เปิดปูมหลัง 4 เลือดใหม่ คุม พปชร. “บิ๊กป้อม-เสี่ยแฮงค์-อ.แหม่ม-บุญสิงห์”

by ThaiQuote, 27 มิถุนายน 2563

ส่องปูมหลัง 4 ตำแหน่งใหญ่ “พลังประชารัฐ” ทั้ง “บิ๊กป้อม-เสี่ยแฮงค์-อ.แหม่ม-บุญสิงห์” ประวัติแต่ละคน ไม่ธรรมดา

โดย...กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ไม่ได้พลิกโผอะไรมาก สำหรับการประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ไฮโลท์หลักคือการประกาศว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ จะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ที่ปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ก่อตั้งพรรค ตั้งรัฐบาล และบริหารการเงินการคลังของประเทศในนามของพรรคเช่นกัน

แต่ชื่อตามตำแหน่งที่สมาชิกพรรคพลังประชารัฐจะต้องโหวตเลือก เหมือนกันกับการเลือกพล.อ.ประวิตร ไปเป็นหัวหน้าพรรค คือตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” “เหรัญญิกพรรค” และ “นายทะเบียนพรรค” ผลปรากฏว่า ตำแหน่งตามลำดับปรากฏชื่อเป็น “อนุชา นาคาศัย” “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์“ และ “บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์”

 

 


บางชื่ออาจจะคุ้นอยู่บ้าง บางชื่อเกิดเครื่องหมายคำถามว่า “ใคร” แต่ทั้งหมดคือ 4 อรหันต์ใหม่ที่จะมาทำงานในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งคนไทยในฐานะที่ต้องติดตามการเมือง ก็ไม่แปลกที่จะต้องทำความรู้จักกันบ้าง และ ThaiQuote ขอเอาประวัติของทั้ง 4 คน นำมาให้ผู้อ่านได้ทรรศนากัน

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก้าวแรกของนักการเมืองเต็มตัว

 

 

- ไม่ต้องสืบประวัติให้มากกับผู้มากบารมีในวัย 75 ปี เพราะ พล.อ.ประวิตร พาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละสถานการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะการถูกเลือกใช้งานเมื่อยามที่เกิดการปฏิวัติ เพียงแต่ว่ารอบนี้ นับตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 และเซ็ตอัป “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช.ขึ้นมา ชื่อของ พล.อ.ประวิตร ก็เข้ามาทำงานร่วมกับน้องรักมาตลอด และยาวนานมาถึงปัจจุบัน

ก่อนที่จะได้สวมรอยเป็น “นักการเมืองประชาธิปไตย” เมื่อตัดสินใจมาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ คอยคุมการเลือกตั้งให้กับพรรค หลังประกาศอย่างชัดเจนในขณะนั้นว่าพรรคเลือดใหม่ที่ชื่อพลังประชารัฐ จะหนุนนำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ ต่อไปเมื่อสิ้นสุดอำนาจของ คสช.

จากนั้น หน้าที่หลักของ พล.อ.ประวิตรในพลังประชารัฐ ก็คอยคุม และพูดคุยกับบรรดา ส.ส.ในพรรค ที่เป็นนักการเมืองอาชีพ เหมือนกับว่าถูกวางตัวให้ดูแลคนของพรรคให้ดี ส่วนงานนโยบายก็ปล่อยให้ทีม 4 กุมารเดินหน้าทำงาน แต่สุดท้ายก็ได้มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และถือเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประวิตร ก้าวเข้ามาทำงานพรรคการเมืองเต็มตัว หลังจากทั้งชีวิตทหาร ชีวิตนักการเมือง เขาไม่เคยเข้าไปข้องเกี่ยวเลยแม้แต่ครั้งเดียว

“เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย “พ่อบ้านพลังประชารัฐ”

 


- ตำแหน่งสำคัญของพรรคการเมือง นอกจากหัวหน้าพรรค คงหนีไม่พ้นหน้าที่“เลขาธิการพรรค” และพลังประชารัฐเลือกให้ “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย นักการเมืองมากประสบการณ์ และเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มสามมิตร กลุ่มการเมืองกลุ่มใหญ่ในพลังประชารัฐที่เริ่มจะคืบครองอำนาจภายในมากขึ้นเรื่อย ๆ

กระนั้น อนุชา แม้ว่าจะเหมือนอกหักเล็ก ๆ เพราะไม่มีตำแหน่งในขวบปีแรกที่พลังประชารัฐชนะเลือกตั้งและได้ทำงาน แต่ความไว้วางใจที่มีเป็นทุนเดิมก็ยังคงอยู่กับพรรคไม่ไปไหน กระทั่งมาได้ตำแหน่งใหญ่หลังพ้นไป 1 ปี และถือเป็นตำแหน่ง ที่กลุ่มสามมิตร “ต้องการ” อย่างมาก และคอการเมืองยังวิจารณ์ด้วยว่า แรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐที่ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นจนนำไปสู่ความวุ่นวาย ก็เพื่อต้องการให้ “เสี่ยแฮงค์” ได้ตำแหน่งเลขาธิการพรรค

ปัจจบัน อนุชา เป็น ส.ส.ของพรรค พื้นที่ชัยนาท แต่ก่อนหน้านั้นเขาเองก็ช่ำชองการทำงานพื้นที่ โดยประวัติก็ไม่ธรรมดา เมื่อปี 2550 เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไป 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบพรรคไปก่อนหน้าหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม อนุชา นับว่าเป็นนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย ทุกพรรค ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของกลุ่มสามมิตรที่คุยได้กับทุกฝ่าย

“อาจารย์แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เช็กคลังการเงินได้เป็น “เหรัญญิก”

 


- ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” หรืออาจารย์แหม่ม กลายเป็นภาพลักษณ์สำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเสียแล้ว เพราะขณะนี้เธอทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่คอยเป็นกระบอกเสียงสำคัญส่งต่อจากรัฐบาลไปยังประชาชน

ก่อนหน้านั้น อาจารย์แหม่มที่เป็นทั้งนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และบริหารองค์กรการเงินหลายแห่ง ก่อนจะขยับเข้ามาทำงานการเมืองเพราะแววดี มีความสามารถ และถูกดึงเข้าร่วมทีมเศรษฐกิจของ คสช.ในขณะนั้น ด้วยตำแหน่งผู้ช่วย รมว.คลัง และเมื่อเลือกตั้งเสร็จสิ้นพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาล นฤมลจึงได้ตำแหน่งใหญ่เป็นโฆษกรัฐบาล ส่วนตำแหน่งในพรรคก็ได้เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพลังประชารัฐ

แต่ภาพล่าสุดก่อนประชุมใหญ่พรรคราวเกือบ 1 สัปดาห์ อาจารย์แหม่มก็เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มกว่าสิบชีวิตของรักษาการกรรมการบริหารพรรคที่ไปส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประวิตร ถึงที่มูลนิธิป่ารอยต่อ และตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่าเธอยังคงเป็นกำลังหลักในยุคการบริหารพรรครูปแบบใหม่ที่มี พล.อ.ประวิตรกุมบังเหียน ด้วยตำแหน่งดูแลการเงินของพรรค “เหรัญญิก” ที่ว่ากันว่าเป็นตำแหน่งใหญ่พอตัวเลยทีเดียว


“มือขวาผู้กอง” บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ นายทะเบียน มือกฎหมาย พปชร.คนใหม่

 


- แวบแรกที่เห็นชื่อ “บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์” ก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า “เขาเป็นใคร” แต่ท้ายสุดเมื่อมองให้ดี ในแต่ละครั้งที่มีการประชุมพรรคพลังประชารัฐ หากว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ตำแหน่งในพรรคคือกรรมการบริหาร ติดภารกิจมาประชุมไม่ได้ เราจะได้เห็นภาพบุญสิงห์ ทำหน้าที่แทนในทุกครั้ง

บุญสิงห์ เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค และยังเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย รวมไปถึงยังเป็นมือกฎหมายชั้นเซียนที่ทำงานใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส ผลงานการลงพื้นที่เลือกตั้ง ส.ส.ภาคเหนือตอนล่าง คนที่น่าจะได้เครดิตด้วยก็ต้องมีชื่อของบุญสิงห์ และเป็นที่ทราบกันดีว่าบุญสิงห์ คือคนที่ทำงานใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส

ที่ผ่านมาบุญสิงห์มีประสบการณ์ทำงานทางการเมืองมาบ้าง โดยเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองจากการเมืองท้องถิ่น ด้วยการเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ในปี 2543 เรื่อยมา ส่วนงานสภาใหญ่ของประเทศก็มีบ้าง เคยดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา ในปี 2553 และเคยเป็นเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ในปี 2559 - 2561

ก่อนที่ชีวิตของบุญสิงห์จะก้าวกระโดดในอาชีพนักการเมืองมากที่สุด เมื่อก้าวขึ้นเป็น ส.ส.ในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ลำดับที่ 13 ก่อนที่ล่าสุดจะได้งานใหญ่เป็นนายทะเบียน ที่ต้องเชี่ยวและชาญในงานด้านกฎหมายอีกด้วย

 

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

ตามคาด “บิ๊กป้อม” ผงาด พปชร. “เสี่ยแฮงค์” พ่อบ้าน “อาจารย์แหม่ม” จัดการเงินทอง

สวนแนวทาง พปชร. โพลชี้ “อุตตม-สนธิรัตน์” ซื่อสัตย์สุจริตที่สุด