เช็คโปรไฟล์ "สันติ พร้อมพัฒน์" เขาพร้อมจริงหรือ กับเก้าอี้ "รมว.คลัง"

by ThaiQuote, 3 กันยายน 2563

โดย....กองบรรณาธิการ ThaiQuote

กรณีที่ “สันติ พร้อมพัฒน์” ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวทำนองว่า พร้อมจะเป็นตัวเลือกให้กับ นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อจาก “ปรีดี ดาวฉาย” อดีต รมว.คลัง ที่เพิ่งไขก็อดลาออกไปเมื่อ 29 ส.ค.63 ที่ผ่านมา หลังจากทำงานมาได้เพียงแค่ 20 วัน

“ทุกสิ่งผมทราบ เพราะได้ทำงานกับนายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง เป็นเวลามาหนึ่งปี สิ่งที่นายอุตตมทราบผมก็ทราบ สิ่งที่นายอุตตมทำแล้วเป็นประโยชน์ให้ทุกภาคฝ่าย ผมก็ทราบ สิ่งที่เป็นจุดอ่อน ผมก็ทราบอีก ผมทำงานร่วมกับ 2 รัฐมนตรีคลังที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจและการเงิน และอีกหนึ่งรองนายกที่คร่ำหวอดทางด้านเศรษฐกิจ ฉะนั้นผมก็ซึมซับเศรษฐกิจของบ้านเราทั้งภาวะเดินหน้าและถดถอย โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ต้องทำงานได้ทันที ความกดดันนั้น ผมผ่านมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ในอดีตผมก็เคยอยู่กระทรวงใหญ่ๆ มาแล้ว เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ซึ่งผมมีความเชี่ยวชาญและภูมิต้านทานพร้อม รับแรงกดดันในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ได้”

นี่คือ สิ่งที่ “สันติ” ได้พรีเซนต์ตัวเอง และพร้อมขึ้นรับตำแหน่งขุนคลัง หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เรียกใช้

แต่....มันเกิดข้อสงสัยว่า สันติ มือถึงมากพอหรือยัง กับการกุมการเงิน การคลังของประเทศ ?

ที่ผ่านมากว่า 1 ปี ซึ่ง “สันติ” นั่งอยู่ในฐานะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายงานในยุคของ “อุตตม สาวนายน” อดีต รมว.คลัง โดยให้ดูแล กรมธนารักษ์ กรมบัญชีกลาง และกรมศุลกากร

ในส่วนของรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง “สันติ” ได้ดูแล ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) รวมทั้ง บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) องค์การสุรา และ โรงงานไพ่

ตลอดการทำงาน เกิดกระแสข่าวขึ้นบ่อยครั้ง ว่า “สันติ” ได้เรียกร้องขอเพิ่มหน่วยงาน ทั้ง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มาอยู่ในความดูแลของตนเอง จนแล้วจนรอดเมื่อถึง ยุคของ “ปรีดี ดาวฉาย” สันติ ยังคงได้รับการจัดสรรให้ดูแลในหน่วยงานเดิมอยู่เช่นเคย

1 ปีที่ผ่านมา หากมองถึงผลงานการทำงานของ “สันติ” ถือว่ายังไม่เด่นชัดเท่าที่ควร โดยหน่วยงานในความดูแล อย่าง ธ.กรุงไทย ซึ่งได้รับบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายของ “อุตตม สาวนายน” ทั้งการทำโครงการ “ชิมช้อปใช้” การแจกเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายละ 5,000 บาท

ด้านนโยบายการนำที่ดินราชพัศดุ มาจัดสรรเพื่อให้เกิดมูลค่าและสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินเป็นของตนเอง ในโครงการ “ธนารักษ์ประชารัฐ” ของ กรมธนารักษ์ ก็มีอันถูกแย่งซีนจากรัฐมนตรีพรรคเดียวกัน แต่ต่างกระทรวงไปอีก

ขณะที่ปัญหาผลกระทบจากการขึ้นภาษียาสูบ ซึ่งชาวไร่ยาสูบ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ก็หมายมั่นปั้นมือให้ รัฐมนตรีคนบ้านเดียวกัน ซึ่งควบคุมดูแลการยาสูบฯ โดยตรง ได้มีส่วนช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ ก็มีอันต้องผิดหวังกันไปอีก เพราะเรื่องที่ร้องไปกลับเงียบหายไปกับสายลม

หากจะเห็นผลงานเด่นชัด ก็คงจะเป็นการกำกับดูแล บสย. ซึ่งทำหน้าที่ค้ำประกันการปล่อยเงินกู้ของสถาบันการเงินให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ยังขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไปได้ แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะเกิดขึ้นจากการสั่งการของ “อุตตม สาวนายน” ก็ตาม

ในส่วนของ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ “สันติ” ด้สั่งการให้เพิ่มจำนวนสาขาให้ครบทุกอำเภอในภาคใต้ หลังพบว่าภาคใต้ยังมีเพียง 40 สาขา จากทั่วประเทศ 100 สาขา เพื่อให้สามารถช่วยเหลือชาวมุสลิมที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคใต้จำนวนมาก

รวมถึงการเร่งการก่อสร้างโครงการ “สวนป่าเบญจกิติ” สวนป่า- พิพิธภัณฑ์ ให้เสร็จก่อน 12 ส.ค. 2564 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีหอสูงชมเมือง 360 องศาเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของไทย

ไม่ผิดนักหาก “สันติ” จะเคยให้สัมภาษณ์อีกเช่นกันว่า เขาทำหน้าที่ในตำแหน่ง “รัฐมนตรีช่วย” ที่คอยหนุนเสริมการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ซึ่งเป็นแม่ทัพ ผลงานที่ผ่านมาของเขาจึงคล้ายกับว่าเป็นการ “ปิดทองหลังพระ”

มาวันนี้ “สันติ พร้อมพัฒน์” พร้อมแล้วหรือไม่กับการจะนั่งกุมบังเหียนในฐานะ ขุนคลังของประเทศ ด้วยโปรไฟล์ที่ผ่านมาของการทำหน้าที่ เป็นเจ้ากระทรวง “หูกวาง” หรือ “คมนาคม” 10 เดือนในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (พรรคพลังประชาชน) ก่อนได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ที่ผ่านมา ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์นั้น “สันติ” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ กรณีเรื่องโยกย้ายข้าราชการไม่เหมาะสม ในกรณีการย้าย นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เหตุขัดแย้งเรื่องการก่อสร้างกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ แห่งใหม่ ที่มีการเพิ่มวงเงินงบประมาณการก่อสร้างอีก 300 ล้านบาท จากงบประมาณเดิม 800 ล้านบาท โดยไม่ได้มีการขออนุมัติจาก ครม.ก่อน

กรณีนี้เป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของกลุ่ม ส.ส.ต่างๆ ในพรรคเพื่อไทย เพราะอดีตปลัดพม.เอง ก็เป็นญาติพี่น้องกับส.ส.ภายในพรรค

ต่อมา “สันติ” ยังเคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา กรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548-2553 โดยไม่มีกฎหมายรองรับ

และในปี 2557 ยังถูก “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี และสั่งโยกย้าย นายถวิล จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยขาดความชอบธรรม

นอกจากนั้น กระแสสังคมยังตั้งคำถามถึงที่มาของวุฒิการศึกษาอีกเช่นกัน ดังนั้นหาก “สันติ” พร้อมที่จะเสนอตัวเป็น รมว.คลัง โดยที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา จะต้องสามารถตอบคำถามต่อสังคมในประเด็นที่เป็นข้อครหา รวมถึงแสดงแนวคิดความสามารถที่จะนำพาให้เศรษฐกิจไทยฟื้นฟูในยุคหลังวิกฤตโควิด-19 ให้ได้เสียก่อน

 

บทความที่น่าสนใจ