ไทยเร่งปักหมุด! “โรงพยาบาลสนาม” ตัวช่วยสำคัญต่อสู้วิกฤติโควิด-19

by ThaiQuote, 11 มกราคม 2564

จำเป็นแค่ไหน!! “โรงพยาบาลสนาม” คืออะไร ทำไมต้องมี? กุญแจไขชัยชนะโควิด-19 ตัวช่วยสำคัญต่อสู้วิกฤติยอดผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ยอดติดเชื้อสูงมากขึ้นกว่าเดิม ล่าสุด (11 ม.ค.64) กราฟพุ่งไปเกินหนึ่งหมื่นคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องยกระดับการต่อสู้ โดยจัดตั้ง “โรงพยาบาลสนาม” ขึ้นมา เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีหากมีผู้ป่วยเกินจนกำลังความสามารถของโรงพยาบาลที่ระรับไหว

โรงพยาบาลสนามคืออะไร ทำไมต้องมี

สำหรับโรงพยาบาลสนาม หรือ Field Hospital หรือ Cohort Center ถอดแบบมาจากการรักษาในช่วงศึกสงครามที่ทหารไว้ใช้ช่วยผู้ป่วยในยามฉุกเฉิน ปัจจุบันปรับเปลี่ยนมาเป็นเพื่อใช้ในยามเกิดภัยพิบัติที่ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากจนเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง เช่นกรณีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก



โดยเป็นไปตามมาตรฐานตามหลักการของสาธารณสุข โดยเฉพาะระบบการควบคุมการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการระบาด สู่บุคคลภายนอกและชุมชน สำหรับสถานที่ที่จะใช้ อาทิเช่น วัด โรงเรียน โรงยิม หรือ หอประชุมขนาดใหญ่ โดยต้องอากาศโปร่ง และเป็นสถานที่ที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี อยู่ห่างจากชุมชน แต่มีระบบน้ำ ประปา และไฟฟ้าเข้าถึง

โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแนวทางการใช้ “โรงพยาบาลสนาม” จากกรณีมีการระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 มีวัตถุประสงค์ คือ จัดตั้งระบบบริการการดูแลรักษาพยาบาล ผู้ป่วยที่เข้าข่าย PUI ในกรณีที่เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล ตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วย รักษาแบบ One Stop Services รับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ไว้ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยใน และให้การดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง รวมถึงใช้เป็นสถานที่เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ และได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาลซึ่งดูแลผู้ป่วยในภาวะเฉียบพลัน หรือวิกฤต จนดีขึ้นแล้ว

โรงพยาบาลสนามมีที่ไหนบ้าง

จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นต้นตอของการระลอกใหม่และเป็นแหล่งรวมของกลุ่มแรงงานต่างด้าวติดเชื้อจำนวนมาก โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมกว่า 3,341 ราย ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือ ศูนย์ห่วงใยคนสาคร ในพื้นที่จำนวน 8 ศูนย์ รองรับได้ 2,092 เตียง ประกอบไปด้วย

1.ตลาดกลางกุ้ง

2.สนามกีฬากลาง

3.วัดโกรกกราก

4.วัฒนาแฟคตอรี่

5.เทศบาลตำบลนาดี

6.วัดสุทธิวาตวราราม

7.วัดเทพนรรัตน์

8.อบต.ท่าทราย

 


ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี มีโรงพยาบาลสนามศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน และรักษาฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จำนวน 320 เตียง และโรงพยาบาลสนามค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี รวม 174 เตียง และที่จังหวัดจันทบุรี โรงพยาบาลสนาม สนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน รวม 232 เตียง

ในส่วนพื้นที่ภาคกลาง จัหวัดนนทบุรี จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ณ โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ที่ชั้น 2 อาคารผู้ป่วยนอก จำนวน 35 เตียง และล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าหารือร่วมกับแกนนำสุขภาพ ในตำบลวัดปลายคลองขุนศรี และวัดไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย เพื่อวางแผนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มในพื้นที่

จังหวัดปทุมธานี ใช้โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ จำนวน 308 เตียง ครอบคลุมการรักษาทุกจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 4 ทั้งหมด 8 จังหวัด คือ สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังมีคำสั่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัด ให้เตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานงานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำในเรื่องการพูดคุยต่อคนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง (สถานที่ที่จะใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม) ทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการจัดตั้งและความปลอดภัยในด้านผลกระทบ

“อู่ฮั่น” ชนะโควิด-19 “โรงพยาบาลสนาม” ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

 

ย้อนไปช่วงต้นปี 2563 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เวลานั้นไวรัสโควิด-19 ลุกลามอย่างน่ากลัว ทางการจีนได้อนุมัติให้ดัดแปลงสถานที่สาธารณะสร้างเป็นโรงพยาบาลสนาม 16 แห่ง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยดัดแปลงสถานที่สาธารณะเป็นโรงพยาบาลชั่วคราว 16 แห่ง รวมทั้งการสร้างโรงพยาบาลพิเศษแบบชั่วคราวชื่อ “เหลยเสินซาน” มีขนาด 75,000 ตารางเมตร รองรับผู้ป่วย 1,500 เตียง ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียงแค่ 10 วัน

 


สำหรับโรงพยาบาลสนาม-ชั่วคราว ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการรับมือโควิด-19 ในอู่ฮั่นเป็นอย่างมาก ช่วยลดการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อไวรัสในชุมชน รวมถึงป้องกันการทรุดตัวของผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง และประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดโดยใช้เวลาเพียง 3 เดือน โดยโรงพยาบาลเหลยเสินซาน ได้ปิดลงในวันที่ 15 เม.ย.63

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ