”คน-ช้าง-ควาย” ต่างที่เผ่าพันธุ์ แต่ความสัมพันธ์คือสายใยของครอบครัว

by ThaiQuote, 9 กรกฎาคม 2563

โดย...คเชนทร์ พลประดิษฐ์

จากกรณีที่ PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) องค์กรด้านพิทักษ์สัตว์ รายงานข้อมูล กรณีของการใช้ลิงในอุตสาหกรรมมะพร้าวและกะทิของไทยว่าถูกปฏิบัติไม่ต่างจากเครื่องจักรเก็บมะพร้าว โดยลิงตัวผู้จะถูกฝึกให้เก็บมะพร้าววันละกว่า 1 พันลูก นอกจากถูกฝึกให้เก็บผลไม้แล้ว ลิงบางส่วนยังถูกฝึกให้ปั่นจักรยาน และเล่นบาสเก็ตบอล เพื่อความบันเทิงของนักท่องเที่ยวด้วย

จนกระทั่ง กลุ่มคนเลี้ยงลิง หรือครูสอนฝึกลิง ในพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี ออกมาตอบโต้เรื่องดังกล่าวว่า การเลี้ยงลิงและฝึกลิง นั้นเป็นวิถีชีวิตซึ่งสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น มากกว่า 100 ปี และการเลี้ยงลิงดังกล่าวนั้นไม่ใช่การทารุณ หรือ ทรมานสัตว์แต่อย่างใด และการเลี้ยงดูลิงนั้น ก็ไม่ต่างจากการเลี้ยงดูบุตรหลาน หรือคนในครอบครัว

เช่นเดียวกันที่ผ่านมาในอดีต มีสัตว์เลี้ยงที่ข้องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของคนไทย จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว จนกระทั่งปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ความผูกพัน ที่ไม่ใช่การทรมานสัตว์

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่ “ช้าง” ยังต้องอยู่คู่ “ชาวกูย”

ชาวส่วย หรือ ชาวกูย เลี้ยงช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชีวิตประจำวันของพวกเขาผูกพันกับช้าง “มารุต แสนดี” คนเลี้ยงช้างชาวกูย แห่งหมู่บ้านตากลาง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ก็เป็น 1 ในนั้น ชีวิตที่ดำเนินอยู่ในจารีตประเพณีของกลุ่มชาติพันธ์ที่มีช้าง เป็นเหมือนคนในครอบครัว จึงทำให้ “มารุต” ผูกพันกับช้างมาตั้งแต่จำความได้ ตัว “มารุต” เอง ก่อนหน้านี้มีช้างอยู่ 2 เชือก แต่ล้มไปแล้ว ขณะที่ปัจจุบันครอบครัวของเขามีช้างเหลืออยู่ 4 เชือก ซึ่งเป็นของพี่สาว และเป็นช้างที่อยู่ในโครงการ “คชอาณาจักร”

“ทุกวันตื่นขึ้นมาเราอยู่กับช้าง ตั้งแต่เช้า เก็บขี้ช้าง อาบน้ำ ตัดหญ้าให้กิน หากช้างยังเล็กก็ฝึกช้าง เมื่อช้างใหญ่ก็ฝึกแสดงความสามารถรับนักท่องเที่ยว นี่คือวิถีชีวิตปัจจุบัน” มารุต กล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวหมู่บ้านตากลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นคนเลี้ยงช้าง

การพูดคุยกับ “มารุต” ทำให้เรารู้ว่า ในอดีตช้างสุรินทร์ จะแตกต่างจากช้างลากไม้ในภาคเหนือ ช้างสุรินทร์ ทำงาน ที่เรียกว่า “ช้างเร่” คือการออกไปเร่ขายเครื่องประดับที่มาจากช้าง เช่น งา ขนหาง เป็นต้น หรือให้คนมาสะเดาเคราะห์ลอดท้องช้าง ก่อนจะมาถึงยุคที่เราเห็นช้างเดินเร่ร่อน ขายกล้วยขายอ้อย ในกทม.เพื่อเลี้ยงครอบครัวคนเลี้ยงช้าง

“มารุต” เล่าให้เราฟังว่า วันนี้วิถีคนเลี้ยงช้างเปลี่ยนไปจากเดิม เขาไม่ต้องออกไปเร่ร่อนไกลบ้านอีกแล้ว เมื่ออยู่ในโครงการ “คชอาณาจักร” ช้างมีที่อยู่ที่กิน เป็นหลักแหล่ง มีรายได้แน่นอน บางเดือน อาจมีรายได้ถึง 15,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว

“วันนี้มันเปลี่ยนไปนะ เมื่อก่อนผมต้องขี่คอช้าง เอาช้างไปผูกในป่าช้า ให้กินหญ้า กินต้นไม้ที่เป็นอาหาร นอนก็นอนกลางป่าช้า เวลาเอาช้างไปผูกทิ้งไว้ บางทีเราต้องเดินกลับบ้านเป็นกิโล แต่เดี๋ยวนี้ ลูก ๆ หลาน ๆ เรา เวลาจะมาพาช้างไปผูกไว้ในป่าก็ขี่มอเตอร์ไซค์พาช้างเดิน” มารุตกล่าวกับเราด้วยน้ำเสียงเจือหัวเราะ

กับอนาคตของชาวกูยและช้างต่อจากนี้ “มารุต” มองว่า แม้ยุคสมัยมันจะเปลี่ยนไป แต่ชาวส่วยก็ยังคงจะเลี้ยงช้างต่อไป เพราะนี่คือการสืบทอดจารีตประเพณี โดยมี “ศาลปะกำ” ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนเลี้ยงช้าง

ดังนั้นช้างจึงเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของครอบครัว “มารุต” เล่าให้เราฟังว่า เมื่อครั้งที่ช้างของเขาล้ม เขาร้องไห้ ฟูมฟาย ราวกับเสียคนรักไป เพราะด้วยความที่ช้างและเขาต่างเติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก ช้างจึงไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงแต่คือคนในครอบครัว มีการนิมนต์พระมาสวด ทำบุญตักบาตร ก่อนนำไปฝังยัง “ป่าช้าช้าง” หรือในรายของคนที่มีพื้นที่ ก็จะฝังร่างของช้างนั้นไว้ในบ้านตัวเอง

“แม้อะไร ๆ มันจะไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ชาวส่วยยังคงยึดมั่นอยู่ในวิถีชีวิตแบบเดิม ครอบครัวคนเลี้ยงช้าง จะต้องให้ลูกเป็นคนเลี้ยงช้างสืบทอดต่อ ๆ กันไป แม้วันนี้เด็กต้องเรียนหนังสือก็ต้องมีคนหนึ่งที่สละมาเป็นคนเลี้ยงช้าง หรือจะเรียนไปด้วยเลี้ยงไปด้วยก็ได้ นี่คือสิ่งที่ผู้เฒ่าผู้แก่สั่งเสียเอาไว้เราต้องไม่ลืมจารีตประเพณี”


“ควาย” สอนคน “คน” สอนควาย


ควาย อีกหนึ่งชนิดสัตว์เลี้ยงของคนไทยมาตั้งแต่ครั้งอดีต ที่ผ่านมาคนทั่วไปมองว่า คนเลี้ยงควายเอาไว้เพื่อไถนา ใช้แรงงาน แต่ในความเป็นจริงระหว่างการใช้แรงงานนั้น กลับมีความสัมพันธ์เช่นคนในครอบครัวเกิดขึ้น “ผศ.ดร.สมจิตร์ กันธาพรม” อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์ ซึ่งมีอีกบทบาทหนึ่งคือ “เกษตรผู้เลี้ยงควาย” ได้ถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ ของความสัมพันธ์ดังกล่าว

“เท่าที่ผ่านมาในอดีต วิถีคน กับควาย คู่กันมาตั้งแต่อดีต พ่อแม่มักจะให้ลูกของตนเองเลี้ยงดูแลควาย ขณะที่ในปัจจุบัน หลายครอบครัวที่ลูกติดเกม ติดมือถือ แต่พอเอาควายเข้าบ้าน ด้วยความที่ควายเป็นสัตว์ที่มีลักษณะค่อนข้างเชื่อง และเข้ากับเด็กได้ดี เด็กก็จะหันมาสนใจกับควาย เรียกได้ว่าเคมีของควายกับเด็กน้อย นั่นสามารถเข้ากันได้ดี” อ.สมจิตร์ ได้กล่าวเริ่มต้นความสัมพันธ์ของควายกับคนไว้อย่างน่าสนใจ

กับคำถามที่ว่าโบราณ ทำไมจึงมีควายเลี้ยงไว้ที่บ้าน นอกจากการใช้แรงงาน ด้านการไถนา ทำไร่แล้ว “อ.สมจิตร์” ยังได้ขยายความต่อว่า ควายยังเป็นเครื่องมือฝึกความรับผิดชอบให้กับลูก ๆ ได้อีกด้วย ทั้งการสร้างความผูกพัน รู้จักเวลา มีความเมตตา ควายหิว เอาหญ้าให้ควายกิน ควายร้อนเอาควายเข้าร่ม เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เรียกว่า Relationship ในเชิงบวก เป็นการฝึกเด็กด้วยการเลี้ยงควาย เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างคนกับควาย


นอกจากนี้ อ.สมจิตร์ ยังได้เอ่ยถึงประโยชน์ของการเลี้ยงควาย ในอนาคตต่อจากนี้ ว่า การเลี้ยงควายมันมีประโยชน์ ในการสร้างกิจกรรมในครอบครัว ควายเป็นคนในครอบครัว และเป็นผู้ส่งเสียให้ลูกหลานมีอนาคตได้

1.คนที่เกษียณ คนเป็นโรคซึมเศร้า การเลี้ยงควายตอบโจทย์ แค่เราพาควายเดิน ปลูกหญ้าให้ควายกิน ทุกวันไม่วันหยุด เท่ากับการได้ออกกำลังกายทุกวัน

2.ควาย เป็นสัตว์ที่มีความน่ารัก เชื่อง เมื่อเลี้ยงควายจะสามารถเข้าใจเหตุผล และควบคุมอารมณ์ได้

3.ตอบโจทย์เรื่องของเศรษฐกิจชุมชน ควายมีราคา มูลค่าค่อนข้างสูง เราลงทุนครั้งแรกซื้อควายเพศเมีย ประมาณ 50,000 บาท ผสมพันธุ์กับควายเพศผู้ลักษณะดีครั้งละ 2,500-5,000 บาท เราจะได้ลูกควาย 1 ตัว หากเป็นตัวเมียจะมีมูลค่าถึงหลักแสนบาท ดีกว่าเอาเงินไปฝากธนาคารด้วยซ้ำ เกษตรกรสามารถมีรายได้เป็นเท่าตัวทันทีภายใน 1 ปี

เหล่านี้คือตัวอย่าง ว่าในบางครั้งข้อดีของคนไทยที่เราได้เห็นกันมาตั้งแต่อดีต คือความเอื้ออารี ต่อยอดไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง คนกับสัตว์เลี้ยง ที่ดูจะหยั่งลึกฝังรากอยู่ในบริบทของสังคม แม้ปัจจุบัน เมื่อสังคมเมืองเจริญขึ้น แม้สิ่งเหล่านั้นอาจลบเลือนไปบ้าง แต่มันไม่เคยจางหายไปสำหรับคนบางคน

 

บทความที่น่าสนใจ