี้ ยังกล่าวถึงขยะติดเชื้อด้วยอย่าง “หน้ากากอนามัย” ว่า หากบอกว่ามีขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัยมีปริมาณมากถึงวันละ 10-20 ล้านชิ้น ก็ควรมีการรณรงค์คัดแยกทิ้งต่างหาก ต้องใส่ถุงพลาสติก 2-3 ชั้นและฉีดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อด้วย สิ่งนี้ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่า การใช้ถุงพลาสติก 2-3 ใบในการทิ้งหน้ากากอนามัย 2-3 ชิ้นนี้จะสมเหตุสมผลหรือไม่ ฉะนั้น การรณรงค์ให้ความรู้อย่างนี้ คิดว่ามันยังพร่องๆ อยู่ เราควรรณรงค์ให้มีการใช้สัญลักษณ์หรือแยกสีขยะติดเชื้อให้ชัดเจน เพื่อให้พนักงานเก็บขน คัดแยกได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เพราะการคัดแยกสามารถจะช่วยลดภาระของพนักงานเก็บขยะได้อีกทางหนึ่ง

 

 

 

“หน้ากากอนามัยที่ใช้กันอยู่จำนวนมาก อันดับแรกเลยจะส่งผลกระทบต่อพนักงานเก็บขยะ เพราะเท่าที่เห็นพนักงานเหล่านี้ยังไม่ได้มีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ สวมใส่ชุดทั่วๆไป และสวมเพียงหน้ากากอนามัยป้องกันเท่านั้น หน่วยงาน กทม. ควรดูแลป้องกันพนักงานมากกว่านี้ ชุดที่สวมใส่ ควรเป็นชุดที่ป้องกันการสัมผัสกับสิ่งปฎิกูล เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นผู้แพร่กระจายเชื้อในวงกว้างเสียเอง” ดร.เพ็ญโฉม กล่าวและว่า ภาครัฐควรมีเพิ่มการให้ความรู้กับประชาชนทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทาง สื่อโทรทัศน์ หรือทางโซเชี่ยล การคัดแยกขยะ หรือแยกทิ้งขยะหน้ากากอนามัยเพียงเท่านี้มันอาจจะยังไม่พอ แต่ควรจะแนะนำขั้นตอนการทิ้งที่สมเหตุสมผลและประหยัด รวมถึงต้องถูกต้องและปลอดภัยด้วย

สำหรับแนวทางลดขยะจากอาหารเดลิเวอรี่

1.ไม่ละเลย และมีจิตสำนึกในการลดการใช้ ถุง แก้ว พลาสติก อย่างต่อเนื่อง

2. มีการใช้สัญลักษณ์หรือแยกสีขยะติดเชื้อให้ชัดเจน เพื่อง่ายและสะดวกในการกำจัด

3. ชุมชนต่างควรสร้างระบบจัดเก็บขยะติดเชื้อ เพื่อความสะอาดและปลอดภัยในชุมชนเอง

4. ร้านอาหารควรใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

5. ซื้ออาหารที่พอเหมาะกับการบริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Food waste หรือขยะอาหาร

6. รณรงค์ให้ใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า เพื่อลดขยะติดเชื้อ

อย่างไรก็ตามในท้ายสุดนี้ พวกเราควรมีความตระหนักรู้ในเรื่องการป้องกันภัยจากไวรัสโควิด-19 ในขณะเดียวกันก็ควรไม่ละเลย ควรมีจิตสำนักในการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เพราะ “คุณภาพสิ่งแวดล้อม เท่ากับ คุณภาพชีวิตเรา”

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน “ยาแรง” สู้โควิด-19 ประเทศไทยมาถูกทาง?

พ้นโควิด-19 รากหญ้าจะผงาด ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ดัน "Local Economy" กู้ชาติ