5 ทางออก อุดมศึกษาไทย ก่อนเป็น “มหา’ลัย ร้าง”

by ThaiQuote, 19 สิงหาคม 2563

กางแผนสภาพัฒน์ เร่งกู้วิกฤตอุดมศึกษาไทย ก่อนกลายสภาพเป็นมหาวิทยาลัยร้าง เสนอ 5 ทางแก้ แต่งตัวปรับแบรนด์เพื่อความอยู่รอด

 

ที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาส2 ปี 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เสนอ โดย 1 ในนั้น มีบทความ น่าสนใจ เรื่อง “มหาวิทยาลัยร้าง : วิกฤตอุดมศึกษาไทย” ซึ่งเป็นแนวทางการรับทราบปัญหาและการแก้ไขเพื่อให้มหาวิทยาลัยไทยรอดพ้นวิกฤต โดยสาระสำคัญอบู่ที่จำนวนนักศึกษาซึ่งลดลง สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของมหาวิทยาลัยและครูอาจารย์ ดังนี้

แนวโน้มจำนวนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีที่ว่างในมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก รายได้ของมหาวิทยาลัยลดลง ท้าทายให้สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ที่ผ่านมาจำนวนมหาวิทยาลัยของไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก หากมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนสถานศึกษาจากการขยายวิทยาเขตของสถาบันที่มีชื่อเสียง และการเปิดหลักสูตรเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่นักศึกษาใหม่มีแนวโน้มลดลงทุกปี สะท้อนให้เห็นได้จากสถิติผู้สมัครและผู้ผ่านการคัดเลือกในระบบ TCAS (รอบที่ 4) ในช่วงปี 2558–2562 ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาวะสถาบันศึกษาล้นมีปัจจัยมาจากโครงสร้างประชากรไทยที่มีอัตราการเกิดลดลง ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาลดลง รวมทั้งการขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงทำให้มีการเปิดวิทยาเขต และหลักสูตรใหม่ๆ ที่สนองความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงาน เพื่อดึงดูดนักเรียนนักศึกษา

ท่ามกลางการลดลงของจำนวนผู้เรียน การแข่งขันในการดึงดูดผู้เรียนของสถาบันอุดมศึกษาที่สูง รวมถึงการพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นความท้าทายที่นำมาซึ่งการปรับตัวของสถาบันการศึกษาเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้

ที่ผ่านมาสถาบันอุดมศึกษามีความพยายามในการปรับตัว อาทิ (1) การปรับหลักสูตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและแต่ละช่วงวัย โดยการปรับหลักสูตรให้สอดรับกับตลาดแรงงาน โดยส่งเสริมการเรียนแบบสหวิชาการ การพัฒนาหลักสูตรรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น เพื่อตอบสนองต่อคนแต่ละวัยและส่งเสริม การเรียนรู้ตลอดชีวิต

(2) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยการใช้นวัตกรรมการศึกษาในการจัดการเรียนการสอน การเปิดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ

และ (3) การขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการขยายกลุ่มเป้าหมายการรับนักศึกษาที่ครอบคลุมไปถึงนักศึกษาต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวทำให้การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งระหว่างสถาบันการศึกษาภายในประเทศ และสถาบันการศึกษาภายในประเทศกับต่างประเทศ และการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักศึกษาที่รุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา และการคงอยู่ของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหรือคุณภาพน้อยกว่า รวมทั้งแนวทางการปรับตัวยังขาดการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับและสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการศึกษาภายในประเทศ

ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในอนาคต ได้แก่ (1) การกำหนดแนวทางการปรับตัวที่เป็นเอกภาพ โดยการบริหารจัดการและบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ทั้งในด้านบุคลากรและทรัพยากรต่างๆ การขยายงานวิชาการทั้งในด้านศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การบริการสังคม ตลอดจนการวิจัยเพื่อการพาณิชย์ที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

(2) การนำแนวคิดด้านการตลาดมาใช้ในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา โดยดึงอัตลักษณ์และความแข็งแกร่งทางวิชาการมาเป็นจุดขายในการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อพัฒนาสถาบันให้ตรงจุดที่ควรมุ่งเน้น รวมถึงการบริหารต้นทุนของมหาวิทยาลัย อาทิ การลดต้นทุนในด้านที่มิใช่จุดแข็งของมหาวิทยาลัยโดยการยุบ/รวม สาขาที่มิใช่ความเชี่ยวชาญ/ไม่สามารถแข่งขันได้ของมหาวิทยาลัย

(3) การทบทวน/ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อดึงดูดนักเรียนต่างชาติเข้ามาชดเชยปริมาณนักศึกษาไทยที่ลดลง การเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น/หลักสูตรอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ต่างๆ แก่คนทำงาน ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุ

(4) การนำนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนมาใช้ในมหาวิทยาลัย อาทิ การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ให้นักศึกษาสามารถจัดองค์ประกอบของวิชาเรียนได้ การพัฒนารายวิชาใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์บริบทการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบการเรียนการสอนมากขึ้น

และ (5) การส่งเสริมการวิจัยที่มุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งทบทวน/ปรับปรุงระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาของรัฐ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความคล่องตัวในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์

 

ข่าวที่น่าสนใจ

รู้จัก “ริบบิ้นสีขาว” กับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์