ฤทธิ์เดช กระสุนยาง ไม่ใช่แค่ช้ำ แต่โดนเข้าไปอาจถึงตายได้

by ThaiQuote, 17 พฤศจิกายน 2563

จากเหตุการณ์ชุมนุมในวันนี้ (17 พ.ย.63) ซึ่งทางตำรวจควบคุมฝูงชน ได้ดำเนินการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำที่ผสมแก๊สน้ำตา ใส่กลุ่มผู้ชุมนุม “ราษฎร” โดยในขณะเดียวกันได้มีการแจกจ่ายอาวุธปืนลูกซอง และกระสุนยาง เพื่อเตรียมพร้อมยกระดับการสลายการชุมนุมไปถึงขั้นสูงสุด

 

สำหรับการใช้กระสุนยางนั้น ถูกระบุไว้ในยุทธวิธีสลายการชุมนุม ของกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ว่าเป็นอุปกรณ์ในขั้นตอนสุดท้ายของการควบคุมฝูงชน โดยจะใช้อุปกรณ์ดังกล่าวก็ต่อเมื่อ การชุมนุมของฝูงชนมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิตของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก บก.อคฝ. ระบุว่า ขนาดของกระสุนยางที่ใช้ในการควบคุมฝูงชนนั้นส่วนใหญ่ ใช้กับปืนลูกซอง ตลอดจนปืนพกตั้งแต่ขนาด .9 ,.357, .44 โดยมีระยะหวังผลตั้งแต่ 1-50 เมตร โดยสาเหตุที่มีระยะหวังผลสั้นนั้น เนื่องจากกระสุนยาง มีการบรรจุดินปืนน้อย มีหัวกระสุนเป็นยาง ปลอกกระสุน ส่วนใหญ่เป็นพลาสติก มีครีบท้ายเพื่อบังคับการทรงตัว และยิงได้ทีละนัด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีระยะยิงหลังผลตั้งแต่ 1-50 เมตร แต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่ผ่านการอบรมนั้นจะต้องปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และกรอบของกฎหมาย โดยจะไม่ยิงในระยะที่ใกล้เกิน หรือต่ำกว่า 15 เมตร และจะไม่เล็งในส่วนที่เป็นจุดสำคัญบนตัวประชาชน เที่อาจทำให้เป็นอันตรายร้ายแรง

 


ในส่วนของอานุภาพ และประสิทธิภาพความรุนแรงของกระสุนยางนั้น บีบีซี ได้เคยรายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยอ้างอิงผลวิจัยของแพทย์ชาวอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ว่า ในการปราบจราจล หรือการสลายการชุมนุมนั้น ไม่ควรนำกระสุนยาง หรือกระสุนชนิดอื่นๆ ที่ถูกอ้างว่าไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตมาใช้ เนื่องจากพบว่า อาจทำให้เกิดโอกาสบาดเจ็บสาหัส เกิดความพิการ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้

พญ.โรหิณี ฮาร์ ผู้นำทีมวิจัยและสมาชิกขององค์การแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่ผลการศึกษานี้ลงในวารสารวิชาการ BMJ Open โดยระบุว่ากระสุนยางหรือกระสุนชนิดที่คิดว่าปลอดภัยนั้น มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ ทั้งในการยิงระยะประชิดและในการเล็งยิงจากระยะไกล

สำหรับงานวิจัยดังกล่าวมาจากผลการวิเคราะห์ 26 ชิ้น ที่ศึกษาจากผู้ถูกยิงด้วยกระสุนยาง กระสุนพลาสติก กระสุนยางผสมโลหะ และกระสุนโพลียูรีเทนปลายกลวง (AEP) รวม 1,984 คน นับแต่ปี 1990 เป็นต้นมา

ทั้งนี้พบว่า 15% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บกลายเป็นผู้พิการถาวรโดยส่วนใหญ่มักตาบอด โดยคนกลุ่มนี้ 80% ถูกยิงด้วยกระสุนยางผสมโลหะ นอกจากนี้ ผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางส่วนใหญ่จะบาดเจ็บสาหัส และในจำนวนนี้ 3% (ราว 51 คน) เสียชีวิต

รายงานดังกล่าว สรุปว่า การยิงกระสุนยางในระยะประชิด แม้จะเล็งเป้าหมายได้ดีกว่า แต่กระสุนก็จะมีพลังรุนแรงเท่ากับกระสุนจริง จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากเล็งยิงกระสุนยางในระยะที่ห่างออกไป ความแม่นยำจะลดลงอย่างมาก เพราะไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ ทำให้เบี่ยงเบนพลาดเป้าได้ง่าย ดังนั้นบ่อยครั้งที่ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต มักเป็นคนรอบข้าง หรือผู้ที่ลูกหลง มากกว่าที่จะเป็นเป้าหมายจริงของเจ้าหน้าที่


ข่าวที่น่าสนใจ

“เพื่อไทย” จวกยับ ส.ส.พปชร. คิดได้ยังไง บอกแก้ ”รธน.”แล้ว แม้ว-ปู จะได้กลับบ้าน