“ไบเดน” ชู “ประชาธิปไตย-สมานฉันท์” สุนทรพจน์แรกหลังสาบานตน

by ThaiQuote, 21 มกราคม 2564

คนทั้งโลกรอฟัง! “โจ ไบเดน” ชู “ชัยชนะแห่งประชาธิปไตย-ความสมานฉันท์คือฝันที่เป็นไปได้” สุนทรพจน์แรกหลังสาบานตน ชี้ คือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคสมัยสำหรับอเมริกา

จบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงกลางดึกคืนที่ผ่านมา (20 ม.ค.64) กับพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ “โจ ไบเดน” ตัวแทนฝ่ายการเมืองของพรรคเดโมแครต กับการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 46 อย่างเป็นทางการ

การสาบานตนเป็น ปธน.ถือเป็นพิธีสำคัญที่ถูกจับตามอง เพราะนอกจากจะเป็นการประกาศการเข้าตำแหน่งอย่างเป็นทางแล้ว ยังถือเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งแรกด้วยสุนทรพจน์ให้ชาวอเมริกันและทั่วโลกได้รับรู้ ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตของอเมริกา

แน่นอนว่า “โจ ไบเดน” เป็นผู้ร่างสุนทรพจน์ด้วยตนเอง จะสะท้อนแนวคิดและการทำงานตลอด 4 ปีในตำแหน่ง โดยเนื้อหาที่สำคัญในครั้งนี้หนีไม่พ้นสถานการณ์การเมืองของสหรัฐฯ ที่ในตอนนี้ที่เต็มไปด้วยความแตกแยก รวมถึงความเดือดร้อนของประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19

 


สำหรับบางช่วงบางตอนที่สำคัญในสุนทรพจน์แรกของ “โจ ไบเดน” หลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เริ่มจากการพูดถึงประชาธิปไตย โดยไบเดนกล่าวว่า

“นี่คือวันของประชาธิปไตย วันแห่งประวัติศาสตร์ และความหวัง เพื่อเริ่มต้นใหม่ เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคสมัยสำหรับอเมริกา ซึ่งประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งล้ำค่า ทว่าเปราะบาง และชั่วโมงนี้ ประชาธิปไตยได้รับชัยชนะแล้ว”

 

ในส่วนของปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของสหรัฐฯ ในเวลานี้ เขากล่าวว่าจะเดินหน้าเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเยียวยา มีหลายอย่างที่ต้องสร้างและพัฒนา ซึ่งขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและท้าทายมากที่สุด

“อเมริกันสูญเสียงานไปหลายล้านตำแหน่ง ธุรกิจห้างร้านหลายแสนต้องปิดตัวลง มีการเรียกร้องความยุติธรรมทางสีผิว ความยุติธรรมสำหรับทุกคนจะเกิดขึ้น เราจะชะความสุดโต่งทางการเมือง การเชิดชูคนผิวขาวที่เกินขอบเขต และการก่อการร้ายภายในประเทศให้ได้”


ไบเดนกล่าวด้วยว่า การสนใจแต่ตัวเอง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และการแตกต่างทางความคิด คือสงครามที่ไร้อารยธรรมซึ่งต้องยุติลง การต่อสู้ของฝ่ายสีแดงกับฝ่ายสีน้ำเงิน คนชนบทต่อสู้กับคนเมือง กลุ่มอนุรักษ์นิยมต่อสู้กับกลุ่มหัวก้าวหน้า ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้หากทุกคนยอมเปิดใจ

“ขอให้ทุกคนเคารพซึ่งกัน การเมืองไม่จำเป็นต้องรุนแรง ความเห็นต่างไม่จำเป็นต้องนำมาสู่สงครามเบ็ดเสร็จ และเราจะต้องไม่ยอมรับวัฒนธรรมที่นำความจริงมาบิดเบือนหรือปลอมแปลง”

 

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ยอมรับว่าหากตนพูดถึงความสมานฉันท์ตอนนี้ บางคนอาจมองว่าคือเรื่องเพ้อฝันไร้สาระ เพราะแรงขับเคลื่อนที่แบ่งแยกกลุ่มคนนั้นมีอยู่จริงและหยั่งลึก

“แรงขับเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประวัติศาสตร์ของอเมริกาคือเรื่องของการต่อสู้อยู่เสมอ ซึ่งก็คือการต่อสู้ระหว่างอุดมคติของอเมริกาที่มองว่าทุกคนเกิดมาเท่ากัน และความเป็นจริงอันอดสู เช่น การเหยียดผิว ชาตินิยม และการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นปีศาจให้แก่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างความแตกแยกในสังคมมาเป็นเวลานาน”

 

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตลอดหลายของการกล่าวสุนทรพจน์แรกของประธานาธิบดีสหรัฐนับว่าเป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลต่อทั้งอเมริกันชนเองและประชาคมโลก เช่นเมื่อครั้งอดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ประกาศลั่นเมื่อปี 2017 ด้วยสโลแกน “Make America Great Again” และ “America First” หรืออเมริกาต้องมาก่อน ปกป้องสหรัฐฯ จากการล้างผลาญจากต่างชาติ และการนำอเมริกากลับยิ่งใหญ่ ซึ่งเวลานั้นถือว่าสร้างความสั่นสะเทือนต่อนานาประเทศทั่วโลกเป็นอย่างมาก

 

 

ขณะที่ก่อนหน้านั้น ทั่วโลกและอเมริกันได้รับรู้ถึงความละมุนละม่อมมีความหวังอันสวยงามจาก “บารัก โอบามา” ในปี 2013 ที่กล่าวถึงแนวทางการทำงานในวาระที่สองของการเป็นประธานาธิบดี โดยพูดให้ความสำคัญด้านสวัสดิการสังคมสำหรับประชาชน งบประมาณของภาครัฐ กฎหมายควบคุมอาวุธปืน ประเด็นสิ่งแวดล้อมเรื่องวการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รวมถึงสิทธิและความเท่าเทียมกันด้านการศึกษา รายได้ รวมทั้งเพศสภาพ

 

 

สุดท้ายที่อยากเอ่ยถึง คือสุนทรพจน์แรกของอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) เมื่อ 60 ปีก่อน (พ.ศ.2504) กับประโยคทอง ซึ่งปลุกสำนึกความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของพลเมืองชาวอเมริกัน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้รักในชาติของตนเองให้กับผู้คนที่ ว่า “Ask Not What Your Country Can Do For You But What You Can Do For Your Country” (อย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรแก่เรา จงถามว่าเราจะทำอะไรเพื่อประเทศชาติ) ซึ่งเป็นวลีอมตะจนมาถึงทุกวันนี้

 

 

ปกรณ์ ดุลบุตร รายงาน

 

เรื่องที่น่าสนใจ

“โจ ไบเดน” กับธรรมเนียมที่หายไป! ในพิธีสาบานตน เมื่อ "ทรัมป์" ไม่ส่งไม้ต่อ