นายกฯ ดันลงทุน EEC หวังเป็น “ฮับโลจิสติกส์ภูมิภาค” ปลื้มตัวเลขลงทุน 8.5 หมื่นล้านบาท

by ThaiQuote, 1 ตุลาคม 2563

นายกฯ ดัน ขับเคลื่อนลงทุน EEC ย้ำเป้าหมายเชื่อมไทย-เชื่อมโลก ชี้ 8 เดือน คำขอรับส่งเสริมการลงทุนพุ่ง 277 โครงการ มูลค่ากว่า 8.5 หมื่นล้านบาท พร้อมรับขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู-เหลือง แก้ปัญหาจรารกทม.

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมพร้อมมอบนโยบายการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานรัฐ และผู้บริหารระดับสูง จากบริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

 

 

 

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พื้นที่ EEC ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสในการลงทุนและเป็นความท้าทายของรัฐบาล ในการจะขับเคลื่อนแผนพัฒนาประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย แม้ว่าจะเจอกับปัญหาที่เพิ่มขึ้น ในช่วงโควิด-19 รัฐบาลยังคงมุ่งทำงานอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ทุกการลงทุนในทุกพื้นที่ทั้ง EEC และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับโครงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตอบโจทย์การลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต และเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค แม้ช่วงวิกฤติโควิด-19 การลงทุนใน EEC ก็ยังอยู่ในระดับสูง โดย 8 เดือนที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมใน EEC จำนวน 277 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 85,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 54 ของคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ

 

 

 

โดยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ใน EEC ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด รวมทั้งโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรม EECiที่จังหวัดระยอง ได้ผู้ชนะการประมูลครบถ้วนแล้ว

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังได้เชิญชวนนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ทั้งการลงทุนในไทยทั้งระยะสั้นและระยายาว พร้อมให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลเตรียมความพร้อมทั้งด้านโลจิสติกส์ ระบบรถไฟความเร็วสูง สาธารณูปโภค แหล่งน้ำเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรม รวมทั้งแรงงานฝีมือทั้งในและนอกระบบเพื่อตอบสนองการลงทุนของ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เป็นประธานในพิธีรับมอบ ขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ซึ่งเป็นโครงการในความรับผิดชอบของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และแก้ไขปัญหาจราจร อำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนในพื้นที่ กทม.

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี มีแนวเส้นทางพาดผ่านตอนเหนือของกรุงเทพฯ ในแนวตะวันตก – ตะวันออก ระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 30 สถานี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีแนวเส้นทางพาดในแนวเหนือ - ใต้ ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 23 สถานี

 

 

โดยทั้ง 2 โครงการ ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ Monorail แบบคร่อมราง บนทางวิ่งยกระดับเหนือแนวเกาะกลางถนน ที่ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างน้อยกว่าระบบรถไฟฟ้ารางหนัก หรือ Heavy Rail เหมาะสมกับงานก่อสร้างในพื้นที่ที่มีความแออัด

รถไฟฟ้าเป็นรุ่น Bombardier Innovia Monorail 300 ควบคุมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ CITYFLO 650 แบบไร้คนขับ ภายในห้องโดยสารของขบวนรถมีอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างครบครัน โดยการส่งมอบขบวนรถจากผู้ผลิตมายังประเทศไทย จะดำเนินการต่อเนื่องไปจนครบภายในปี 2564 แบ่งเป็นสายสีชมพู 42 ขบวน และสายสีเหลือง 30 ขบวน ควบคู่กับขั้นตอนการติดตั้งและทดสอบระบบเพื่อสร้างความมั่นใจ สำหรับการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตามกำหนดภายในปี 2565

 

ข่าวที่น่าสนใจ

“ภูเก็ต” เปิดโรงแรมหรู ต้อนรับทัวร์จีน-ยุโรปครั้งแรก ในรอบ 7 เดือน