“อ่างพวง” ในพระราชดำริ ร.9 พลิกฟื้นชีวิต เกษตร-อุตสาหกรรม ภาคตะวันออก

by ThaiQuote, 12 ตุลาคม 2563

มูลนิธิ ปิดทองหลังพระ นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่ จ.ระยอง พาไปดูวิธีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก 8 จังหวัด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “อ่างพวง” สร้างเครือข่ายการส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ

“ระบบอ่างพวง” เป็นโครงการในพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริ เรื่องระบบอ่างพวงครั้งแรก วันที่ 30 มิถุนายน 2532 เพื่อการจัดหาน้ำในพื้นที่เพาะปลูก ในเขตอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากสาเหตุที่เกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เนื่องจากพื้นที่แห้งแล้ง แม้จะมีอ่างเก็บน้ำอยู่จำนวนมาก แต่ก็มีเพียงขนาดเล็ก ไม่เพียงพอกับความต้องการ และอ่างเก็บน้ำที่มีความจุพอสมควรก็มีไม่เพียงพอ


พระราชดำริ “ระบบอ่างพวง” ในเขตอ.หัวหิน เป็นการจัดทำระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ โดยเริ่มจากการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุปริมาณมากในบริเวณที่เหมาะสม อาทิ ในเขตต.หนองพลับ ที่มีโครงการพัฒนาที่ดินหนองพลับอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


จากนั้นระบบอ่างพวงก็มีการพัฒนา ต่อเนื่องตามพระราชดำริ จากปี 2532 เสร็จสมบูรณ์ปี 2549 ไม่เพียงแต่ในพื้นที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดใกล้เคียง เช่น เพชรบุรี และอีกหลายพื้นที่ น้อมนำไปใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำโดยนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณมาก สู่อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย จากอ่างหนึ่งไปยังอีกอ่างหนึ่ง เพื่อให้พื้นที่มีน้ำอย่างเพียงพอ ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จนเกิดเป็นเครือข่ายการใช้น้ำ


“สุชาติ เจริญศรี” รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะ ประธานคณะกรรมการจัดการน้ำภาคตะวันออก กล่าวถึง การน้อมนำพระราชดำริ “อ่างพวง” มาปรับใช้เพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก ว่า พื้นที่ภาคตะวันออกถือเป็นพื้นที่แรกที่มีการเชื่อมโยงระบบน้ำอย่างสมบูรณ์ที่สุด ด้วยศาสตร์พระราชาที่เกี่ยวข้องกับระบบการกระจายน้ำที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยง คือมีแหล่งเก็บน้ำ มีระบบกระจายน้ำ และโครงสร้างระบบท่อที่เป็นโครงข่าย


ทั้งนี้ภาคตะวันออกมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใน 8 จังหวัด มีความต้องการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก แม้มีปริมาณฝนตกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่น้ำจากแหล่งส่วนใหญ่ได้ไหลแกไปสู่ทะเลเป็นจำนวนมาก


พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งเรื่องของ พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ผลิตผลไม้สำคัญ ดังนั้น เรื่องที่กรมชลประทานจะต้องคำนึงถึง คือ การจัดการระบบน้ำอย่างมั่นคงป้องกันผลกระทบต่อภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง ทั้ง อุตสาหกรรม การเกษตร และท่องเที่ยว จึงทำให้มีการน้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าวมาใช้ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกัน ด้วยระบบเส้นท่อ


โดยเริ่มต้นที่ จ.ระยอง จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณกักเก็บน้ำ 238 ล้านลบ.ม.เชื่อมโยง อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการผลิตประปา เพื่อการอุปโภค-บริโภค และภาคเกษตร ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1 แสนไร่ และต้องเชื่อมโยงน้ำไปยัง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งถือว่าไม่มีเพียงพอ ดังนั้นจึงมีแนวคิดการนำน้ำจาก จ.จันทบุรีมาใช้ ด้วยการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ซึ่งขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกต ปริมาณเก็บน้ำ 60 ล้านลบ.ม.


ส่วนอีก 2 อ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ โดยสามารถเก็บน้ำรวมกันได้ประมาณ 140 ล้านลบ.ม. ขณะที่อีกแห่งหนึ่งยังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่จะช่วยกัก้เก็บน้ำได้ประมาณ 100 ล้านลบ.ม.

“แหล่งต้นน้ำจาก จ.จันทบุรี ก่อนหน้าที่จะมีอ่างเก็บน้ำนั้น น้ำส่วนใหญ่จะไหลลงทะเลโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ปีละกว่า 1,000 ล้านลบ.ม. ดังนั้นกรมชลประทาน จึงได้จัดทำระบบท่อ เพื่อสูบน้ำดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ผ่านสถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ ผ่านคลองวังโตนดมาเติมในอ่างเก็บน้ำประแสร์วันละ 4.5 แสนลบ.ม. โดยน้ำเหล่านี้นอกจากใช้ในจ.ระยอง แล้ว จะเชื่อมต่อไปยัง จ.ชลบุรี โดยผ่านโครงการวางระบบเชื่อมโยงน้ำ จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ.ศรีราชา แล้วผ่านไปสู่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ซึ่งถือเป็น HUB ธนาคารน้ำ ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ทั้งหมด 117 ล้านลบ.ม.”

สถานการณ์การใช้น้ำในภาคตะวันออก ยังต้องมีการเติมเต็มในแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งขณะนี้มีเพียง อ่างเก็บน้ำสียัด โดยในปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยมาก ประมาณ 20% ของปริมาณกักเก็บน้ำปกติที่ 300 ล้านลบ.ม. โดยอาจกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งในอนาคตจะมีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำอีกประมาณ 3 แห่งด้วยกันคือ อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน อ่างเก็บน้ำหนองกระทิง และอ่างเก็บน้ำตะพง เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ EEC โดยเฉพาะในจ.ฉะเชิงเทรา และอยู่ในแผนงบประมาณปี 64

อย่างไรก็ตาม การน้อมนำแนวทางพระราชดำริ “อ่างพวง” มาต่อยอด ขยายผล เพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน และภาคการเกษตรเป็นหลัก เมื่อสมบูรณ์แล้วก็จะช่วยเกื้อหนุนในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ระบบเชื่อมโยงน้ำ จึงถือเป็นระบบที่ดีที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออก ทำให้เกิดความสมบูรณ์ของระบบการจัดการน้ำ

ด้านกลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับประโยชน์จาก การน้อมนำพระราชดำริ “อ่างพวง” มาใช้ อย่างกลุ่มผู้ใช้น้ำกระแสบน ปี 2551 ( ปีก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ) ต.กระแสบน อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตรตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี 2563 ตั้งแต่ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำ จนกระทั่งปีนี้ ที่น้ำในอ่างฯ น้อย

 


“แอ๊ ผลศิริ” ประธานกลุ่มฯ กล่าวว่า สมาชิก 32 คนที่รวมกลุ่มส่วนใหญ่จะปลูก ยางพารา ทุเรียน ขนุน โดยก่อนหน้านี้ก่อนปี 2548 ที่ยังไม่มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำประแสร์ แม้ว่าจะมีสวนผลไม้ไม่มาก แต่ในบางปีเกษตรกรก็จำเป็นที่จะต้องซื้อน้ำมาไว้ เพื่อทำการเกษตร ในราคา 100 บาทต่อ 6,000 ลิตร คือต้องดิ้นรนทุกอย่าง ทั้งการขุดบ่อน้ำบาดาล ขุดสระ เก็บน้ำของตัวเอง

 

 

 

 


โดยปัจจุบัน เกษตรกรได้ใช้น้ำจาก คลองส่งน้ำฝั่งซ้าย ซึ่งอยู่ในโครงข่ายอ่างพวง ด้วยการสูบน้ำขึ้นมาเก็บไว้จากระบบคลองธรรมชาติ ซึ่งเมื่อน้ำไม่พอใช้แล้ว ทางกลุ่มก็จะร้องขอกับทางหน่วยงานชลประทานในพื้นที่ เพื่อสูบน้ำเข้ามาไว้ในคลอง โดยจะช่วยให้มีน้ำใช้แต่ละครั้งได้นานประมาณ 3-4 สัปดาห์

ขณะเดียวกันทางกลุ่มฯ ก็จะวัดปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี เพื่อเปรียบเทียบและบริหารจัดการใช้น้ำอย่างเป็นระบบ โดยเก็บข้อมูลทั้งปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิในแต่ละวัน เพื่อนำมาใช้คำนวณคาดการณ์ปริมาณน้ำพอทำสวนหรือไม่ และจะต้องเพิ่มน้ำจากส่วนไหนมาเสริม พร้อมทั้งการใช้ระบบจ่ายน้ำแบบสปริงเกอร์ในแต่ละสวนของสมาชิก

“สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ ซึ่งเราจะดูจากดินในสวน ต้นไม้ แต่ละคนก็มีประสบการณ์ทำสวนตั้งแต่ 20-30 ปี ซึ่งผ่านวิกฤตมาด้วยกันหลายครั้ง ดังนั้นประสบการณ์ดังกล่าวจึงสอนให้เรา ต้องตรวจสอบปริมาณน้ำ และคาดการณ์การแก้ไขปัญหาน้ำไม่พอใช้ในทุกปี”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การน้อมนำศาสตร์พระราชาของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องของ “อ่างพวง” มาใช้นั้น ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

 

ข่าวที่น่าสนใจ