เปิดเรื่องราว "บ้านสี่เสาเทเวศร์" ประวัติศาสตร์ “ทหาร” และ “การเมืองไทย”

by ThaiQuote, 22 กันยายน 2563

บทความโดย ปกรณ์ ดุลบุตร

เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกใจหายไม่น้อยกับการรื้อถอน “บ้านสี่เสาเทเวศร์” อีกหนึ่งสถานที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับแวดวง “ทหาร” และ “การเมือง” ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี

 

“บ้านสี่เสาเทเวศร์” เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป ว่าคือบ้านพักของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “รัฐบุรุษ” ของชาติ ซึ่งเจ้าตัวได้พำนักอยู่ตั้งแต่เมื่อดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก จวบจนสิ้นลมหายใจสุดท้าย ณ บ้านแห่งนี้

 

 

หลังการถึงแก่อสัญกรรมของ พล.อ.เปรม "บ้านพักสี่เสาเทเวศน์" ได้ถูกส่งคืนให้กับกรมสวัสดิการทหารบก ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.ย.63 ได้มีการเข้ามารื้อถอนบ้านพักหลังนี้ ซึ่งเวลานี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้เพื่อทำอะไรต่อไป แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ ตำนานแห่ง“บ้านสี่เสาเทเวศร์” ได้จบลงแล้ว

 

40 ปี “ป๋าเปรม” ใต้ชายคาบ้านสี่เสาฯ

บ้านสี่เสาเทเวศร์ ในอดีตเป็นบ้านพักของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งอยู่บนที่ดินของกองทัพบกไทย เลขที่ 279 ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับสี่แยกสี่เสาเทเวศร์ (จุดตัดระหว่างถนนศรีอยุธยากับถนนสามเสน) มีหอสมุดแห่งชาติ สโมสรกองทัพบก และตลาดเทเวศร์เป็นสถานที่ใกล้เคียง

ลักษณะตัวบ้าน มองจากถนนด้านหน้าจะมีประตูทางเข้าออก 2 ด้านซ้ายและขวา ตรงกลางจะปลูกต้นไม้สูงคล้ายกำแพง เมื่อก้าวเท้าผ่านประตูเข้าไปจะพบสนามหญ้าและสวนพร้อมกับบ่อน้ำขนาดใหญ่ เบื้องหลังจะเป็นบ้านปูนสีขาว ซึ่งเป็นสถานที่พักมีหลังคาทรงหน้าจั่วปูกระเบื้องสีน้ำเงิน

 

 

ตัวบ้านมีอาคารหลัก 2 ชั้น 1 อาคาร ชั้นบนปีกซ้ายด้านบนเป็นห้องทำงาน ถัดไปด้านหลังเป็นห้องเก็บของที่ระลึก และห้องพระชั้นล่างปีกซ้ายตัวบ้านจะเป็นห้องรับรอง ด้านขวาจะเป็นที่พักของทหารประจำบ้าน บริเวณด้านหลังเป็นห้องนั่งเล่น มีเปียโน ของ พล.อ.เปรม ตั้งอยู่กลางห้องส่วนด้านหลังเป็นห้องสำหรับประชุมและจัดเลี้ยง

 

 

โดย พล.อ.เปรม ได้มาพำนักอาศัย ตั้งแต่ พ.ศ.2522 ในขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก จนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกรัฐมนตรี และประธานองคมนตรี จนเสียชีวิตในปี 2562 รวมระยะเวลา 40 ปี


ที่มาของ “สี่เสา” และ “เทเวศร์”

ชื่อของบ้านหลังนี้ มีการเรียกง่ายๆ ว่า บ้านป๋า , บ้านป๋าเปรม แต่จะคุ้นกันมากที่สุดในชื่อ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” ซึ่งคำว่า “สี่เสาเทเวศร์” นั้น “หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่ามาจากเดิมที่พื้นที่ บริเวณนี้ เคยเป็นที่ตั้งของเสาไฟฟ้า 4 ต้น รองรับหม้อแปลงจ่ายไฟให้กับรถรางสายเทเวศร์-ท่าเตียน ผู้คนจึงเรียกขานว่าสี่เสา

 

 

ส่วนเทเวศร์ มีที่มาจากชื่อของวังเทเวศร์ ที่ตั้งอยู่ถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันมากนัก อย่างไรก็ตาม ตัวบ้านพักของ พล.อ.เปรม ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวังเทเวศร์แต่อย่างใด

 

บุคคลสำคัญ ล้วนเคยย่างกราย

เนื่องจาก พล.อ.เปรม เป็นผู้ที่ได้รับความนับถือ บ้านหลังนี้จึงมีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมเยียนอยู่บ่อยครั้งตลอด 40 ปี ตั้งแต่นักการเมือง ราชการระดับสูง เจ้าสัว พ่อค้า นักธุรกิจเอกชน ที่เข้าไปพูดคุยขอคำปรึกษา รวมถึงผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ เช่นนักมวยที่เข้าไปรับพรทั้งก่อนและหลังการชก ตลอดจนนายกรัฐมนตรีหลายยุคหลายสมัย ผบ.เหล่าทัพหลายรุ่น ก็มักจะไปเข้าพบ พล.อ.เปรม ในโอกาสสำคัญเช่นวันสงกรานต์-ปีใหม่ จนเป็นเหมือนประเพณี

 

 

 

นอกจากนี้ยังรวมถึงแขกสำคัญจากต่างประเทศ เช่นการต้อนรับ มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน ต.ค.61 ก็ได้มาเยี่ยมคารวะ พล.อ.เปรม ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์แห่งนี้ ซึ่งมหาเธร์ถือแขกต่างประเทศคนสุดท้ายที่ได้มาเข้าพบ

 

กลุ่ม “ยังเติร์ก” บุกล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์

สำหรับในแง่ประวัติศาสตร์ แม้ตัวบ้านจะไม่ได้มีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ แต่เรื่องเล่าต่างๆ ของบ้านหลังนี้ที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองนั้นเป็นที่จดจำในหลายครั้ง โดยเฉพาะ “กบฏยังเติร์ก” หรือ กบฏเมษาฮาวาย ซึ่งเป็นความพยายามรัฐประหารระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของ พล.อ.เปรม

 

 

เล่ากันว่า กลุ่มผู้ก่อการส่วนใหญ่เป็นนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือรุ่น "ยังเติร์ก" ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังต่าง ๆ อยู่ในกองทัพบกได้บุกมาปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ยื่นคำขาดในการปฏิวัติ

โดยพันเอก (พิเศษ) ประจักษ์ สว่างจิตร ได้เกลี้ยกล่อมให้ พล.อ.เปรมเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งป๋าเปรมไม่ยอม แล้วหนีออกทางประตูข้าง เอาตัวรอดจากสถานการณ์ ณ เวลานั้นมาได้ และตั้งกองบัญชาการตอบโต้จนมีชัยชนะ ส่งผลให้กลุ่มยังเติร์กกลายเป็นกบฏ

 

“ประตูข้าง” ในตำนาน

มีคำบอกเล่าจากทหารคนสนิท ย้ำว่าบ้านหลังนี้ยังเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะ “ประตูข้าง” หรือประตูเหล็กสีเทาด้านข้าง ที่ไม่เพียงแค่ช่วยให้ พล.อ.เปรม หลบหนีจากการปิดล้อมจากกลุ่มยังเติร์กเท่านั้น แต่ประตูนี้ บุคคลสำคัญมักใช้เข้าออกเพื่อพบป๋าเปรมในยามบ้านเมืองเกิดปัญหาหรือวิกฤตการณ์ต่างๆ

 

 

 

เช่นครั้งเมื่อเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็เข้าพบป๋าเปรมทางประตูนี้ ก่อนที่จะไปเข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังรวมถึงการปฏิวัติรัฐประหาร โดยนายทหารระดับสูงที่จะมาปรึกษาหรือขอคำแนะนำ ทุกคนเข้าประตูนี้หมด ส่วนกุญแจประตูนี้จะอยู่ที่นายทหารคนสนิทเพียงคนเดียว เป็นคนอนุมัติให้ปิด-เปิด

 

ลูกๆ เชื่อ วิญญาณ “ป๋าเปรม” ผูกพันบ้าน

เมื่อบ้านพักสี่เสาเทเวศน์ ได้ถูกส่งคืนให้กับกรมสวัสดิการทหารบกหลังการอสัญกรรมของ พล.อ.เปรม บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องล้วนเสียดายที่บ้านหลังนี้ต้องถูกทุบทำลาย เพราะก่อนหน้านี้ของใช้ส่วนตัวของ พล.อ.เปรม ได้ถูกส่งไปเก็บรวบรวมไว้ที่ “พิพิธภัณฑ์พลเอกเปรม” ที่ จ.สงขลาบ้านสี่เสาเทเวศร์แห่งนี้จึงไม่ได้มีการจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ระลึกถึงป๋าเปรมแต่อย่างใด

 

 

ซึ่งก่อนการทุบทำลายนั้น ได้มีคำบอกเล่าจากกลุ่มนายทหารที่ใกล้ชิดและขณะนั้นยังประจำการดูแลบ้านอยู่ เล่าว่ามักจะได้กลิ่นน้ำหอมหรือกลิ่นสบู่ที่ พล.อ.เปรมใช้เป็นประจำโชยเข้าจมูกอยู่ทุกๆ วัน และเมื่อครั้งทำการขนย้ายข้าวของด้วยลิฟต์ที่ป๋าเปรมเคยใช้ ลิฟต์ก็ขึ้น-ลงเองโดยไม่หยุด

ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าวิญญาณของท่านยังไม่ได้ไปไหนเพราะขณะนั้นยังไม่ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ และอาจเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างจากเจ้าของบ้านผู้ล่วงลับก็เป็นได้

 

 

แม้จะเป็นไปตามธรรมดาด้วยกฎของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกใจหายไม่น้อยกับการรื้อถอนครั้งนี้ เพราะบ้านสี่เสาเทเวศ์ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับแวดวง “ทหาร” และ “การเมือง” 2 สิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกสำหรับสังคมไทยในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

 

 

 

ขอบคุณภาพจาก FB : WassanaNanuam, ช้างเผือก

 

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง