เปลี่ยนน้ำเสียเป็นน้ำดี "ระบบบริหารน้ำอัจฉริยะ" ทางออกของ EEC

by ThaiQuote, 2 กรกฎาคม 2563

“น้ำ” จะเป็นหัวใจหลักที่ตัดสินในการลงทุนใน EEC เมื่อเป็นเช่นนั้น หน้าที่หลักคือการ "หาน้ำ"มาเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรม และพวกเขากำลังเริ่มใช้ "น้ำเสีย" มาเป็น "น้ำดี" เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

หากเรามองว่า "น้ำ"คือทุกอย่างของชีวิต และในทางตรงกันข้าม "น้ำ" ที่เสีย ไม่สามารถใช้งานได้ ก็ทำลายชีวิตและสรรพสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

แต่ทว่า จะดีแค่ไหน หากเรานำ "น้ำเสีย" กลับมาใช้ได้ และจะทำให้ต่อยอดชีวิตได้อีกหลายคน และสภาพแวดล้อมให้ไม่ถูกทำลายจากน้ำเสียอีกต่อไป

การตั้งคำถามว่าการนำน้ำเสียกลับมาใช้งาน สำหรับประเทศไทยไม่ได้คิดเพียงอย่างเดียว หากแต่หลายองค์กรทั้งรัฐ และเอกชน ก็มองถึงเรื่องนี้และลงลึกในการทำให้เกิดขึ้นจริง อีกทั้ง ส่วนหนึ่งก็ต้องการแก้ปัญหา "น้ำ" ที่ขาคแคลนอยู่เป็นประจำจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทุกที

ยิ่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวกับคนไทยทั้งประเทศเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่าปัญหาน้ำกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ทั้งฝนที่ไม่มาตามนัด อากาศที่ร้อนระอุมากขึ้น การวางแผนเพื่อหาน้ำจึงเป็นงานหลักของรัฐบาลแทบทุกชุด

แต่พื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กำลังเดินหน้าเพื่อใช้ "น้ำเสีย" ให้กลับมาเป็น "น้ำดี" ที่จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ให้พร้อมสำหรับพื้นที่ที่จะเติบโตยิ่งใหญ่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจชาติ และคนไทยทั้งประเทศ แต่พวกเขาก็ต้องจัดการน้ำให้ได้อย่างเพียงพอ

ปัญหาน้ำไม่เพียงกระจุกปัญหาเอาไว้ในภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ในภาคอุตสาหกรรมเคยเกิดวิกฤตมาแล้วในปี 2548 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี และจากนั้นก็ทำให้ภาคอุตสาหกรรมตื่นตัวอย่างจริงจัง กระทั่งมองเห็นว่าน้ำเสีย น่าจะมีคุณค่าในการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อทดแทนแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำประปา ซึ่งเมื่อทำได้ จะสะท้อนมายังความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่จะได้มั่นใจว่าไม่มีปัญหาเรื่องน้ำมาทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักลง

ผลที่ว่า และการนำของทีมบริหารบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ก้าวข้ามขีดจำกัดของการใช้น้ำได้สำเร็จ โดยนับตั้งแต่เกิดวิกฤตภัยแล้งอย่างรุนแรงในปี พ.ศ.2548 อมตะได้ดำเนินการพัฒนาด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนอย่างจริงจัง บนพื้นฐานที่มีข้อมูลการพยากรณ์อากาศที่ดี การวิเคราะห์แหล่งน้ำทางเลือกต่างๆ ทั้งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน การรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ และการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การสร้างสมดุลของการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy System) ด้วยการจัดการน้ำโดยใช้หลัก 3Rs (Reduce Reuse and Recycle)การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนการผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย การสร้างศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบในทุกๆ มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดการจัดการแบบ “ALL WIN”

ทำให้ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมอมตะ มีระบบบำบัดน้ำเสียและการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ภายในนิคมถึง 5 สถานี มีกำลังการผลิตน้ำเสียทั้งหมด 35,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ระบบการหมุนเวียนน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมดสามารถประหยัดหรือลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำได้ถึง 35-40% หรือเท่ากับการนำน้ำดิบ 1 ลูกบาศก์เมตร มาใช้ได้เท่ากับ 1.4 ลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้อมตะฯ ยังได้นำระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพที่พัฒนาขึ้นดังกล่าวไปใช้กับนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาขึ้นในประเทศเวียดนาม พม่า และลาว โดยมีเป้าหมายในการประหยัดน้ำหรือลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเช่นกัน

แนวทางนี้ถูกนำมาใช้ในพื้นที่ EEC ด้วยเช่นกัน และสอดรับกับที่ รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมือง

โดยการใช้นำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ EEC” ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า “น้ำเสีย”จากภาคอุตสาหกรรม จะเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ของ EEC ที่สำคัญ นำมาใช้ทดแทนน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งได้ดี โดยแนวทางที่จะช่วยให้การจัดการทรัพยากรน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การใช้ 3Rs (Reduce Reuse and Recycle)

โดยจากการวิจัยเบื้องต้น พบว่า ในปี 2563 พื้นที่ EEC มีนิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการประหยัดน้ำโดยได้ดำเนินการโครงการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรีและระยอง ประมาณ 40% และที่มากกว่า 15% ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ศรีราชา, นิคมอุตสาหกรรม WHA ตะวันออก, นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นต้น

นอกจากนี้ผลการสำรวจ พบว่า ประเภทของอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมากในพื้นที่ EEC มีศักยภาพในการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 15% อาทิ กลุ่มสิ่งทอมีศักยภาพประหยัดน้ำได้ 15-49.5%, กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีศักยภาพประหยัดน้ำได้ 15-37%, กลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะและยางประหยัดน้ำได้ 18-55%, กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ประหยัดน้ำได้ 16-34% , กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มประหยัดน้ำได้ 15-18% และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ประหยัดน้ำได้ 15 %

มุมมอง “น้ำเสีย”จากนี้ จะเปลี่ยนไป เมื่อน้ำเสีย จะกลายเป็นแหล่งน้ำจืดในอนาคต เทคโนโลยีการจัดการน้ำตัวช่วยในการยกระดับน้ำเสียให้เป็นน้ำใส การรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ คือความหวังของอุตสาหกรรม เพราะโอกาสของ EEC อยู่ที่ความมั่นคงด้านน้ำ

ขอบคุณข้อมูล Thaipr

 

เรื่องที่น่าสนใจ

ไร้ปัญหาสิ่งปนเปื้อน ด้วย “ชุดทดสอบคุณภาพน้ำ” ง่าย รวดเร็วและแม่นยำ

จบกีฬาสี ! “หงา คาราวาน” ร่วมยินดี “ทอม ดันดี” รีเทิร์นร่วมงาน “วงซูซู”