ส่องข้อกังวลของ "สาทิตย์-หญิงหน่อย" ห่วงรัฐบาลใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ประเคน "ผู้รับเหมา-แบ่งเค้ก"

by ThaiQuote, 15 มิถุนายน 2563

เกาะติดอีกประเด็นทางการเมือง ส่องข้อกังวลของ "สาทิตย์-หญิงหน่อย" ที่ห่วงรัฐบาลใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ประเคน "ผู้รับเหมา-แบ่งเค้ก"


เริ่มร้อนมากขึ้นกับการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ-สังคม พลันที่สาทิตย์ วงศ์หนองเตย จากประชาธิปัตย์ และหญิงหน่อย จากเพื่อไทย สะท้อนห่วงการใช้เงินของรัฐบาล มันจะไม่ออกดอกผลอย่างดีที่สุด

“ถ้ารัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการ เงินกู้สี่แสนล้านจะได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่หวังไว้ และต้องไม่ลืมด้วยว่าเงินกู้มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมากกว่างบประมาณปกติ จึงต้องตรงเป้าที่วางไว้เรื่องสร้างงาน สร้างรายได้ ผมถามว่าไปทำถนนสร้างงานให้ใคร ถ้าไม่ใช่ผู้รับเหมา เผลอ ๆ แรงงานไม่ใช่คนไทยแต่เป็นพม่าด้วย เท่ากับไม่ได้สร้างรายได้ให้ชาวบ้านแต่รายได้เข้ากระเป๋าผู้รับเหมา"

ข้างบนคือข้อกังวลของ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาวิสามัญพิจารณา ติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และต้องยอมรับว่า ข้อทักท้วงของสาทิตย์ ย่อมเป็นเรื่องที่น่ารับฟัง

เหตุผลที่สาทิตย์ต้องออกมาแถลงข่าวที่รัฐสภาเมื่อบ่ายวันที่ 15 มิถุนายน ถึงประเด็นการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านของรัฐบาลในการฟื้นคืนเศรษฐกิจ-สังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือโคโรนา 2019 สิ่งที่สาทิตย์กังวลในฐานะที่สวมหมวกเป็นกมธ.ชุดนี้ คือ อยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายด้วยการปรับแนวทางเพื่อให้การใช้เงินก้อนนี้เกิดประโยชน์สูงที่สุด

สาทิตย์ สะท้อนถึงเหตุผลที่อ้างว่าเป็นความเห็นส่วนตัวถึงนโยบายการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านของหลากหลายกระทรวงที่ข้องเกี่ยว โดยพุ่งเป้ามาที่การเสนอโครงการแบบ "ล่างขึ้นบน" ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่มันกำลังจะก่อปัญหาให้แต่ละโครงการที่เสนอขึ้นมายังส่วนบนกลายเป็นโครงการ "เบี้ยหัวแตก" แต่ขณะเดียวกัน วิธีการที่ถูกต้องควรจะเป็น "บนลงล่าง" ที่น่าจะเป็นแนวทางการใช้เงินกู้ก้อนใหญ่ก้อนนี้ให้มีประสิทธิภาพมากกว่า

สาทิตย์ ยกตัวอย่างว่า แต่ละกระทรวงกำหนดแผนงานที่ชัดเจนตามวัตถุประสงค์การใช้เงินกู้ แล้วกระจายโครงการลงท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้อย่างแท้จริง และต้องเป็นไปในลักษณะ "ท็อปดาวน์" หรือบ้านเราก็จากบนลงล่าง รัฐบาลสั่งการไปหน่วยปฏิบัติใระดับพื้นที่ ทั้งจังหวัด อำเภอ แต่ละโครงการมีการระบุสเป็คอย่างชัดเจน เช่น การจ้างงาน ที่ต้องไปตามเป้าหมายของการใช้เงิน

"การสั่งการจากบนลงล่างจะลดขึ้นตอน เข้าเป้า ทันเวลา และมันเกิดการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว จะดีกว่าการให้ส่วนล่างเสนอขึ้นมาด้านบน เพราะทราบมาว่าบางโครงการมันอาจจะทับซ้อนกันในเรื่องการใช้เงิน เฉกเช่นว่า มีการนำโครงการที่ไม่ผ่านในงบประมาณมาเสนอขอใช้ในเงินกู้ ซึ่งไม่ได้ตรงตามวัตถุประสงค์พิเศษที่มีการกู้เงินมา" สาทิตย์ สะท้อนความเห็นส่วนตัว และย้ำอีกว่า สิ่งที่เสนอรัฐบาลจะทำตามหรือไม่ทำก็ได้ แต่กมธ.ชุดนี้จะประชุมนัดแรกกันในวันที่ 18 กันยายน 2563 และมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะทำหนังสือไปยังรัฐบาล ให้ปรับปรุงกระบวนการเสนอโครงการขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทใหม่ เพื่อให้ความเห็นเบื้องต้นก่อนที่จะมีการใช้เงินกู้

แต่จากประเด็นในย่อหน้าแรกที่สาทิตย์พูดถึงการใช้เงินที่อาจไม่ตรงเป้า เพราะนโยบายอาจไม่ตรงเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะตามความเห็นของส.ส.ตรังหลายสมัยผู้นี้ และจากข้อมูลล่าสุดที่เจ้าตัวได้รับ สะท้อนออกมาว่า ขณะนี้มีการนำเสนอเพื่อขอทำถนนในหมู่บ้าน ที่อ้างเหตุผลว่าต้องทำเพื่อรองรับการท่องเที่ยว

แต่ในความจริงแล้วการสร้างถนนในหมู่บ้านไม่ใช่เรื่องของแหล่งท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวที่ว่านักท่องเที่ยวก็ไม่รู้จัก หรือแม้แต่โครงการอ้างเกษตรก้าวหน้า แต่ขอเงินไปซื้อรถไถ เครื่องจักร ไม่ได้มีการเสนอโครงการที่จะเป็นการสร้างความรู้ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกร" สาทิตย์ กล่าว

ชุดข้อมูลล่าสุดสำหรับโครงการต่างๆ จากเว็บไซต์ ThaiMe ที่รวบรวมโครงการเสนอเพื่อใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่ข้อมูลทั้งหมดอยู่กับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ มีอยู่ทั้งสิ้น 34,263 โครงการ วงเงินทั้งหมด 841,269 ล้านบาท

อีกฟากฝั่งของทีมงานฝ่ายค้าน ที่นำมาโดยพรรคเพื่อไทย ก็ออกมากระตุกเรื่องนี้ถึงรัฐบาลเช่นกัน โดยเฉพาะกับ "คุณหญิงหน่อย" คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตรพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาโพสต์ข้อความถึงการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท และบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือการกำหนดทิศทางการใช้เงินก้อนนี้อย่างเรงด่วนและชัดเจน พร้อมกับแนะ 3 ทางในการใช้เงิน ประกอบด้วย

1.เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำเร่งด่วน

2. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว ว่าเที่ยวเมืองไทยปลอดโรค ปลอดภัย เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้ที่เข้ามาได้ทันที่

3. เพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทย ให้สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารปลอดภัย ป้อนประชากรโลก ที่ความต้องการอาหารปลอดภัยของคนทั้งโลกจะเพิ่มมากขึ้นหลังวิกฤตโควิด ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่มีฐานการผลิตด้านการเกษตรอยู่แล้ว

แต่ท้ายสุดของข้อความ คุณหญิงสุดารัตน์ ก็ยังไม่วายเหน็บรัฐบาลตามสไตล์ และบอกว่าค่อนข้างหนักใจและเป็นห่วงกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำกับเงินก้อนโตก้อนนี้ เพราะเหมือนว่าเป็นการโยนเงินกู้ก้อนมหึมาไปให้หน่วยงานเสนอโครงการมาแบบไร้ทิศทาง สะเปะสะปะ เช่น ทำถนนกว่าหมื่นโครงการ แต่โครงการแก้ปัญหาว่างงานมีแค่ 4 โครงการ โครงการแก้จน มีแค่8โครงการ ตอบไม่ได้ว่าจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร เป็นการเอาเงินกู้จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นหนี้ของประชาชนไปถลุงแจกหน่วยงานต่าง ๆ แบบแบ่งเค้ก


บทความอื่นที่น่าสนใจ

ส่องแผน 5 กระทรวงหลักยื่นขอใช้ “เงินกู้ 4 แสนล้าน” พุ่งเป้าจ้างงาน – ฟื้นฐานราก

ธอส.เตรียมลดดอกเบี้ยบ้าน ดูแลลูกค้าโควิด-19 ยื่นกู้ผ่านแอปฯ 2 วันรู้ผล!