นักรบชุดเทา ผู้กล้าที่เสียสละ ด่านหน้าสู้โควิด-19

by ThaiQuote, 13 มกราคม 2564

กว่า 4 ทศวรรษในการพัฒนาด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของภาคประชาชน “อสม.” ฟันเฟืองสำคัญในกลุ่มบุคลากรแพทย์ กับการมาของ “โควิด-19” ภารกิจที่ “ยาก” และ “เสี่ยง”

จากสถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 กลุ่มบุคลากรการแพทย์ถือเป็นหน้าด่านสำคัญในการต่อสู้กับโรคร้าย โดยเฉพาะในประเทศไทย ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีของการระบาด พวกเขาเหล่านี้คือหัวเรี่ยวหัวแรงในการดูแลพี่น้องประชาชนจนเอาชนะได้ในรอบแรก รวมทั้งยังคงยืนหยัดต่อสู้ในการระบาดระลอกใหม่ ทำงานอย่างเสียสละเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม

ฟันเฟืองสำคัญในกลุ่มบุคลากรแพทย์ “อสม.”

ในการทำงานในกลุ่มบุคลากรแพทย์มีระบบขั้นตอนที่ชัดเจน แบ่งงานตามหน้าที่รับผิดชอบกระจายในทุกส่วนของงานด้านสาธารณสุข และสำหรับ “โควิด-19” การ “ควบคุม” การระบาด ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดมากกว่ารักษา ดังนั้นการลงพื้นที่ชุมชนในการตรวจสอบและเฝ้าระวังคือกลไกหลักในการยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งกลุ่ม “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” หรือ อสม. ได้เป็นผู้ทำหน้าที่ที่เสี่ยงและโหดหินนี้

กว่า 4 ทศวรรษในการพัฒนาด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของภาคประชาชน

สำหรับ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” นั้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และการปฏิบัติงานด้วยความเสียสละต่อประชาชนในหมู่บ้าน กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมา

 

ต่อมา อสม. จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับจนครอบคลุมหมู่บ้านในชนบทและชุมชนเมืองกว่า 8 แสนคน ปัจจุบันข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามี อสม.ราว 1.04 ล้านคนทั่วประเทศ รวมถึงอาสาสมัคร 15,000 คนในกรุงเทพฯ

การมาของ “โควิด-19” กับภารกิจที่ “ยาก” และ “เสี่ยง”

อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่าในการควบคุมโควิด-19 นั้นต้องทำงานเชิงรุกในพื้นที่ เหล่าบรรดา อสม.จึงต้องรับหน้าที่ในการเข้าคนในชุมชน ทั้งค้นหาผู้ติดเชื้อ ผู้เสี่ยงสัมผัส ดูแลผู้ที่ถูกกักตัว คอยบริการคนในชุมชนเมื่อทำกิจกรรมสาธารณะให้เป็นไปตามมาตรการ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรค แจกอุปกรณ์ป้องกันตัว รวมถึงเก็บข้อมูลต่างๆ เรียกได้ว่า ทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับคนในชุมชนเพื่อส่งเสริมระบบสาธารณสุขในการป้องกันโรค ซึ่งนอกจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงตามมาอีกด้วย เนื่องจากต้องใกล้ชิดกับผู้กักตัวหรือกลุ่มเสี่ยงจากโควิด-19


ในสถานการณ์โควิด-19 อสม.จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมโรค ถือเป็นนักรบด่านหน้า ทำงานแบบปิดทองหลังพระอย่างเสียสละ ซึ่งเราไม่อาจจินตนาการได้เลยว่า หากไม่มีพวกเขาเหล่านี้ ความเลวร้ายจากการกระจายของเชื้อจะรุนแรงบานปลายมากแค่ไหน

 

เปิดความรู้สึก “นักรบชุดเทา” ผู้เสียสละ เสี่ยงชีวิตกับ “โควิด-19” สู้เพื่อส่วนรวม

คุณรัตน สุดพุ่ม อายุ 63 ปี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ตำบลหน้าสตน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้คร่ำหวอดในบทบาทของ อสม.มาอย่างยาวนาน เล่าว่า ตนเองมีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร เนื่องจากไม่มีภาระเรื่องลูกจึงตัดสินใจมาทำงาน อสม.เพราะอยากช่วยเหลือสังคมและส่วนรวม เป็นมานานกว่า 20 ปี ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนในชุมชนโดยเฉพาะผู้พิการและคนชรา

 

รัตน เธอเรียกแทนตัวเองว่า “ยายรัตน์” เล่าอีกว่า การทำงานของเธอเปลี่ยนไปเมื่อโควิด-19 เริ่มเข้ามาเมื่อช่วงต้นปี 2563 มีการเข้าเวรเฝ้าระวังคนที่ผ่านเข้าออกหมู่บ้าน ทั้งกลางวันกลางคืน มีการปิดหมู่บ้านเพราะหมู่ที่อยู่ใกล้เคียงพบผู้ติดเชื้อเนื่องจากกลับมาจากต่างประเทศ รวมทั้งคนในหมู่บ้านเองก็มีเช่นกันที่เดินทางกลับมา กทม.ซึ่งขณะนั้นถือว่ามาจากพื้นที่เสี่ยง ต้องทำการกักตัว ยายรัตน์และทีม อสม.ก็เข้าไปช่วยดูแลทุกเรื่องตามมาตรการของทางสาธารณสุข พร้อมทั้งทำรายงานส่ง ซึ่งนอกจากหน้าที่ อสม.แล้ว หมวกอีกหนึ่งใบที่เธอสวมคือการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ยายรัตน์จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในภารกิจครั้งนี้


ยายรัตน์บอกอีกว่า พื้นที่ที่ตนเองดูแลอยู่นั้น อสม. 1 คนรับหน้าที่ดูแล 15-16 หลังคาเรือน ในการทำงานพบเจอปัญหาบ้างกรณีลูกบ้านบางคนไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านหรือหมอก็จะลงมาพูดคุยทำเข้าใจเอง สำหรับค่าตอบของการเป็น อสม.นั้นเธอเปิดเผยว่า ได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน และในช่วงโควิด-19 นี้ ได้เพิ่มอีกเดือนละ 500

เมื่อถามว่า “กลัว” บ้างไหม กับการทำหน้าที่ตรงนี้ ยายรัตน์ตอบว่า

“ไม่กลัวเลยโควิด-19 ถ้ากลัว เราจะทำงานจิตอาสาตรงนี้ไม่ได้เลย”

สุดท้าย “ยายรัตน์” บอกกับเราว่า ภูมิใจในการทำหน้าที่ตรงนี้มาก ตั้งปณิธานไว้แล้วว่าจะช่วยเหลือสังคมและส่วนรวม และจะทำงานตรงนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ