อ.รัฐศาสตร์ ชี้ “คนนอก” นั่ง รมว.คลังคนใหม่ รับคำสั่งตรงนายกฯคนเดียว

by ThaiQuote, 2 กันยายน 2563

การลาออกของ “ปรีดี ดาวฉาย” หลังเข้ารับตำแหน่ง “ขุนคลัง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นับตั้งแต่วันถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 12 ส.ค.63 จนวานนี้ (1 ก.ย.63) เพียงแค่ 20 วัน ด้วยเหตุผลที่ใครต่างก็รู้ว่า คนดีมีฝีมือ แต่แพ้พิษการเมืองเข้าแทรกนั้นอยู่ยาก

ไล่ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ยังไม่พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ในการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ยืดจากสัญญาเดิมที่จากสิ้นสุดสัญญาปี 2572 ไปอีก 30 ปี จนถึงปี 2602 จะทำให้บีทีเอสได้รับสัมปทานรวม 60 ปี เพื่อแลกกับภาระหนี้ของกรุงเทพมหานคร ร่วม 70,000 ล้านบาท รวมทั้งกำหนดอัตราค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท ที่ “ปรีดี” บอกว่า เพิ่งเข้ารับตำแหน่งและขอกลับไปดูรายละเอียดชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนจะเผชิญคลื่นการเมืองซัดอย่างจัง ด้วยการรื้อโผโยกย้ายข้าราชการกระทรวงการคลังกลางโต๊ะวงประชุมครม. ที่ถือเป็นการลองของ รัฐมนตรีน้องใหม่ ที่เสนอชื่ออีกคนเป็นอธิบดี แต่กลับมีการประกาศอีกรายชื่อหนึ่งแทน จน “วิษณุ เครืองาม” ต้องบอกให้กลับไปเคลียร์โผมาใหม่

จนกระทั่งวานนี้ (1 ก.ย.63) แม้โผรายชื่อข้าราชการ จะเป็นไปตามสิ่งที่ “ปรีดี” ต้องการ แต่ก็ยังไม่วายขอโบกมือลา ตำแหน่ง เพราะขืนอยู่ไปคงทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ นอกจากเป็น “หนังหน้าไฟ” ที่ต่อให้ตั้งใจทำงานแค่ไหน ก็ไม่สามารถควบคุมสั่งการอะไรได้ คนในกระทรวงการคลังเองก็เข้าใจดีและเห็นใจนายใหม่ที่เข้ามาทำงานได้เพียง 20 วัน ว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง เพราะแค่ใช้ลิฟท์ร่วมกับเจ้าพ่อกระทรวงฯ อายุงาน 1 ปีก็ถือเป็นปัญหาใหญ่แล้ว

แต่ทิศทางต่อจากนี้น่าจับตามองเป็นพิเศษ ว่าจะมีใครหน้าไหนอาจหาญเข้ามาต่อกรทำงานฟื้นเศรษฐกิจ พร้อมกับคอยรบทัพจับศึกกับนักการเมืองเจ้าของกระทรวง โดย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกับ ThaiQuote ถึงทิศทางของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 และผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า การลาออกของนายปรีดี ดาวฉาย อดีต รมว.คลัง ส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจ สังคมตั้งคำถามมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ที่กลุ่ม 4 กุมารได้ลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาล ในขณะที่เมื่อได้ นายปรีดี เข้ามานั่ง และก็ปรากฏดังที่เป็นข่าวก็ยิ่งสะท้อนเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะการทำงานที่ขัดแย้งระหว่างคนนอก กับนักการเมือง ปัญหาการทำงานระหว่าง รัฐมนตรีว่าการ กับ รัฐมนตรีช่วย

ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามว่า นายปรีดี เกิดความกังวลด้วยหรือไม่กับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งมันส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล รวมทั้งยังมีปัจจัยภายนอกอย่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

“ตำแหน่งรมว.คลัง ผมยังคิดว่า ควรต้องเป็นคนนอกอยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นด้วยการคัดเลือกโดยนายกฯเอง หรือการหารือในคณะทำงานของรัฐบาล เนื่องจากว่าตำแหน่ง รมว.คลังจะต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และ รมว.คลัง เป็นกลไกหลักในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย 3 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.กู้เงิน พ.ร.ก ตราสารหนี้ และ พ.ร.กที่เกี่ยวข้องกับSMEs ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องบริหารงานผ่านกลไกของ รมว.คลังในการขับเคลื่อน ซึ่งหากนักการเมืองได้รับตำแหน่งนี้ก็จะเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของความโปร่งใส โดยเฉพาะกฎหมายที่ว่าด้วยการกู้เงิน” อ.ยุทธพร ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงคุณลักษณะบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คลังคนใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องความกังวลที่จะย้ำปัญหาเดิม ซึ่งเกิดขึ้นกับ “ปรีดี ดาวฉาย” คือการถูกภาคการเมืองแทรกแซง อ.ยุทธพร ได้ให้คำตอบว่า ตรงจุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องให้ความมั่นใจกับ รมว.คลังคนใหม่ที่จะเข้ามาว่า จะต้องมีความเป็นเอกภาพในการทำงาน โดยจะต้องรับคำสั่งและรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น โดยรับประกันว่าจะต้องไม่มีปัญหาทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง รวมทั้ง รมว.คลังคนใหม่ จะต้องเขี้ยวและเชี่ยวกรากรู้จักการเมืองเป็นอย่างดี และสามารถรับแรงกดดันจากการเมืองได้

“มันไม่ง่ายที่จะหาคนซึ่งตรงสเป็กดังที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก ต้องเข้ามว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม ซึ่งมีพรรคแกนนำอย่าง พลังประชารัฐ ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มก๊วนทางการเมืองเข้ามาไว้ด้วยกัน ซึ่งมีทัศนคติ และมุมมองทางการเมืองเข้มข้น ดังนั้นถ้าเป็นคนนอก จะต้องมีภูมิต้านทานที่หากมาเจอการเมืองอย่างนี้ แล้วไม่ใส่ใจเก็บมาคิด เดินหน้าทำงานเต็มที่ก็อาจทำได้” อ.ยุทธพร กล่าว

ด้านกระแสข่าวที่อาจมองว่า กลุ่ม 4 กุมาร ซึ่งมีคุณลักษณะที่มีส่วนผสมระหว่างการเมือง และนักวิชาการ จะมีโอกาสย้อนกลับมารับงานดูแลด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่นั้น อ.ยุทธพร มองว่า เป็นไปได้ยาก เนื่องจากกลุ่ม 4 กุมารเองไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำงานการเมืองกับรัฐบาลชุดนี้ต่อ เช่นกันที่พรรคพลังประชารัฐเองก็ได้แสดงภาพออกมาชัดเจนว่า ไม่สนับสนุน หรือมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่ม 4 กุมารต่อไป

ขณะเดียวกันการที่จะให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รีเทิร์นกลับมาช่วยงานด้านเศรษฐกิจโดยเป็นทีมงานของนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน

“จะเห็นได้ว่าในช่วงท้ายของการร่วมรัฐบาลของ อ.สมคิด นั้น ท่านได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังอยู่หลายประการ และยอมรับว่าเกิดปัญหาที่ทำให้ท่านถอดใจมาหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นการที่ อ.สมคิดจะกลับมา มีโอกาสที่เป็นไปได้ยาก” อ.ยุทธพรให้ความเห็น

สุดท้าย อ.ยุทธพร ได้สรุปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่นั้น จะต้องมีภูมิต้านทานทางการเมือง และจะต้องได้รับการการันตี จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า จะต้องทำงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว โดยคนอื่นจะไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงการทำงานได้

เรื่องดังกล่าวถือเป็นโจทย์หิน และน่าหนักใจแทนรัฐบาลชุดนี้ไม่น้อย ที่หากได้คนใหม่มารับงานแต่ต้องเผชิญกับการเมืองแทรกแซง ก็มีหวังว่าอายุของรัฐบาลชุดนี้ คงขยับกระชั้นสั้นเข้ามาเต็มทีแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง