“พะยูน” หัวใจแห่งความยั่งยืนของ “คนลิบง”

by ThaiQuote, 11 มกราคม 2564

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ข่าวการตายของพะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีจำนวนประชากรในประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ถูกกล่าวถึงด้วยความห่วงใยมาโดยตลอด นับตั้งแต่ การจากไปของ “มาเรียม” และ “ยามีล” เมื่อเดือน สิงหาคม 2562

 

“มาเรียม” และ “ยามีล” จุดประกายให้คนไทย รู้จักพะยูนมากยิ่งขึ้น พะยูนถูกเรียกชื่อตามภาษามลายูของคนในท้องถิ่นว่า “ดุหยง” ที่แปลว่า “หญิงสาวแห่งท้องทะเล”...

 

แต่กว่า 1 ปี 5 เดือน หลังความตายของลูกพะยูนน้อย ทิศทางของการอนุรักษ์สัตว์ทะเลของไทยวันนี้เป็นอย่างไร สังคมไทยกำลังลืมเลือนเรื่องดังกล่าวไปแล้วหรือไม่ หรือมันอาจเป็นเพียงแค่การจุดพุลกระแสการอนุรักษ์ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ก่อนเงียบหายไปไร้ร่องรอย บทความนี้อาจทำให้เราได้รับคำตอบ

 

เกาะลิบง บ้านของพะยูน

จากกระแสความนิยม “มาเรียม” นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยต่างหลั่งไหลหวังมาเยี่ยม “บ้านมาเรียม” บนเกาะลิบง สักครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้จักเกาะลิบง ในฐานะ “บ้านของพะยูน”

 

“พะยูน เป็นเหมือนหัวใจหลักของเกาะลิบง พูดได้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวชุมชนมาจาก พะยูน ขณะที่รายได้จากการประมง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก พะยูน เช่นกัน เพราะเมื่อเราเริ่มอนุรักษ์พะยูน เริ่มดูแลทรัพยากรในทะเล ชาวบ้านก็มีรายได้จากประมงเพิ่มมากขึ้น”

 

สุวิท สารสิทธิ์ รองประธานกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เริ่มเล่าเรื่องราวความสำคัญของ “พะยูน” จนมีการก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง เกาะลิบง ขึ้น

 

 


“แพะรับบาป” เมื่อพะยูนตาย

กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง มีสมาชิกประมาณ 30 คน โดยเน้นเด็กและเยาวชนบนเกาะเป็นอาสาสมัคร โดยอยากให้การทำงานนี้เป็นเหมือน “บทเรียนท้องถิ่น” ที่มีค่าเหมือนกับการเรียนในโรงเรียน โดยทำงานภายใต้หน้าที่หลักคือ การดูแลพะยูน ในพื้นที่รอบเกาะลิบง ซึ่งมีจำนวนประมาณ 180 กว่าตัว ข่าวดีที่เรารับรู้ คือ จำนวนพะยูนเพิ่มขึ้น แม้จะมีข่าวเศร้าในทุกปี ว่าพะยูนตาย โดยในปี62 จำนวน 23 ตัว และปี 63 ที่เพิ่งผ่านไปอีก 21 ตัว

 

 

 


“กลุ่มอาสาทำหน้าที่อนุรักษ์พะยูน โลมา เต่าทะเล อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลบคำกล่าวหาที่ว่า คนลิบงเป็นคนทำ เป็นคนล่า พะยูน อยู่ ลิบง คนลิบงทำประมง เมื่อพะยูนตาย คนลิบง คือ “แพะรับบาป” ที่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ อีกเหตุผลหนึ่งคือ เพื่อติดตามและประสานงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทั้งเรื่องการอนุรักษ์ การเฝ้าระวัง และตรวจสอบเก็บข้อมูลการเกยตื้น และซากพะยูน หรือสัตว์ทะเล ต่างๆ และแจ้งข่าวให้ชุมชนเครือข่ายได้รับทราบ”

 

 


เพื่อนบ้านที่คุ้นเคยกัน

 

“สุวิท” เอ่ยถึงคำพูดที่ว่า “พะยูนอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่รอด” ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานระหว่างกลุ่มอาสาฯ และชุมชนประมง ค่อนข้างแตกต่างจากวิธีการทำงานของภาครัฐที่มักใช้บังคับกฎหมายเพียงอย่างเดียว

 

“ทุกวันนี้ชาวบ้านเข้าใจถึงการอนุรักษ์ ทำประมงออกไปหากิน โดยที่ไม่ให้กระทบกับพะยูน การใช้เครื่องมือประมงที่ถูกต้อง ซึ่งหากทำอย่างภาครัฐ ชาวบ้านจะไม่สามารถทำประมงในพื้นที่ได้เลย ลงไปจับหอย จับปู ก็อาจผิดกฎหมาย แต่กลุ่มพยายามเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข้อมูลหรือกฎระเบียบของภาครัฐมาทำความเข้าใจกับชุมชน

 

และนำข้อเสนอความต้องการจากชาวบ้านไปสู่ภาครัฐ คนลิบงรักพะยูน บางครั้งชาวบ้านลงอวนหาปลากระบอก พะยูนก็ว่ายกินหญ้าทะเลอยู่ข้างๆกัน มันเหมือนเพื่อนบ้านที่สนิทรู้จักกัน นี่คือความใกล้ชิดระหว่างคนลิบงกับพะยูน”

 

 


ท่องเที่ยวชุมชนต้องไม่รบกวน “พะยูน”

ตามที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการมาเกาะลิบง เพราะ “พะยูน” ซึ่งตามมาด้วยธุรกิจเรือทัวร์จากพื้นที่อื่นๆพาชมพะยูน ด้วยการซื้อแพ็กเกจในราคาสูง นี่คือสิ่งที่ “สุวิท” กังวล

 

“เราไม่อยากให้การชมพะยูนของนักท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่รบกวนพะยูน หรือพื้นที่หากินของพะยูน ท่องเที่ยวชุมชนของเกาะลิบงเอง เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงหากอยากชมพะยูน เรามีไกด์เยาวชน หรือชาวบ้านท้องถิ่น เป็นคนนำทาง เช่น การพายคายัคดูพะยูน หรือขึ้นเขา “ปาตู” ซึ่งเป็นจุดที่สามารถดูพะยูนจากมุมสูง หากไม่มีพะยูนก็ยังได้เห็นวิวโดยรอบของเกาะลิบง

 

หากมีการจัดการบริหารที่ดีจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนตั้งแต่ต้นทาง-จนถึงปลายทาง ตั้งแต่ท่าเรือหาดยาว ข้ามมายังเกาะลิบง พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถรับจ้าง คนเรือ ทุกคนได้หมด ไม่ใช่แค่คนลิบงเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ จะต้องไม่รบกวนพะยูน ”

 

“ผู้นำชุมชน” ต้องเข้มแข็ง ชุมชนจึงจะยั่งยืน

ความหวังของกลุ่มอาสาฯ ที่ “สุวิท” กล่าวกับเรา คือการจัดการและวางระบบการทำงานระหว่างชาวบ้าน และภาครัฐโดยเฉพาะท้องถิ่น กำหนด “กติกาชุมชน” ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

 

“เราหวังว่าต่อจากนี้ กติกาชุมชน จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยผู้นำท้องถิ่นต้องเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง งานก็เดินไปได้ กติกาท้องถิ่นที่ว่าอย่างเช่น การดูพะยูนโดยที่ต้องไม่รบกวนพะยูน การทำประมงของชาวบ้านที่จับสัวต์น้ำได้ตามปริมาณที่กำหนดร่วมกัน

 

การดูแลพะยูน หญ้าทะเล ข้อปฏิบัติของนักท่องเที่ยว อีกสิ่งหนึ่งคือการที่เราได้ปลูกฝังเยาวชนของเราให้รู้จักอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น และสร้างความรู้พื้นฐานที่มีอยู่ในชุมชน”

 

 

 


การอนุรักษ์ สู่ การสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

คนนอกอาจมองว่า กฎกติกาของการอนุรักษ์ จะไม่สามารถเดินควบคู่ไปกับการทำมาหากิน และอาชีพของชาวบ้านได้ แต่ไม่ใช่สำหรับคนเกาะลิบง การอนุรักษ์กลับทำให้ทรัพยากรที่สร้างรายได้ให้พวกเขานั้นเพิ่มขึ้น

 

“เรื่องการทำมาหากิน วันนี้เมื่อมีการอนุรักษ์พะยูน แน่นอนคนลิบงมีรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น เพราะพะยูนคือจุดขาย และพะยูน ยังช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในท้องทะเลหน้าบ้านเรามีมากขึ้น

 

เพราะเราอนุรักษ์หญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพะยูน ก็กลายเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำอื่นๆด้วย สภาพแวดล้อมเราก็ดีขึ้น และชุมชนเองมีความเข้าใจในการอนุรักษ์และต่อต้านคนที่ทำลายทรัพยากรตรงนี้ด้วย”

 

 

 


“มาเรียม” คือบทเรียนที่มีค่า

“สุวิท” เล่าว่า การที่เขา เป็นตัวแทนชุมชนได้มีโอกาสดูแล “มาเรียม” อย่างใกล้ชิดร่วมกับทีมสัตวแพทย์ ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานของกลุ่มอาสาฯ สังคมเริ่มให้ความสนใจเรื่องของพะยูน แต่สุดท้ายเมื่อ “มาเรียม” ตาย ทุกอย่างก็เหมือนกับจะเป็นการจุดพุลซึ่งสว่างแค่ชั่วครั้งชั่วคราว

 

“หากบอกว่าคนลิบงรักพะยูน มากแค่ไหน ผมว่า ผมรักเหมือนลูกเหมือนคนในครอบครัว อย่างเคสของ “มาเรียม” ไม่มีใครคาดคิดว่าเรื่องนี้จะดังไปทั่วโลก การที่มีโอกาสได้ดูแลใกล้ชิด “มาเรียม” ทำให้เราได้รับประสบการณ์ที่ดี ทั้งเรื่องของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพะยูน พฤติกรรม ความเป็นอยู่

 

เราได้รู้ว่าพะยูนเด็ก ก็เหมือนกับเด็กแรกเกิด ซึ่งเรื่องอย่างนี้เรามีโอกาสน้อยมากที่จะเรียนเองตามธรรมชาติที่เกิดขึ้น ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆก็สนใจมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อมาเรียมตาย ทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม ไม่ได้มีการพัฒนาหรือการให้ความช่วยเหลือใดๆ หรือแม้แต่การทำงานที่ภาครัฐเองไม่ได้เคยมีส่วนร่วมกับชุมชน”

 

คำพูดของ “สุวิท” กล่าวทิ้งท้ายกับเรา ว่า “พะยูน” คือ หัวใจของ “เกาะลิบง” เป็นเหมือนญาติเหมือนคนในครอบครัว ถ้า “ลิบง” ไม่มี “พะยูน” ท่องเที่ยวชุมชนจะไม่เติบโต การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจะไม่เกิดขึ้น ความยั่งยืนของชุมชนก็จะหายตามไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่หวังคือ ความร่วมมืออย่างจริงจังของภาครัฐ ท้องถิ่น ที่จะมีให้กับชุมชนชาวเกาะลิบง

 

ข่าวที่น่าสนใจ

“วัดโกรกกราก” เปลี่ยนสถานบุญ เป็น รพ.สนาม ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์