“รีไซเคิล” ไม่ใช่ทางแก้! เปิดแนวทางกำจัด “ขยะพลาสติก” อย่างยั่งยืน

by ThaiQuote, 22 มกราคม 2564

เมื่อขยะพลาสติกเริ่มจาก "ชีวิตประจำวัน" เปิดแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ต้องเริ่มที่ต้นน้ำ “ตัวเรา” ลุ้นภาครัฐ กล้าพอไหม? กับการบังคับใช้ “กฎหมาย” คุมเข้มภาคการผลิต

ปัญหาขยะพลาสติกเกี่ยวข้องกับเราทุกคน และมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆแม้ที่ผ่านมาการรณรงค์จะทำกันอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ถูกประเมินว่ายังใกล้กับวิกฤติ

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติละสิ่งแวดล้อมผลักดันโครงการแบนถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อ-ห้างสรรพสินค้า ซึ่งถือว่าได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทั้งห้างร้านและประชาชน จนลดจำนวนขยะพลาสติกจากถุงหูหิ้วได้ในระดับหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การเว้นระยะห่างทางสังคมและนโยบายอยู่บ้านหยุดเชื้อ ทำให้มีการใช้บริการส่งอาหารมากขึ้น พบว่าประชาชนสั่งอาหารเดลิเวอรีเพิ่มถึงสามเท่า ส่งผลให้ขยะพลาสติกพุ่งสูง 60% ในช่วงโควิด-19

5 ขยะพลาสติกที่มาจาก "ชีวิตประจำวัน"

แน่นอนว่า “ขยะพลาสติก” ถูกมองตัวร้ายเบอร์หนึ่ง แต่ในความเป็นจริงต้นตอของปัญหานั้นคือ “มนุษย์” ด้วยกิจกรรมต่างๆ ในการใช้ชีวิตแต่ละวันเป็นสาเหตุนำพาให้ “ขยะพลาสติก” เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากจะแยกย่อยออกมาเราจะพบว่ามีทั้งหมด 5 ชนิดเป็นหลักด้วยกัน ประกอบไปด้วย

1. หลอดพลาสติก และซองพลาสติกที่ใส่หลอด

หลอดพลาสติกใช้ดูดเครื่องดื่มไม่เกิน 20 นาที แต่ใช้เวลา 200 ปี เพื่อย่อยสลายตัวเอง หลอดพลาสติกในปัจจุบันถูกผลิตและใช้ไปนับล้าน ๆ ชิ้น และไม่มีใช้ซ้ำ ซึ่งปลายทางทิ้ง และก่อให้เป็นขยะพลาสติกตามมา

ปัจจุบัน ผู้คนเริ่มหันมาใช้หลอดที่ใช้ซ้ำได้ ทำความสะอาดได้ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติก โดยเฉพาวัสดุตามธรรมชาติที่เมื่อใช้แล้วทิ้งก็ไม่เป็นภาระต่อโลก ขณะเดียวกัน ร้านเครื่องดื่มบางแห่งก็เริ่มไม่ให้หลอดกับลูกค้า ซึ่งเมื่อลดการใช้หลอดไปได้ ซองพลาสติกที่ใส่หลอดก็ไม่เป็นภาระทางสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

2.แก้วพลาสติกและฝาครอบแก้วพลาสติก

ปัจจุบันขยะแก้วพลาสติกมีสัดส่วนที่สูงอย่างมาก และเป็นรองเพียงแค่ขวดน้ำพลาสติกเท่านั้น แก้วพลาสติกแม้ในยามนี้จะมีการตื่นตัวทั่วโลก ด้วยการลดใช้และนำเอาแก้วส่วนตัวไปใช้แทน แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากด้วยเช่นกันที่ยังคงใช้แก้วพลาสติกเพื่อบรรจุเครื่องดื่มในแต่ละวัน


3.ช้อนส้อมพลาสติก

ช้อนส้อมพลาสติกคือ 1 ใน 10 อันดับขยะ ที่พบตามชายหาดมากที่สุดจากผลการวิจัยของ Ocean Conservancy องค์กรการกุศลเพื่อสิ่งแวดล้อม ช้อนส้อมพลาสติกถูกใช้เยอะมากตามร้านสะดวกซื้อ โดยเฉพาะกับสังคมเมืองที่เร่งรีบ ทางออกที่ดีที่สุดคือเตรียมพกช้อนส้อมของตัวเองมาสำหรับการใช้ซ้ำ

 

4.ขวดน้ำ ฝาปิดขวดน้ำ และพลาสติกห่อขวดน้ำ

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของขยะในท้องทะเล คือ ขวดน้ำพลาสติก ฝา และฉลากบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าขวดพลาสติกจะรีไซเคิลได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกขวดจะผ่านการรีไซเคิล แน่นอนว่าหากผู้คนลด ละ เลิก แต่เปลี่ยนมาใช้ขวดน้ำพกพาแทน จะช่วยให้สรรพสัตว์ในท้องทะเล และสิ่งแวดล้อมดียิ่งขึ้น

5.ถุงพลาสติก

ถุงพลาสติกเป็นของใช้ยอดนิยมของคนทั่วโลก ในปัจจุบันมียอดการใช้ 5 แสนล้านถึงล้านล้านใบต่อปี เมื่อกลายเป็นขยะจึงมีจำนวนมาก แลพต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี หากนำไปเผาก็จะทำให้เกิดสารประกอบไฮโดรคาร์บอน

แต่ขณะนี้ “ถุงผ้า” คือเทรนด์ของทั้งโลก รวมถึงคนไทย ที่ส่วนใหญ่พกถุงผ้าติดตัวไปทุกหนแห่ง มีงานวิจัยระบุด้วยว่า และหากทุกคนหันมาใช้ถุงผ้าเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน จะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากกว่า 100 ล้านถุง/ปี

โรดแมป 10 ปี กำจัดขยะพลาสติก

จากที่กล่าวมาจะพบว่า สำหรับการแก้ปัญหาขยะพลาสติก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบผลสำเร็จหากไม่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง อีกทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย สำหรับประเทศไทย กระทรวงทัพยากรและธรรมชาติ โดยกรมควบคุมมลพิษ ถือเป็นทัพหน้าในการทำงาน ซึ่งมีมีกลไกการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขผ่านคณะอนุกรรมมการบริหารจัดการขยะพลาสติก

โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้วางโรดแมปในการทำงานของการกำจัดขยะพลาสติกในช่วง 10 ปี พ.ศ.2561-2571 โดยมีเป้าหมาย 2 ข้อคือ

1.การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2565 ซึ่งประกอบไปด้วย เม็ดไมโครบีด พลาสติกหุ้มฝาขวด พลาสติก OXO (ถุงก๊อบแก๊บ) ถุงบาง (น้อยกว่า 36 ไมครอน) กล่องโฟม แกว้วพลาสติก หลอด

2.การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด หรือ รีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2570

 

การเก็บไม่ใช่ทางแก้ ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ

จากโรดแมปที่วางไว้ ในการจะไปให้ถึงเป้าหมายความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องถือเป็นความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาความร่วมมือทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่นต่างประเทศที่มีกฎหมายจัดการพลาสติก รวมทั้งควบคุมบริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง เนื่องจากมองว่าการเก็บขยะไม่ใช้ทางแก้ปัญหาที่ยังยืน

เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตต้องตื่นตัว มีนโยบายลดใช้ นำสู่ระบบรียูส-รีไซเคิล มีระบบการใช้ซ้ำ การเติม หรือสร้างบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้น้อยที่สุด ซึ่งความรับผิดชอบของผู้ผลิตมีคความสำคัญอย่างมากในการควบคุมปริมาณพลาสติกที่จะออกไปสู้ผู้บริโภคและสังคม

ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างละเอียด หากจะนำมาตรการในระดับบังคับใช้ด้วยกฎหมาย โดยบทบาทภาครัฐต้องเข้มข้น เพื่อออกกฎหมายมากำกับและบังคับใช้กับผู้ผลิตสินค้า

จากทั้งหมดที่กล่าวมา ถือเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่ต้องใช้ระยะเวลาและความร่วมมือ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ สุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มจากที่ตัวเราเอง เนื่องจากในปัจจุบันไม่มีทางเป็นไปได้ที่พลาสติกจะหายไปจากโลก แต่เราปฏิเสธที่จะใช้ในเรื่องที่ไม่จำเป็นได้

“ใช้ให้น้อยที่สุด” และมีระบบจัดการที่ดีกับพลาสติกที่เราจำเป็นต้องใช้


บทความที่น่าสนใจ

อ่าวนาง..ภูมิใจเสนอ “สายตรวจซาเล้ง” ไอเทมลับ จัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืน