“ทุเรียน” ความหวังของคนนราธิวาส กับการได้ “ลืมตาอ้าปาก” กันเสียที

by ThaiQuote, 1 กันยายน 2563

โดย..คเชนทร์ พลประดิษฐ์

“ฮารับปันบารู” เป็นภาษามลายู ที่แปลเป็นไทยว่า “ความหวังใหม่” แรกเริ่มเดิมที เราคุ้นหูกับคำนี้จากโครงการพัฒนาอาชีพร่วมกับการปราบปรามผู้ก่อเหตุ “โครงการฮารับปันบารู” ของ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ ในขณะที่เป็น ผบ.ทบ.เมื่อปี พ.ศ. 2532

เราหยิบยกเอาคำนี้ขึ้นมาใช้ เพื่อจะสื่อความหมายเชื่อมโยงถึงเรื่องราวการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ในวันนั้น ซึ่งห่างกันราว 30 ปีกับวันนี้ วันที่ผืนแผ่นดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังเกิด “ความหวังใหม่” ขึ้นอีกครั้ง ผ่าน “โครงการทุเรียนคุณภาพ”


---- “ปิดทอง” ให้ทุเรียนชายแดนใต้ ----

ว่าวรูปนกเหยี่ยกำลังร่อนถลาตามแรงลม ภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อป้องกันกระรอกที่คอยมารบกวนทุเรียน ในสวนบนเทือกเขาสูง พื้นที่ ต.กาหลง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ระยะประมาณ 100 ม.จากถนนลาดยางเข้าไปในป่าข้างทาง เป็นพื้นที่สวนทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 10 ไร่ แต่ละต้นสูงจรดปุยเมฆขาว สุดแหงนคอมอง นี่คือลักษณะของสวนทุเรียนซึ่งอยู่บนภูเขา ทำให้ลำต้นสูงกว่าทุเรียนในพื้นราบ


“ถ้าพูดถึงความแตกต่างของทุเรียนภาคตะวันออก และชายแดนใต้ ต้องบอกว่าต่างกันมาก เพราะการดูแลเอาใจใส่ ภาคตะวันออกชาวสวนจะเข้าสวนดูแลทุเรียนทุกวัน แต่ที่นี่เดิมที สมัยที่ทุเรียนกิโลละ 30-40 บาท เข้าสวนกันแค่ปีละ 3-4 ครั้ง คือ ตอนใส่ปุ๋ย และเก็บทุเรียน จึงทำให้รูปลักษณ์ภายนอกของทุเรียนใต้ หนามแห้งแดง ไม่เหมือนทุเรียนตะวันออกที่มีหนามสีเขียว ผลลูกเปล่งปลั่ง มาวันนี้เมื่อเราเข้าโครงการแล้วทุเรียนของเราจึงขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับทุเรียนภาคตะวันออก ที่มสามารถสร้างมูลค่าให้กับชาวสวนจากปีละไม่กี่1-2แสนบาท เป็นปีละกว่า 1 ล้านบาทได้เลยทีเดียว”
เอกพล เพ็ชรพวง อาสาทุเรียนคุณภาพ และเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เล่าให้เราฟัง


ทำให้เรานึกถึงภาพผลผลิตทุเรียนที่ก่อนหน้านี้เป็นได้แค่ทุเรียนเกรด c ซึ่งขายได้เฉพาะในท้องถิ่น ก่อนที่จะเข้าร่วม “โครงการทุเรียนคุณภาพ” ที่ปั้นแต่ง “ปิดทอง” ให้ทุเรียนจากสวนของเขากลายเป็นทุเรียนคุณภาพเกรด AB ซึ่งเป็นเกรดส่งออก กว่า 65% ของทุเรียนทั้งหมดในสวน

“โครงการทุเรียนคุณภาพ” หรือ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ริเริ่มโดย สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งจัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 3 โดยยึดหลักแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมพี่น้องเกษตรกผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ต่อยอดสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

กระบวนการทำงานของโครงการดังกล่าว ได้ส่งเสริมการเรียนรู้เป็นขั้นตอน ให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ ภายใต้คู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพ 4 ระยะ คือ

1.การอบรมเชิงปฏิบัติในพื้นที่ผลิต และส่งออกทุเรียนแหล่งใหญ่ของประเทศอย่าง จ.ระยอง จันทบุรี เพื่อนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ทั้งเรื่อง การปรับปรุงดิน ระบบน้ำ การตัดแต่งทุเรียน การใช้สารเคมี ตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร เพื่อป้องกันปัญหาแมลงและเพลี้ย ที่มักเกิดขึ้นกับทุเรียนภูเขา โดยจะหยุดใช้สารเคมีเมื่อถึงระยะเวลา 1 เดือนก่อนการเก็บเกี่ยว

2.การเก็บเกี่ยวผลผลิต ที่ความแก่ 85% ซึ่งต้องมีการวัดค่าแป้งในทุเรียน คัดเกรดแยกคุณภาพ

3.จัดตั้งแหล่งรวบรวมผลผลิตในพื้นที่ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี

4.ระบบขนส่ง ทั้งการขนส่งไปยังแหล่งรวบรวมผลผลิตใหญ่ (ล้ง) ที่จ.ชุมพร และการส่งออกไปยังประเทศหลักคือ จีน
ทั้งนี้สินค้าส่วนใหญ่จะมีบริษัทเอกชนที่มีความร่วมมือกับโครงการเป็นผู้รับซื้อโดยให้ราคาสูงกว่าพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น


---- 30 ปี ที่รอคอย ให้ได้ลืมตาอ้าปาก ----

แน่นอนว่า สวนทุเรียน อยู่คู่กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ มานานไม่น้อยหน้ายางพารา และพืชอื่นๆ เช่นเดียวกับ “เอกชัย เพ็ชรสวัสดิ์” ประธานกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ 1 ในเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพ ที่บอกกับเราว่า วันนี้เขาและชาวสวนทุเรียนที่ร่วมโครงการ “นอนไม่หลับ” เมื่อนึกถึงมูลค่าของผลผลิตทุเรียน พูดได้เต็มที่ว่า “ลืมตาอ้าปาก” ได้อย่างแท้จริง


“ผมปลูกทุเรียนมา 30 ปี ยุคที่ทุเรียนราคา 40-50 แต่พอได้นำทุเรียนเข้าร่วมโครงการ 150 ต้น ในปีนี้ เข้าร่วมโครงการนี้ สิ่งที่ได้มันไม่ใช่แค่ราคาที่ทำให้ทุเรียนของเรากลายเป็นทุเรียนเกรดส่งออกราคา กิโลละ 100 ถึง 100 กว่าบาท มีรายได้กว่า 1 ล้านบาท แต่ที่สำคัญที่สุดคือองค์ความรู้ ที่ยกเอาสวนทุเรียน ระยอง จันทบุรี เอาไว้ที่นราธิวาส และเราสามารถนำไปต่อยอดทำอาชีพของเราอย่างยั่งยืนได้”


“ผมได้คุยกับนักวิชาการ ทราบข่าวมาว่า ทุเรียนจะราคาดีอย่างนี้อีก 3 ปี ดังนั้นขณะที่ปัจจุบันนอกจากเราจะปลูกทุเรียนแล้ว ก็ต้องขยับขยายหันไปมองพืชอื่นๆที่จะมาทดแทนรายได้ของเราด้วย เช่น มะพร้าว กาแฟ โก้โก ไม่ได้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพียงเดียว อะไรดีเราก็สามารถทำต่อ อะไรที่ได้รับผลกระทบก็สามารถปรับเปลี่ยนได้” เอกชัย บอกกับเราด้วยรอยยิ้ม ในดวงตาที่มีประกายความสุขอย่างเห็นได้ชัด

 

 

บทความที่น่าสนใจ