ส่องความสำเร็จ “จีน” แก้ปัญหา PM 2.5 เชื่อ! ไทยก็ทำได้ ถ้าเอาจริง!

by ThaiQuote, 3 กุมภาพันธ์ 2564

ไทยเอาบ้างมั้ย!!! เปิดปัจจัยความสำเร็จ “จีน” แก้ปัญหา PM 2.5 เน้นเอาจริง! ขนมาหมด ทั้งบังคับใช้กฎหมาย ชูพลังงานยั่งยืน 5 ปี อยู่หมัด!

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 (ฝุ่นละอองจิ๋วขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน) คุกคามประเทศไทยอย่างหนักในช่วง 2-3 ที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล้วนทำงานอย่างเพื่อเร่งแก้ไข รวมทั้งตัวประชาชาชนเองที่ตอบรับมาตรการต่างๆ รวมถึงใส่ใจและตระหนักปัญหา แต่ภาพรวมสถานการณ์ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น

สะท้อนจากตัวเลขที่วัดได้ เริ่มจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา (ม.ค.64) พบว่าติดอันดับ 3 คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก รวมทั้งหัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัดอย่างเชียงใหม่ หรือพิษณุโลก ที่มีคนอยู่มาก ทำให้จำนวนรถมีเยอะ ประกอบกับมีการเผาไร่นาเพื่อการเกษตร รวมทั้งไฟป่าในบางพื้นที่ หนุนให้ค่าฝุ่นเพิ่มสูงจนถึงขีดอันตรายในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพอยู่บ่อยครั้ง

 



จีนใช้เวลา 5 ปี เอาชนะฝุ่นได้!

อย่างไรก็ตาม เมืองไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นจิ๋วนี้ หนึ่งมหาอำนาจของโลกอย่าง “จีน” ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่โดนคุกคามจากมลภาวะอากาศเป็นพิษ โดยเฉพาะ PM 2.5 แต่ที่น่าสนใจก็คือ ดินแดนมังกรทำได้ดีในการต่อสู้ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

 


การแก้ปัญหามลพิษเป็นหนึ่งเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016-2020) ที่จีนทำได้สำเร็จ โดยเฉพาะเมืองหลวง มหานครปักกิ่ง ที่ความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ในปักกิ่งลดลงเกินครึ่งในปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2015 ความเข้มข้นเฉลี่ยอยู่ที่ 38 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบปีต่อปี และทำสถิติต่ำสุดนับตั้งแต่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งแรกในปี 2013

คุณภาพอากาศในปักกิ่งดีขึ้นจนเข้าใกล้มาตรฐานการควบคุมฝุ่น PM 2.5 ระดับ 2 ของประเทศ ซึ่งกำหนดความเข้มข้นเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สำหรับในส่วนของความยั่งยืนนั้น ปักกิ่งยังได้วางแผนปลูกต้นไม้ 10,000 เฮกตาร์ (ราว 62,500 ไร่) ในปี 2021 เพื่อเพิ่มพูนความครอบคลุมของป่าไม้ทั่วเมืองให้อยู่ที่ราวร้อยละ 45 ภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า

 

เมืองใหญ่แค่ไหนก็เอาอยู่ “เซี่ยงไฮ้” สดชื่น!

ขณะที่เมืองเอก ศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าของประเทศ “เซี่ยงไฮ้” ที่ล่าสุดมีรายงานว่ามีการรักษาอัตราการเติบโตของประชากร เศรษฐกิจ และการบริโภคพลังงานรวมไว้ได้ โดยการปล่อยมลพิษประเภทหลักลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศพัฒนาขึ้น

 

 

การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ของเซี่ยงไฮ้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 46.6 และร้อยละ 28.2 ตามลำดับ ซึ่งสูงเกินเป้าหมายที่รัฐบาลกลางตั้งไว้ ส่วนความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 ของเซี่ยงไฮ้ในปี 2020 อยู่ที่ 32 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่ำลงร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับปี 2015 และต่ำกว่าสถิติปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ในอนาคต สำนักนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ได้ปูแผนเดินหน้าลดความเข้มข้นของ PM 2.5 และโอโซนต่อไป โดยมุ่งลดการปล่อยมลพิษในภาคพลังงาน อุตสาหกรรม และการคมนาคมขนส่งเป็นหลัก หลายเมืองในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีจะยกระดับความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศในภูมิภาค

 

ปัจจัยความสำเร็จของ “จีน”

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ศาสตราจารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เปิดมุมมองในเรื่องได้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า ในอดีต “จีน” โดยเฉพาะ “ปักกิ่ง” เป็นเมืองที่มีอากาศแย่อย่างมาก สูญเสียโอกาสจัดงานระดับโลกอย่างโอลิมปิกมาหลายครั้งเพราะปัญหาในเรื่องนี้ และมีพลเมืองเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศนับล้านคน

 


จีนจึงเดินหน้านโยบายแก้ปัญหาแบบ "เอาจริง" จัดการกับต้นตอ ปล่อยฝุ่นพิษ ที่ทำร้ายประเทศและประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วย

1.ประกาศเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น และมลพิษทางอากาศ เป็นวาระแห่งชาติ อย่างจริงจัง เกิดคณะกรรมการเร่งรัด ติดตาม และออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน

2.ออกกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายอย่างเข้มข้น ตรงไปตรงมา

3.ปิดโรงงานที่ปล่อยฝุ่นพิษต่อเนื่อง เกินค่ามาตรฐาน เกินเยียวยาแก้ไข

4.ให้งบประมาณ หรือปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้เอกชนนำไปใช้ ปรับปรุง แก้ไข หรือจัดหาเครื่องจักรอุตสาหกรรมใหม่ ให้มีคุณภาพ ไม่ปล่อยมลพิษ

5.จัดการกับรถบรรทุกดีเซลที่ปล่อยควันดำอย่างเด็ดขาด ไม่ให้เข้าเมือง หากพบจะมีโทษปรับหนัก ถึงขนาดบริษัทเจ้าของรถติดแบล็กลิสต์

6.ผลักดันการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะจีนผลิตแผงโซลาร์เซลล์เอง ซึ่งหากยิ่งใช้เยอะ ก็ยิ่งดีต่ออุตสาหกรรม

7.สร้างนวัตกรรมดักจับฝุ่นพิษ เช่น หอกรองอากาศขนาดยักษ์ กลางเมือง ที่กรองอากาศได้ปริมาณมาก ในช่วงเวลาที่รถติดมากๆ

8.การสนับสนุนการใช้รถพลังงานไฟฟ้า โดยเริ่มจากรถยนต์ราชการ จนถึงรถเมล์ รถบรรทุก รถส่วนบุคคล จนเป็นประเทศที่ใช้รถไฟฟ้ามากที่สุด

ซึ่งจากทั้ง 8 ที่กล่าวมานั้น ศาสตราจารย์สุชัชวีร์มองว่า ถือเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดว่าประเทศจีนที่เคยเผชิญวิกฤตฝุ่นพิษ หนักหนากว่าไทยมาก่อน ถึงวันนี้ก็แก้ปัญหาได้ หากมุ่งมั่นและทำอย่างจริงจัง

ข้อมูลอ้างอิงจาก : ศาสตราจารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, สำนักข่าวซินหัว

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“รีไซเคิล” ไม่ใช่ทางแก้! เปิดแนวทางกำจัด “ขยะพลาสติก” อย่างยั่งยืน