อ่านเกม 4 กุมารลาออกจาก “พลังประชารัฐ” ทิ้งทวน แต่ยังไว้ลาย

by ThaiQuote, 10 กรกฎาคม 2563

โดย...กองบรรณาธิการ ThaiQuote

วานนี้ (9 ก.ค.63) การลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ของ 4 กุมาร ที่ประกอบไปด้วย อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นการสื่อสารให้เราเห็นภาพอะไรบางอย่างทางการเมือง

แม้ทั้ง 4 คน จะพูดว่า การลาออกในครั้งนี้ ถือเป็นการ สิ้นสุดทางการเมือง ของตัวเองก็ตาม แต่การขยับตัวแต่ละครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้ายนี้ก็ทำให้ พรรคพลังประชารัฐ สั่นสะเทือนได้ทุกครั้งเหมือนกัน

คอการเมืองทั่วไป อาจวิพากษ์วิจารณ์ในมุมมองที่ว่า การลาออกในครั้งนี้ของ 4 กุมาร ก็เป็นเพียงแค่การไม่สมประโยชน์ร่วมกัน ระหว่าง “นักการเมืองอาชีพ” และ “นักวิชาการ” ที่ต้องการเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างกลุ่ม 4 กุมาร

แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน ความคิดเห็นนั้นอาจใช่ หรืออาจไม่ใช่ก็ได้ แต่เมื่อลองดูสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ก็ก่อให้เกิดภาพความคิดที่แยบยล ถึง “ปฏิบัติการ” วานนี้ของกลุ่ม 4 กุมาร ที่ไม่เคยแพร่งพรายให้ใครได้รับรู้ แม้แต่สื่อมวลชนเอง ก็มารู้ถึงกำหนดการแถลงข่าวลาออก ไม่ถึง 2 ชั่วโมง เท่านั้น

การลาออกของ 4 กุมารถือเป็นการแก้เกมส์ทางการเมืองที่ชาญฉลาด

เมื่อมองย้อนไปยังอดีตของกลุ่ม 4 กุมารนับตั้งแต่เริ่มทำงาน แม้ว่าจะมีผลงานที่ไม่ถูกใจคนอยู่บ้าง แต่ขณะเดียวกันทั้งหมดก็ถือเป็นตัวชูโรงให้แฟนคลับสายนักธุรกิจใหญ่ขยับเข้าไปอุดหนุนและเลือกข้างพลังประชารัฐในช่วงก่อนการเลือกตั้งกันอย่างชัดเจน

แต่การลาออกครั้งนี้ของกลุ่ม 4 กุมาร รับประกันได้ว่าจะสะดุ้งสะเทือนไปถึงพรรคพลังประชารัฐ เพราะเท่าที่เห็น เท่าที่เหลือของพรรคก็มีแต่นักการเมืองคนหน้าเดิม ที่คอการเมืองก็คงรู้ไส้ และรู้พุงเป็นอย่างดี

กลเม็ดเมื่อวานนี้ที่กลุ่ม 4 กุมารลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ น้ำหนักของความสงสัยจึงถูกทิ้งมายัง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพปชร.คนใหม่ รวมถึงกลุ่มสามมิตรที่ชั่วโมงนี้คือ “เต้ย” ในพรรค ว่าจัดการกันอย่างไร ภาพความแตกแยกจึงออกมา และมันอาจถูกมองได้ในทันทีว่าเล่นการเมืองในพรรคกันหรือเปล่า จนทำให้พรรคเริ่มส่อแววจะพังครืนลง

แม้ว่า อุตตม และผองเพื่อนจะประกาศเอาไว้ว่าไม่ตั้งพรรคการเมือง แต่เครดิตของพวกเขาในวงธุรกิจ วงการเมืองก็พอมี หากคิดกันเล่นๆ ว่า 4 กุมารจะตั้งพรรค แฟนคลับที่เคยเหนียวแน่นกับพวกเขา มีหรือที่จะไม่เทใจมาหา ซึ่งหากมันเป็นอย่างที่คอการเมืองนึกเล่นกัน ก็จะยิ่งทำให้พลังประชารัฐเดินโซซัดโซเซเอาได้ง่าย ๆ

การชิงลาออกจากพลังประชารัฐของกลุ่ม 4 กุมาร อีกมุมก็มองได้ว่าลอยตัวกับความวุ่นวายในพรรค และมีทีมชุดใหม่เข้ามาบริหาร ก็บริหารกันให้ดีต่อไป แต่ประเด็นสำคัญคือทั้ง 4 เลือกที่จะไม่ก้มหัวอยู่ใต้เงาของใคร และด้วยว่าเป็นนักวิชาการเกือบทั้งทีมที่เข้ามาช่วยทำงานทางการเมือง การดึงตัวเองออกมาจากวงของกลุ่ม 4 กุมาร จึงถือว่า “เฉียบ” พอควร

ภาพนี้ทำให้เห็นความเด่นชัดถึงภาพลักษณ์ของตัวเองในทำนองว่า “ปลาดี หนีข้องปลาเน่า” โดยทิ้งกลุ่มนักการเมืองอาชีพภายในพรรค ให้ปากอ้าตาค้าง เดินเกมต่อไปไม่ออก

แน่นอน นี่คือการโชว์ภาพไว้ลายของศิษย์ในคาถา “เซียนเหยียบหิมะไร้รอย” อย่าง “อาจารย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กับภาพลักษณ์ของนักวิชาการฝ่ายบุ๋น ที่ต้องการเข้ามาทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ไม่เอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมือง

ย้อนกลับไป “พลังประชารัฐ” ยุคก่อตั้ง 4 กุมาร เดินหน้าถางทางลงให้ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเข้าสู่โหมดประชาธิปไตย ด้วยการระดมนักวิชาการ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย นักเรียนนอก เดินชนกันให้ขวักไขว่และสำเร็จส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ก่อนที่หลังการเลือกตั้งพ้นไปกว่าขวบปี กลุ่มเหล่านี้จะต้านแรงเสียดทานนักการเมืองอาชีพไม่ไหว และเลือกเดินจากไปอย่าง “สง่า” ดีกว่า

เราจึงได้เห็นภาพของ “พลังประชารัฐ” อย่างที่เห็น ซึ่งไม่ได้ต่างจากพรรคการเมืองในอดีตมากเท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่ต่างคือ “ความกล้า” ทางการเมืองที่เราได้เห็นแล้วจากแอคชั่นล่าสุดของ 4 กุมาร

และมันเป็นบทพิสูจน์ว่า “ระบบนิเวศการเมืองไทย” ในอดีต จนถึง ปัจจุบัน มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย และไม่เคยมีที่ว่าง ให้ “นักวิชาการ” ได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านงานการเมือง...เหมือน ๆ เคย.....

 

ข่าวที่น่าสนใจ