“กกคราม” ปั้นแบรนด์ผ้าทอท้องถิ่น ต่อลมหายใจ 2,000 ชีวิตในชุมชน

by ThaiQuote, 22 มกราคม 2564

โดย...คเชนทร์ พลประดิษฐ์

 

เส้นทางเดินของแบรนด์ผ้าฝ้ายย้อมคราม น้องใหม่อย่าง “กกคราม” ดูโลดโผนโจนทะยานอย่างไม่คาดคิด จากที่มาเพียงเพราะความต้องการดูแลสุขภาพตัวเอง ของผู้ป่วยคนหนึ่ง ก่อนนำไปสู่การสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่นอีกกว่า 2,000 คน

 

ระหว่างเวลาพักของฉัน ในวันฝุ่นหมอกหนาครอบคลุมเมืองกรุง หน้าฟีดเฟซบุ๊ก เลื่อนผ่านไปเจอรูปของผู้หญิงคนหนึ่ง ในชุดผ้าย้อมคราม รายล้อมไปด้วยกองผ้ามากมาย พร้อมข้อความติดตามชมไลฟ์สดขายผ้าผ่านออนไลน์

 

“ไม่น่าแปลกใจ” ฉันคิด แต่ด้วยความที่ตัวฉันเองก็แอบชอบและหลงใหลในสีครามของทั้ง หม้อห้อม เมืองแพร่ หรือ ผ้าครามสกลนคร ทั้ง 2 แห่งต่างปั้นแบรนด์งานทำมือของตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง ก็ยังแอบหวังลึกๆ ว่า “กกคราม” น่าจะมีแรงดึงดูดอะไรบางอย่าง ที่ทำให้มีผู้คนติดตามผ่านเพจเฟซบุ๊กมากถึงกว่า 45,000 คน แซงหน้าแบรนด์ผ้าทอดังๆ

 

จากครู-ผู้ป่วยมะเร็ง สู่คนปั้นแบรนด์ “กกคราม”



น้ำเสียงเรียบง่าย แต่รื่นหูของ “คำปิ่น ทีสุกะ” ผู้หญิงซึ่งสวมหมวก 2 ใบ เป็นทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนนาเหล่าพัฒนา และประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปผ้าฝ้ายย้อมคราม นาน้อย 13 อ.นาหว้า จ.นครพนม ทำให้ฉันสนใจไม่น้อยว่า ว่า “ข้าราชการ” คนหนึ่ง ทำไมจึงคิดปลุกปั้นธุรกิจด้วยแนวคิดที่อิงกับวิถีชุมชน

 

 


ฉันแปลกใจเมื่อรู้ว่า แบรนด์ “กกคราม” เกิดขึ้นจากการที่ “แม่คำปิ่น” ต้องการดูแลสุขภาพของตัวเอง จากการคุกคามของโรคมะเร็ง

 

“เริ่มจากที่แม่ป่วยเป็นมะเร็ง ผ่านการทำคลีโมมาแล้ว คุณหมอก็แนะนำเรื่องการทานอาหาร การสวมใส่เสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ แม่ก็มานั่งศึกษา “ผ้าคราม” จากที่แต่ก่อนเราคิดว่า ทำไมอะไรๆ ก็มา “ย้อมคราม” คนเขาชอบสีน้ำเงินอย่างนี้หรอ แล้วเราเองก็พบว่า “คราม” เป็นของดี ป้องกันรังสียูวี ยับยั้งแบคทีเรีย ลดการอักเสบของผิว คุณสมบัติเหล่านี้มีงานวิจัยรองรับ


ขณะที่ยังมีความเชื่ออีกเป็นร้อยแปดพันประการของคนในท้องถิ่นเองที่ทำให้ “คราม” เป็นของดี พอเราเริ่มใส่จากการสั่งคนในชุมชนทอให้เรา คนนั้นคนนี้ก็ทัก สุดท้ายเราก็เลยลองรับเอาผ้าครามของชุมชนมาขายดู เพราะอยากให้ลูกสาวที่เป็นครูเหมือนกันได้มีอาชีพเสริม”

 

เริ่มจากเล็กๆ สู่รายได้ที่หล่อเลี้ยงอีก 2,000 ชีวิต

เส้นทางชีวิตที่ดูเหมือนจะเป็นคู่ขนาน สุดท้าย “แม่คำปิ่น” จัดแจงให้ลูกสาวเริ่มจับขายงานผ้าย้อมครามจากเล็กน้อยๆ รับสินค้ามาจากคนทอผ้าในหมู่บ้าน

 

“เราเดินมาไกลกว่าที่คิด จากปี 57 ที่ยังรักษาตัวอยู่เป็นปี จนปี 60 เริ่มเปิดเพจ “กกคราม” หรือ “ต้นคราม” ในภาษาอิสาน ก็ยังไม่จริงจังอะไร แต่ก็มีคนทักมาซื้อของแทบทุกวัน จนลูกค้าบอกให้เราลองไลฟ์สด ตอนนั้นก็ไม่รู้จักว่าไลฟ์สดคืออะไร ต้องทำแบบไหน ลองศึกษาจนทำเป็น พอขายสินค้าได้มากขึ้น เราจึงจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ให้ชาวบ้านเขาทอผ้าที่บ้าน เพื่อความสะดวกของเขา ส่วนอุปกรณ์เราจะเป็นคนช่วยสนับสนุน”


“แม่คำปิ่น” เล่าให้ฉันฟัง เมื่อพูดถึงการไลฟ์สดขายผ้าคราม ซึ่งวันนี้ เป็นช่องทางสำคัญในการขายสินค้าออนไลน์ของแบรนด์ “กกคราม”

เคล็ดลับที่ “แม่คำปิ่น” ใช้ในการไลฟ์สด คือ ความจริงใจที่มีให้ลูกค้า ซึ่งสามารถสัมผัสได้ ด้วยราคาที่เหมาะสม และคุณภาพของผ้า ทุกวันนี้แม่ต้องไลฟ์สดขายเองคนเดียว แม้บางครั้งจะเหนื่อยอยากพักแต่ก็ทำไม่ได้ จะเปลี่ยนให้คนอื่นมาไลฟ์สดแทน ก็ขายไม่ได้

 

“ทุกวันนี้เราคิดว่า เราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา เป็นอนาคตให้กับเขา แม้อยากจะหยุดไลฟ์สดบ้างก็ทำไม่ได้ เพราะคนทอผ้าเขาก็ทอมาส่งทุกวัน ค่าแรงตั้งแต่ผืนละ 100-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดและกรรมวิธีของผ้าผืนนั้น รายได้เดือนละ 1000-10,000 บาทต่อเดือนขึ้นอยู่กับฝีมือและปริมาณ อาจมองว่าเป็นเงินน้อย แต่เขาต้องใช้เวลาทอผ้า 1 ผืนตั้งแต่เป็นสัปดาห์จนถึงเดือน สำหรับคนทอผ้ามันอาจเป็นเงินก้อนหนึ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา”

 

 

“กกคราม” ช็อปผ้าไทย ต่อลมหายใจให้คนทอ

จนถึงวันนี้ มีผ้าย้อมครามส่งเข้ามาให้ “กกคราม” เป็นตัวแทนจำหน่ายกว่า 3,000 ชิ้นต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 2,000 กี่ (เครื่องมือทอผ้า) ซึ่งเท่ากับว่า มีคนทอผ้าที่อยู่ในเครือข่ายกว่า 2,000 คน ทั้งจาก 50 วิสาหกิจชุมชน และครัวเรือนแยกย่อย ยังไม่นับรวมเกษตรกรผู้ปลูกฝ้าย ช่างเย็บผ้าเก็บขอบ งานรีดผ้า งานซักและอื่นๆ


ครอบคลุมทั้งจากจังหวัดขอนแก่น มุกดาหาร กาฬสินธุ์ นครพนม และสกลนคร โดยมีวิธีคิดดำเนินธุรกิจแบบง่ายๆ คือ ผู้ผลิต ซึ่งก็คือ คนทอเป็นผู้กำหนดราคาเอง สินค้าจะเป็นตัวตอบโจทย์ในตัวเองว่าเหมาะสมกับราคานั้นหรือไม่ คนที่ตัดสินคือลูกค้า


“ความจน กับคนในชนบท คนที่ไม่มีงานทำ ถ้าจะเปรียบมันก็เหมือนลมหายใจที่ใกล้จะหมด การตั้งช็อปผ้าไทยจึงเหมือนการต่อลมหายใจให้กับคนทอผ้า ถ้าวันไหนที่เราเลิกทำช็อปแล้ว เขาก็อยู่ไม่ได้ เพราะเขาไม่ใช่เศรษฐีที่มีเงินถุงเงินถัง แม้แต่ผ้าที่เขาทอเอง เขายังไม่ยอมที่จะนุ่งเอง กลับใช้ผ้านุ่งราคาถูกแทน เพื่อที่จะเอาผ้าที่เขาทอนั้น มาแปลเป็นเงิน เป็นคุณค่าของความสุข ที่จะได้มีเงินซื้อขนม เสื้อผ้าให้ลูก มาแปลเป็นอนาคตเพื่อลูกของเขา เช่นเดียวกันถ้าไม่มีคนซื้อ ไม่มีลูกค้า งานศิลปหัตถกรรมแขนงนี้ก็จะต้องตายไป”

 

 

 

“ชุมชนยั่งยืน” ไม่จำเป็นต้องรวยล้นฟ้า

“กกคราม” ตั้งขึ้นมา จากธุรกิจเล็กๆ ที่หวังสร้างรายได้เสริมให้คนเพียง4-5 คนในชุมชน จนวันหนึ่งที่ผ้าจากชุมชนต่างๆ หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ “แม่คำปิ่น” ตระหนักดีว่า ธุรกิจนี้เดินมาไกลเกินที่คาดหวังไว้ พร้อมกับการกลายเป็นความหวังของคนอีกหลายชีวิต


“เราก็รู้แล้วว่ามีอีกกี่คนที่ตั้งความหวังไว้กับเรา เราเพียงแต่หวังไว้ว่าจะทำงานให้กับเขา เท่าที่เรายังทำไหว ชุมชนชนบทจะยั่งยืน เมื่อเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ไม่ใช่ทุกคนจะต้องรวยล้นฟ้า แค่ขอเพียงกินอิ่ม นอนอุ่น มียารักษาโรค เสื้อผ้า พอประมาณ เขาก็มีความสุขแล้ว

 

ถ้าคนยังใช้ผ้าคราม ผ้าทอมือ คนทอผ้าจะอยู่ได้ เกิดความยั่งยืนในชุมชน ส่งต่อเป็นทอดๆไม่ใช่แค่ชุมชนทอผ้าเท่านั้น หรือไม่ใช่แค่คนแก่ แม่บ้านเท่านั้น แต่ยังส่งต่อไปถึงคนรุ่นใหม่ ที่เขานำความรู้กลับมาพัฒนาอาชีพของคนในชุมชน ไม่ใช่เอาเงินมาแจกชาวบ้าน ไม่ใช่เอาปลามาให้เขา แต่ต้องสอนให้เขารู้จักหาปลา ทุกคนมีโอกาสไม่เท่ากัน เราจึงต้องสร้างโอกาสให้เขา ” แม่คำปิ่น บอกกับฉันส่งท้าย

 

 

 

 

บทความที่น่าสนใจ