ได้ดีหรือเสียหาย "ทราเวล บับเบิล" คนไทยต้องเข้าใจ หากให้ต่างชาติมาเยือน

by ThaiQuote, 25 มิถุนายน 2563

ส่องรูปแบบป้องกันโควิด-19 หากไทยเปิดเกม "ทราเวล บับเบิล" รัฐขอคนไทยให้เข้าใจหากต้องการรายได้ที่เข้ามา แต่หมอกยังห่วงการแพร่ของโรค

โดย....กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ประเด็นเรื่อง "Travel Bubble" (ทราเวล บับเบิล) หรือการจับมือระหว่างประเทศให้เดินทางระหว่างกันเชิงท่องเที่ยว โดยมีมาตรฐานการเฝ้าระวัง ป้องกันโควิด-19 ที่เหมือนกัน หรือใกล้เคียงกัน จะถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระหว่างนี้

นั่นเพราะแนวทางการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ จะเป็นหัวใจที่ประเทศไทยจะมีโอกาสนำรายได้เข้าประเทศ จากการท่องเที่ยว "บ้าง" เพราะที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันดีว่าเรายังปิดประเทศไม่ให้มีการเดินทางเพราะเกิดการแพร่ระบาด และรายได้จากการท่องเที่ยวอันมหาศาลในแต่ละปีที่เป็นกำไรหลักของประเทศ ก็อันตธานหายไปอีกด้วย

การรีสตาร์ทรายได้จึงจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องหยิบยกมาพูดคุย และแน่นอนว่า Travel Bubble ก็จะเป็นพระเอกเลยทีเดียวในการนำเงินเข้าสู่ทุกพื้นที่ของประเทศในการเดินทางท่องเที่ยว ทว่าการเดินตามเกมนี้ก็ต้องตรงตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องการ นั่นคือ "ความปลอดภัย" ของคนในประเทศเป็นสำคัญ

สถานะล่าสุดของ Travel Bubble นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าอยู่ในระหว่างการเจรจากับต่างประเทศ ที่ต้องมี "ข้อตกลงร่วมกัน" หากว่าการเดินทางเข้ามาจะต้องไม่ถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วันเพื่อเช็กอาการของโรค แต่อาจจะมีเงื่อนไข ว่าต้องมีการตรวจสุขภาพก่อนขึ้นเครื่อง หรือลงจากเครื่อง ให้ติดตามตัวได้ กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในยามที่อยู่ในประเทศ

แต่เสียงต้านเริ่มมีออกมาบ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความกังวลว่า เมื่อเราจัดการภายในประเทศได้เป็นอย่างดีแล้ว จนทำให้ไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศมานานถึง 1 เดือนเต็ม ๆ ซึ่งจะพบคนติดเชื้อในกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น เรายังต้องการจะเปิดประเทศต้อนรับต่างชาติอีกหรือไม่

เพราะหลายชาติก็ยังเกิดการระบาดที่แพร่กระจายอยู่ รวมถึงข้อหวั่นเกรงว่าจะมีการแพร่ระบาดซ้ำสองได้ กับการที่ประเทศไทยเดินหน้ามาจนแทบจะควบคุมโควิด-19 ได้อยู่หมัดอยู่แล้ว การเดินหน้าไปเสี่ยงอีกครั้งเพื่อรายได้ที่เข้ามาในประเทศ จะมีความคุ้มค่าเพียงพอหรือไม่

กระนั้นก็ตาม การจะเปิดการเดินทางแบบทราเวล บับเบิล คาดว่าจะใช้เวลาเร็วที่สุดคือตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป และแน่นอนว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศที่เราเคยมองว่าเป็นเป้าหมาย ไทยเองก็ต้องติดตามอย่างกระชั้นชิดหากว่าจะให้มาตรการนี้เดินทางไปอย่างสมบูรณ์ และปลอดภัยสำหรับคนในประเทศ

ข้อกังวลที่ว่าจะมีมาตรการใดมารองรับ หากว่าคนต่างชาติเดินทางเข้ามาในเชิงท่องเที่ยวแบบทราเวล บับเบิล ที่จะไม่ต้อง "กักตัว" เป็นเวลา 14 วัน สำหรับเรื่องนี้ รัฐบาลตีกรอบเอาไว้คือ การใช้แอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Digital Health Passport (DHP) หรือ หนังสือเดินทางสุขภาพ ที่จะตรวจสอบ ติดตามตัว ประเมินความเสี่ยง และแจ้งเตือนความเสี่ยงของโรค แต่ขณะเดียวกันก็จะยืนยันความปลอดภัยในการเดินทาง รวมไปถึงว่าแอปพลิเคชั่นนี้ ไม่ได้ละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล

 


เชื่อได้ว่าชั่วโมงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องการเรื่องนี้เหมือนกันเพราะหมายถึงรายได้ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ หรือในสัปดาห์หน้า ก็มีการคาดการณ์กันว่าจะมีการพูดคุยเรื่อง ทราเวล บับเบิลในวงประชุมชุดใหญ่ของ ศบค.ด้วยเช่นกัน และคงมีความชัดเจนตามมาว่ารูปแบบจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไรหากเราจะเดินตามแนวทางนี้

เหนืออื่นใดสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง คือว่า "พื้นที่ใด"ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวไปเยือน จะเป็นเมืองหลัก หรือเมืองรอง แต่ที่ต้องใส่ใจคือคนในท้องถิ่น จะต้องเข้าใจและพร้อมต้อนรับด้วยเช่นกัน และสังคมไทยน่าจะได้เห็นแนวทางที่ชัดเจนหลังวงประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้


ข่าวที่น่าสนใจ

ว่าด้วยเรื่อง Travel Bubble ที่“หมอ” ขอห้าม แต่“รัฐ”ก็อยากฟื้นเศรษฐกิจ

 "สมคิด-อุตตม" ผนึก ธ.ก.ส. สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่จากพิษโควิด-19 หนุนสินเชื่อดอกเบี้ย 0.01%