พาไปรู้จัก 10 เพลงประท้วงยอดนิยมตลอดกาล โลกสากลต่อสู้ด้วยบทเพลง

by ThaiQuote, 27 ตุลาคม 2563

โดย....กองบรรณาธิการ ThaiQuote

สำหรับประเทศไทยไล่เรียงเหตุการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ- 6 ตุลาฯ -พฤษภาทมิฬ ท่ามกลางความสูญเสียของฝ่ายเรียกร้อง วัตถุดิบที่มาจาก ความอัดอั้นตันใจ เสียงปลุกใจ เสียงสะอื้นร่ำไห้ ได้ถูกศิลปินกลั่นออกมาเป็นบทเพลง จนกลายเป็นเพลงดังและคุ้นหู อยู่กับเรามาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน แม้ศิลปินผู้แต่ง และขับร้อง จะมีอุดมการณ์ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยแล้วก็ตาม

ย้อนกลับไปในอดีต ศิลปิน มักหยิบฉวยเอาวัตถุดิบ จากเหตุบ้านการเมือง ณ เวลานั้น มาใช้เป็นเนื้อร้องของบทเพลง ซึ่งบอกเล่าความเป็นไปของสังคม แน่นอนบางครั้งบทเพลงที่เอื้อนเอ่ยออกไปนั้น กระตุกต่อมโดนใจผู้ฟัง จนทำให้ จาก “ศิลปินนิรนาม” กลายเป็น “ศิลปินดัง” ในชั่วข้ามคืน

หากเพลง เพลงนั้น ถูกใช้ได้ถูกที่ ถูกเวลา เพื่อขับกล่อมในกับคนได้มีอารมณ์ร่วม คำกล่าวที่ว่า “ดนตรีคือสิ่งที่ทรงพลังกว่าอาวุธทุกชนิด” ก็คงไม่เกินจริงนัก และนี่คือ 10 เพลงประท้วง “Protest song” ยอดนิยมตลอดกาล ที่ได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซต์นิตยสาร โรลลิ่งสโตน (Rolling Stone) ในปี 2014

1.Masters of War - Bob Dylan(1963)

บทเพลง ที่ Bob Dylan แต่งออกมาด้วยความเคืองขุ่น ต่อรัฐบาลและผู้นำ ในยุคที่ต่อเนื่องกันของสงครามเย็น และสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นยุค “อุตสาหกรรมอาวุธ” ที่เฟื่องฟูของ สหรัฐอเมริกา

“ฉันจะตามไปที่โลงศพของคุณในช่วงบ่ายที่ซีดเซียวและฉันจะคอยดูในขณะที่ร่างคุณถูกยกลงไปที่เตียงมรณะ และฉันจะยืนอยู่เหนือหลุมศพของคุณจนกว่าฉันจะแน่ใจว่าคุณตายแล้ว” Bob Dylan ได้ระบายความเกรี้ยวกราดของเขาผ่านบทเพลง

2. Ohio- Crosby, Stills, Nash and Young (1970)

หลังเกิดเหตุจลาจลระหว่างนักศึกษาและเจ้าหน้าที่รัฐ จนนำไปสู่การสังหารหมู่ จากการใช้กำลังทหารเข้าปราบนักศึกษาที่ Kent State University ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเค้นต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ทำให้นักศึกษาหนุ่มสาวเสียชีวิต 4 คน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ Neil Young แต่งเพลง Ohio อันโด่งดังออกมา
Young ได้ถ่ายเทความโกรธ และเศร้า ที่เห็นรูปถ่ายของ Mary Ann Vecchio วัย 14 ปี คุกเข่าอยู่เหนือศพของนักศึกษา Jeffrey Miller ผ่านเนื้อเพลงนี้ พร้อมกับเรียกเพื่อนร่วมวง Crosby, Stills, Nash เข้าสตูดิโอในวันรุ่งขึ้นเพื่อบันทึกเพลงดังกล่าวทันที
เพลงนี้ ได้ส่งให้ Crosby, Stills, Nash and Young (CSNY) กลายเป็นวง Folk Rock ที่โด่งดังของอเมริกา จนกระทั่งเป็นต้นแบบหนึ่งของวงเพื่อชีวิตในประเทศไทย

3. For What It's Worth- Buffalo Springfield (1966)

“For What It's Worth” เพลงนี้ ได้ถูกยกให้เป็นเพลงสัญลักษณ์ของการประท้วง ซึ่งแตกต่างจากเพลงอื่นๆ ในยุคนั้นที่กล่าวถึงเหตุการณ์สงครามเวียดนาม โดย Stephen Stills ( ผู้ก่อตั้งวง Buffalo Springfield ร่วมกับ Neil Young ก่อนที่จะมาร่วมวงกันอีกครั้งใน CSNY) ได้แต่งเพลงนี้ ด้วยการหยิบยกเอาเนื้อหาจากเหตุการณ์การประท้วงและจราจลระหว่าง “กลุ่มฮิปปี้” และตำรวจ ในปี 1966 มาใช้

นี่คือยุคที่ก่อกำเนิด “ฮิปปี้” หรือกลุ่มเสรีชนที่มีนัยยะทางการสังคมและการเมืองในการยอมรับและเปิดกว้าง และโหยหาอิสระในชีวิต พร้อมกับการหันหลังให้กับรัฐบาล จนนำไปสู่ยุคการปฏิวัติวัฒนธรรมในอเมริกา

4. The Times They Are A-Changin' - Bob Dylan(1963)

“เพราะเวลามันคือการเปลี่ยนแปลง” ชื่อเพลงนี้มันสามารถบ่งบอกเรื่องราวที่กำลังเป็นไปได้ดีที่สุดในแต่ละยุคสมัย โดย Bob Dylan ได้แต่งเพลงนี้ขึ้น เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการเสียชีวิตของ John F Kennedy อดีตประธานาธิบดีคนที่ 36 ของสหรัฐฯ และอีกเพียงไม่กี่เดือนต่อมาก็มีการออกกฎหมายสำคัญของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “รัฐบัญญัติสิทธิพลเมือง ปี 1964”

บทเพลงนี้ได้ใช้ในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมในอีกหลายครั้ง และมันเคยได้ส่งเสียงเอื้อนเอ่ยให้คนในทำเนียบขาว ยุคประธานาธิบดี บารัค โอบามา ฟังเมื่อปี 2010

เมื่อไม่นานมานี้ กระดาษแผ่นเดียว ซึ่ง Bob Dylan ได้ใช้ในการแต่งเนื้อเพลงนี้ ได้กลายเป็นเนื้อเพลงร็อค ซึ่งมีมูลค่ามากที่สุดในโลก โดยมีการเสนอขายด้วยราคาถึง 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 71.28 ล้านบาท ซึ่งมันแสดงถึง ความยิ่งยงและทรงพลังของเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี

5. Eve of Destruction - Barry McGuire (1965)

“มารดา แห่งการทำลายล้าง” นี่คือเพลงที่ Barry McGuire ได้แต่งขึ้นมาเพื่อจะทำให้มันกลายเป็นเพลงต่อต้านสงครามอย่างเต็มรูปแบบ และเล่นใหญ่ด้วยการเยาะเย้ยถากถางย้อนแย้ง ตั้งแต่ชื่อเพลง ด้วยการนำเอา “Eve” ซึ่งเปรียบเสมือน มารดาผู้ให้กำเนิด ตามคติทางศาสนา มาเป็นผู้ทำลายล้างเสียเอง เพลงนี้เกิดขึ้นในยุคของหนุ่มสาวที่ถูกจำกัดสิทธิทางการเมือง พวกเขาไม่มีสิทธิเลือกตั้งจนกว่าอายุ 21 แต่ผู้คนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไปกลับได้รับสิทธิของการถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามเวียดนามแทน โดยผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปรบนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีชีวิตอยู่ฉลองวันเกิดปีที่ 21 ของตนเองด้วยซ้ำ

6. Killing In the Name- Rage against the Machine (1992)

บทเพลงฮิตติดหู ของเหล่าชาวร็อคเมืองไทย ซึ่งเป็นซิงเกิ้ลเปิดตัวของ Rage Against the Machine ในปี 1992 ด้วยการผสมผสานระหว่างแร็พและร็อคที่เป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่เริ่มต้น เพลงสื่อถึงการเหยียดสีผิว ความโหดร้าย และการต่อต้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ด้วยท่วงทำนองที่ปลุกใจฝูงชน และมันยังเคยถูกใช้เป็นบทเพลงซึ่งแสดงออกถึงการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับนายทุน จนกลายเป็นที่มาที่ทำให้วง จัดฟรีคอนเสิร์ตให้คนอังกฤษได้เข้าชมกันในปี 2010 มันจึงกลายเป็นเพลงที่สมควรอย่างยิ่งจะต้องถูกจัดให้อยู่ใน 10 เพลงประท้วงยอดนิยมตลอดกาล

7. Blowin' in the Wind - Bob Dylan(1962)

"Blowin 'in the Wind" คือ 1 ในเพลงฮิตติดหูนักฟังเพลงชาวไทย และเป็น 1 ในหลายบทเพลงที่ส่งให้ Bob Dylan ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี 2560 ด้วยความเอกอุ ด้านการนำเสนอเนื้อเพลง ให้กลายเป็น “บทกวีที่มีท่วงทำนอง”
‘Blowin’ In The Wind’ ได้กลายเป็นเพลงสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมกันของคนในสังคม จากการที่ Bob Dylan ได้นำเอาทำนองบทเพลงพื้นบ้านของพวกผิวสีที่ชื่อว่า ‘No More Auction Block’ มาเรียบเรียงและเขียนเนื้อใหม่ จนกลายเป็นเพลงที่ส่งเสียงเรียกร้องแทนชนชั้นแรงงาน พร้อมกับการตั้งคำถาม ที่สั่นคลอนศีลธรรม มนุษย์ธรรม ในใจของชนชั้นปกครอง

8. Fortunate Son- Creedence Clearwater Revival (1969)

ในยุคสงครามเวียดนาม เมื่อ John Fogerty นักร้องนำแห่ง วง CCR ( Creedence Clearwater Revival) ได้สร้างกระแสปั่นป่วนให้กับสังคมอเมริกันในขณะนั้น ด้วยการเขียนเนื้อเพลงซึ่งเชือดเฉือนและฉีกเอาความแตกต่างระหว่างชนชั้นนำ กับชนชั้นกลางและล่าง ออกจากกันได้อย่างชัดเจน จากการเกณฑ์ทหารไปรบในสงครามเวียดนาม และตบท้ายด้วยคำพูดประชดประชันที่บอกว่า “ฉันไม่ใช่คนโชคดี”

9. Hurricane - Bob Dylan(1975)

Bob Dylan เขียนเพลงนี้ขึ้นจากเหตุการณ์ที่ “Rubin "Hurricane" Carter” นักมวยอาชีพ ซึ่งถูกจำคุกในข้อหาฆาตกรรมที่เขาอ้างว่าไม่ได้ทำ เพลงความยาว 8 นาที ได้บรรยายถึงความเจ็บปวด ของ นักมวยผิวสีคนหนึ่ง ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์การแบ่งแยกชาติพันธุ์

การสอดแทรกและเสียดสีเนื้อหาถึงความไม่เสมอภาคของการเหยียดผิวในสังคมอเมริกันขณะนั้น ทำให้เพลงนี้ยังคงทรงพลัง และมีความหมายถึงการเรียกร้องหาความเสมอภาคอยู่ในยุคปัจจุบัน แม้ว่า Dylan จะไม่เคยเล่นเพลงนี้อีกเลยตั้งแต่ปี 1976

10. I Feel Like I'm Fixin' to Die Rag - Country Joe and the Fish(1967)

Country Joe McDonald ได้เปรียบเปรยเนื้อหาในเพลงนี้ ถึงยุคของสงครามเวียดนาม ที่มีการเกณฑ์เยาวชนไปรบในสงครามที่พวกเขาไม่รู้ก หลายคนต้องวางหนังสือลงแล้วหยิบปืนขึ้นมาถือแทน

โดยเพลงนี้ถือเป็นเพลงต่อต้านสงคราม ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดเพลงหนึ่ง และถูกยกย่องให้เป็นเพลงที่สื่อความหมายเกี่ยวกับสงครามเวียดนามได้ดีที่สุดในคอนเสิร์ต “Wood Stock” ด้วยท่อนคอรัสที่ร้องง่าย อย่าง “And it's one, two, three, what are we fighting for?” (หนึ่ง สอง สาม เราสู้เพื่ออะไร)

 

ข่าวที่น่าสนใจ