แรงงานข้ามชาติ ปัญหาของระบบถูกมองข้ามด้วยทุนนิยม

by ThaiQuote, 28 ธันวาคม 2563

กรณีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ที่รุนแรงถึงขั้นกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยต้นเหตุถูกชี้ชัดไปที่ “แรงงานข้ามชาติ” หรือ “แรงงานต่าวด้าว” ในพื้นที่ “เมียนมาทาวน์” ที่คาดว่ามีชาวเมียนมา ซึ่งเข้ามาเพื่อค้าขายแรงงานอยู่อาศัยเป็นจำนวนแสนคน

ต่อเนื่องจากการเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อโควิดในคนไทย “แรงงานเมียนมา” กลายเป็นผู้ต้องหาสำคัญ ถูกสังคมไทยรังเกียจ และบูลลี่จนกลายเป็นเหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของพวกเขาเองทั้งหมด

ในอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นคำถามตัวโตถึงรัฐบาล คือ เรื่องของการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัย คสช.นั้นได้ผลมากน้อยแค่ไหน เพราะการแพร่ระบาดของโควิดครั้งนี้ส่วนใหญ่มาจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ผ่านการคัดกรองหรือกักตัวเพื่อเฝ้าระวัง

“Thaiquote” ได้ร่วมพูดคุยประเด็นดังกล่าว ร่วมกับ กลุ่มเอ็นจีโอเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ซึ่งได้เปิดเผยถึงข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อย


“ค้ามนุษย์” ความล้มเหลวของรัฐในการแก้ไขปัญหา

“ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เป็นปัญหาที่มีมาโดยตลอด ซึ่งรัฐบาลล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หากบอกว่าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์นั้นได้ผล ต้องใช้คำว่า “ปิดตาข้างเดียว” ในช่วงก่อนโควิดระบาด และเมื่อเกิดโควิดระบาดรอบใหม่ แน่นอนไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าว” เอ็นจีโอสาว เกริ่นถึงความล้มเหลวด้านการแก้ไขปัญหาค้ามุษย์ จนนำมาสู่การระบาดของโควิดในแรงงานต่างด้าว

ระบบแรงงานต่างด้าว

ที่ผ่านมาเราพบว่า ระบบการจัดการแรงงานของไทย มีจุดบกพร่องในเรื่องของนายจ้าง และการสนับสนุนของรัฐบาล แน่นอนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายนั้น ย่อมต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ระบบแรงงานไทยมอบสิทธิของแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายเท่าเทียมกับแรงงานภายในประเทศ เช่น เรื่องของสวัสดิการที่นายจ้างต้องมีให้กับแรงงาน มีที่พัก อาหาร 3 มื้อ ฯลฯ และระบบประกันสังคมซึ่งแรงงานต่างด้าวเองก็ได้สิทธิเช่นเดียวกัน

นี่คือเรื่องที่เจ้าของระบบทุนนิยม อย่างนายจ้าง ไม่อยากจะต้องเพิ่มต้นทุน จึงนำไปสู่การลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด

“แรงงานเมียนมา” ทะลักกว่าหมื่นคนในเดือน พ.ค.

ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่ามีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย อยู่ในภาคอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีโรงงานประมาณ 6,082 โรง จำนวน 23,3071 คน จากจำนวนแรงงานทั้งหมด 345,284 คน ขณะที่แรงงานผิดกฎหมายนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของตลาดกุ้ง และตลาดสดทั่วไป

ด้านข้อมูลล่าสุดของกลุ่มเครือข่ายฯ พบว่า ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายกว่า 2 ล้านคน เช่นเดียวกันที่พบว่ามีตัวเลขของแรงงานผิดกฎหมายอยู่ในระยะใกล้เคียงกันคือ 2 ล้านคน

นอกจากนี้ยังพบว่า มีการลักลอบเข้ามาของแรงงานเมียนมาเฉพาะในพื้นที่จ.สมุทรสาคร นับหมื่นคน ในเดือน พ.ค.63 และทะยอยเข้ามาเรื่อยๆ นั่นคือช่วงก่อนโควิดระบาดรอบใหม่ สาเหตุมาจากความต้องการแรงงานในพื้นที่เศรษฐกิจ ทั้งโรงงาน และตลาดค้าขายอาหารทะเล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า

“เมื่อช่วงโควิดระบาดรอบแรก มีการล็อกดาวน์ประเทศ เราพบว่าแรงงานเมียนมา และแรงงานต่างด้าวอื่นๆ ไหลกลับสู่ประเทศต้นทางเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเราหยุดการแพร่ระบาดของโควิดได้แล้ว ต่อมากลุ่มระบบทุน โดยเฉพาะโรงงานใน จ.สมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียงเองก็พูดถึงการฟื้นเศรษฐกิจ แน่นอนกำลังหลักดังกล่าวคือแรงงานเมียนมา แต่ติดปัญหาของมาตรการควบคุมโรค ซึ่งหากจะเข้าประเทศต้องกักตัว 14 วัน ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับนายจ้าง แน่นอนว่าทางออกของการแก้ปัญหาคือ ลักลอบนำเข้าแรงงานต่างชาติ เมื่อมีออเดอร์ ก็เกิดขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างชาติขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่แรงงานที่ผิดกฎหมายดังกล่าว อาจเป็นแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายในก่อนหน้านี้ก็ได้” เอ็นจีโอกล่าวกับเรา

การบูลลี่ของ “คนไทย” ต่อ “แรงงานต่างด้าว”

เรื่องดังกล่าวอาจพูดได้ว่าเกิดจากการไม่มีความเข้าใจเพียงพอ ซึ่งรัฐจะต้องสร้างความเข้าใจต่อคนทุกกลุ่ม รวมทั้งความกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19

“เมื่อรัฐพูดถึงบทลงโทษที่รุนแรงต่อแรงงานต่างด้าว และนายจ้าง ยิ่งทำให้ทั้งนายจ้าง และแรงงานกลัวความผิด ซึ่งอาจทำให้เรื่องบานปลาย ทุกคนต่างหนีทำให้เชื้อยิ่งกระจาย ณ วันนี้รัฐต้องให้ความสำคัญถึงการรักษาและควบคุมโรค ประเด็นเรื่องผิดถูกของกฎหมายต้องพักไว้ก่อน โดยต่อจากนี้จึงต้องมองถึงการจัดระบบของแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง ซึ่งก่อนหน้านี้เราทำได้ แม้จะมีบ้างบางส่วนที่อยู่นอกระบบ” เอ็นจีโอกลุ่มเครือข่ายฯ อธิบายถึงการสร้างความเข้าใจของคนไทยกับแรงงานต่างด้าว

ความสำคัญ และการคงอยู่ของ “แรงงานต่างด้าว”

วันนี้แรงงานต่างด้าว กลายเป็น “แพะรับบาป” เมื่อนำเชื้อโควิดเข้ามแพร่ระบาดในประเทศไทย เช่นเดียวกับในอดีตที่เรามองปัญหาของ แรงงานต่างด้าว คือกลุ่มคนซึ่งแย่งงานทำจากคนไทย แม้เรไม่เคยมองย้อนตัวเองว่า งานที่แรงงานต่างด้าวทำนั้น ส่วนใหญ่คนไทยไม่ประสงค์ที่จะนำ ทั้งเรื่องของรายได้ ศักดิ์ศรี ที่งานบางประเภทถูกมองว่าเป็นงานที่ด้อยค่า ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสของแรงานต่างด้าว

หากนับข้อมูลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ จ.สมุทรสาคร เพียงจังหวัดเดียว ส.อ.ท.คาดการณ์ว่าใน 1 วันที่ต้องล็อกดาวน์จังหวัดนั้น ทำให้เศรษฐกิจเสียหายถึงวันละ 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย ประเมินค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์สมุทรสาคร ในระยะเวลา 1 เดือนไว้ที่ประมาณ 45,000 ล้านบาท

ข้อมูลเหล่านี้สามารถบ่งชี้ว่าแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จ.สมุทรสาครมีความสำคัญในการขับเลคื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศได้เมากน้อยแค่ไหน

บทสรุป ปัญหาแรงงาน

เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ให้ความสำคัญกับ “แรงงาน” ว่าเป็น 1 ในกลไกหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะแรงงานไทย เท่านั้น แต่รวมถึงแรงงานต่างด้าว โดยเป้าหมายสูงสุดของการจัดการปัญหาแรงงาน คือ การทำให้แรงงานทุกภาคส่วนนั้นอยู่ในระบบที่ชัดเจน


นอกจากนี้ยังต้องสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นในหมู่แรงงานและครอบครัว รวมทั้งอยากให้คนในสังคมไทยทำความเข้าใจ ว่าแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าว คือ ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

 

บทความที่น่าสนใจ

รอวันเน่า หรือเปลี่ยนเกม ทางออก "กุ้ง" บนสมรภูมิโควิด-19