เปิดมาตรการหลัก เยียวยา “ชนชั้นแรงงาน” ผลกระทบโควิด-19

by ThaiQuote, 27 มกราคม 2564

เช็กสิทธิด่วน! เปิดมาตรการหลักเยียวยา “ชนชั้นแรงงาน” ผลกระทบโควิด-19 ใครว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยรับเงินชดเชยครึ่งหนึ่งของค่าจ้าง ลดเงินสมทบ ม.33-39 เยียวยาผู้ประกันตน แรงงานต่างด้าวขยายเวลาตรวจสุขภาพ-ต่อวีซ่า

จากสถานการณ์โควิด-19 ภาคแรงงานถือเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งทางตรงจากการแพร่ระบาดของโรคที่ทำให้ต้องงดกิจกรรมต่างๆ ลง รวมถึงทางอ้อมที่ภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักซึ่งส่งผลให้มีการเลิกจ้างและมีแรงงานถูกลอยแพเป็นจำนวนมาก

จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มีนโยบายในการดเยียวยากลุ่มแรงงาน ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 หลังมีการระบาดระลอกใหม่ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งครอบคลุมแรงงานทั้งในและนอกระบบ นายจ้าง ตลอดจนแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีทั้งหมด 3 มาตรการหลัก ประกอบไปด้วย

ลดเงินสมทบ ม.33-39 เยียวยาผู้ประกันตน สู้ภัยโควิด
.
ครม. มีมติเห็นชอบปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและนายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่

โดยปรับลดเงินสมทบฝ่ายผู้ประกันตนตาม ม.33 จากเดิมที่จ่าย 3% หรือ ส่งสมทบสูงสุด 450 บาท/เดือน ลดลงเหลือ 0.5% หรือ ส่งสมทบสูงสุด 75 บาท/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งเดือน ก.พ. – มี.ค. 64

สำหรับนายจ้าง ยังคงส่งเงินสมทบ 3% หรือส่งเงินสมทบสูงสุด 450 บาท/เดือน และรัฐบาล ส่งเงินสมทบอัตราเดิมคือ 2.75% ของค่าจ้าง จนถึงเดือนมี.ค. 64

ส่วนผู้ประกันกันตนภาคสมัครใจตาม ม.39 จากเดิมต้องส่งเงินสมทบ 278 บาท/เดือน จะจ่ายลดลงเหลือ 38 บาท/เดือน

การลดส่งเงินสมทบนี้ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้นายจ้างและผู้ประกันตน ซึ่งคาดว่าจะมีเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงเดือน ม.ค.–มี.ค. 64 รวมกว่า 23,000 ล้านบาท

ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย จากโควิด-19

ช่วงปลายปี 2563 คระรัฐมนตรีได้เห็นชอบในร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากโรคระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เหมือนกับการจ่ายเงินเยียวยาสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ต้องหยุดทำงานชั่วคราวคล้ายกับการระบาดครั้งแรกช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ในครั้งนี้ "ลูกจ้าง" ที่ต้องหยุดงานกรณีกักตัวหรือราชการสั่งปิดสถานที่เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยจะได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวัง หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว (แล้วแต่กรณี) รวมกันไม่เกิน 90 วัน

คำว่า "เหตุสุดวิสัย" ที่ให้มีการจ่ายเงินทดแทนได้ หมายถึง ภัยที่เกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนถึงขนาดที่ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ การกำหนดให้กรณีมีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายอันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ตรวจโควิด-19 แรงงานต่างด้าว ขยายเวลาเช็กสุขภาพ-ต่อวีซ่า

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่อง ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงโค-19 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกักโดยกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 2,335,671 คน ดังนี้

1) กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู จำนวน 1,400,387 คน ประกอบด้วย 1.1) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 มีจำนวน 1,162,443 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

1.2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 4 สิงหาคม 2563 มีจำนวน 237,944 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MOU จำนวน 434,784 คน ประกอบด้วย 2.1) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 10 พฤศจิกายน 2563 มีจำนวน 119,094 คน และ 2.2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MoU ที่วาระการจ้างงานครบ 2 ปี 315,690 คน

ทั้งสองกลุ่มอยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa จึงขอขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งกลุ่มนี้ทยอยครบกำหนด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565

3) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียน คาดว่ามีจำนวนประมาณ 500,000 คน ดังนั้น จึงเสนอให้มีการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าว และความมั่นคงของประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจโควิด–19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 และให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) แล้ว

เพื่อให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน สำหรับการตรวจโควิด-19 ให้สถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองร่วมตรวจเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 อย่างเร่งด่วน และสถานพยาบาลของรัฐอาจมีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับการตรวจภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

ทั้งนี้ อัตราค่าตรวจโควิด-19 เป็นไปตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด ราคาไม่เกิน 2,300 บาท

4) กลุ่มผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) มีจำนวนประมาณ 500 คน ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการส่งกลับ เนื่องจากประเทศต้นทางจำกัดจำนวนการรับคนต่างด้าวกลับประเทศ และปัจจุบันมีมาตรการห้ามการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตจังหวัด ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้ต้องกักที่รอการส่งกลับ ประมาณเดือนละ 2 ล้านบาท จึงขอความเห็นชอบให้ผู้ต้องกักทำงานกรรมกรและงานบ้านได้ จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วต้องส่งกลับประเทศต่อไป

5) ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่กล่าวมาข้างต้น

 

เรื่องที่น่าสนใจ

เปิดเกณฑ์ละเอียด “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ใครมีสิทธิได้รับ เดือนละเท่าไหร่ ลงทะเบียนอย่างไร