รวม “ระบบขนส่งสาธารณะ” ใช้จ่ายผ่าน “เราชนะ” ได้

by ThaiQuote, 5 กุมภาพันธ์ 2564

กว่าครึ่งนึงของคนไทยทั่วประเทศ แน่นอนว่าจะต้องได้รับสิทธิ จากมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ผ่านโครงการ “เราชนะ” แต่จะมีเสียงดราม่าว่า ทำไมจึงไม่จ่ายโอนเป็นเงินสดเข้าบัญชีของผู้ได้รับสิทธิ แต่กลับเลือกโอนเข้าบัตรสัวสดิการแห่งรัฐ และแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แทน

แม้จะไม่เป็นดั่งใจของคนไทยเท่าที่ควร แต่เมื่อได้รับสิทธิแล้ว เราจะทำอย่างไรเพื่อใช้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวอย่างคุ้มค่า และลดภาระค่าครองชีพในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ซึ่งนอกจากจะใช้จ่ายผ่าน ร้านค้า หาบเร่แผงลอยที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการแล้ว ยังมีอีกช่องทางหนึ่งที่เราใช้จ่ายได้ นั่นคือ “ระบบขนส่งสาธารณะ” (ยกเว้นทางอากาศ) ที่เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 ม.ค.64 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยแบ่งเบา และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการสัมผัสเงินสด เพื่อสร้างความปลอดภัย มั่นใจในการเดินทางให้กับประชาชน

ระบบราง ใกล้-ไกล ร่วมด้วยช่วยกัน

ผู้ที่มีรายได้น้อย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มที่ได้รับสิทธิผ่าน “คนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” รวมทั้ง กลุ่มลงทะเบียนใหม่ สามารถใช้สิทธิ “เราชนะ” ผ่านบริการขนส่งสาธารณะระบบราง ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยมีให้เลือกใช้บริการดังนี้

1.รถไฟฟ้ามหานคร (MRT สายสีน้ำเงิน-สีม่วง)

สามารถใช้สิทธิ “เราชนะ” ออกเหรียญโดยสาร (Token) ประเภทบุคคลทั่วไป ยกเว้นประเภทเด็ก/ผู้สูงอายุ ในระบบรถไฟฟ้ามหานคร ได้ทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.-31 พ.ค.64 แบ่งเป็น กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” รายละเอียด ดังนี้

- กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้สิทธิ์สนับสนุนค่าเดินทางจากภาครัฐได้ทั้ง 2 กรณี

กรณีที่ 1 ใช้สิทธิ์ค่าเดินทางของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน โดยผู้ถือบัตร “แมงมุม” สามารถใช้แตะที่ประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติได้ทันที ส่วนผู้ถือบัตร “Prompt Card” ต้องนำบัตรมาออกเหรียญโดยสารที่ห้องออกบัตร

กรณีที่ 2 ผู้ถือบัตรนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาออกเหรียญโดยสารที่ห้องออกบัตรโดยสาร ซึ่งระบบจะตัดเงินจากโครงการฯ สามารถเริ่มใช้สิทธิ์ ได้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. – 31 พ.ค.64

- กลุ่มผู้ได้รับสิทธิ ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” ติดต่อออกเหรียญโดยสารได้ที่ห้องออกบัตรโดยสารทุกสถานี โดยระบบจะตัดเงินจากโครงการผ่านแอปฯ เริ่มใช้สิทธิได้ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. – 31 พ.ค.64


2.แอร์พอร์ต เรล ลิงก์

ผู้ได้รับสิทธิ “เราชนะ” ซื้อเหรียญโดยสารใช้บริการได้ โดยแบ่งเป็น

1. ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถเลือกใช้จากวงเงิน “ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ” หรือ “ เราชนะ ” โครงการใดโครงการหนึ่งได้โครงการเดียวในการซื้อเหรียญแต่ละครั้ง โดยแจ้งเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วให้ทราบว่าต้องการใช้เงินจากโครงการใดก่อน โดยเริ่มใช้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. - 31 ก.พ.64

2.ผู้ได้รับสิทธิ “เราชนะ” สามารถชำระเงินค่าเหรียญโดยสารได้ ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” ได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร เริ่มใช้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.64

3.บีทีเอส –รถไฟฟ้าสายสีทอง

โดยผู้โดยสารที่ได้รับสิทธิ “เราชนะ” สามารถชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าสายสีทอง ได้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.64 เป็นต้นไป ในประเภทบัตรโดยสารเที่ยวเดียว (Single Journey Card) โดยติดต่อขอรับสิทธิได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วทุกสถานี

4. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

รฟท.เปิดให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการ “เราชนะ” ใช้แอปฯ “เป๋าตัง” ซื้อตั๋วโดยสารรถไฟได้ทุกสถานีทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. - 31 พ.ค.64

สำหรับขั้นตอนการซื้อตั๋วโดยสารนั้น ผู้มีสิทธิยื่นบัตรประชาชนและแจ้งจุดหมายปลายทางที่จะไปให้แก่เจ้าหน้าที่ จากนั้นให้ชำระผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” โดยระบบจะหักวงเงินตามจำนวนที่ใช้ไป

ด้านผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ยื่นบัตรประชาชนแนบกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วรถไฟ และแจ้งจุดหมายปลายทางที่จะไปให้แก่เจ้าหน้าที่ จากนั้นให้ตรวจสอบความถูกต้องของตั๋วโดยสาร และค่าโดยสารที่ถูกหักไป

โดยผู้ใช้สิทธิซื้อตั๋วโดยสาร ด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือสิทธิ “เราชนะ” จะต้องเป็นเจ้าของบัตรเท่านั้น ซื้อตั๋วแทนกันไม่ได้ และจะต้องเลือกใช้สิทธิของโครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้น คืนตั๋วโดยสารหรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้ แต่เปลี่ยนแปลงการเดินทางตามระเบียบที่การรถไฟฯ กำหนดได้


ทำงาน-ไปเที่ยว-กลับบ้าน กทม.-ต่างจังหวัดก็ใช้ได้

นอกจากระบบขนส่งสาธารณะในเมือง ทั้ง กทม-ปริมณฑล ที่ใช้บริการ ขสมก.แล้ว หากต้องการเดินทางในต่างจังหวัดก็ใช้สิทธิ “เราชนะ” จ่ายเป็นค่าโดยสารในบริการของ บขส. ไม่ว่าจะไปทำงาน เที่ยว กลับบ้าน ช่วงวันหยุด หรือเทศกาลสงกรานต์ ก็ใช้ได้หมด

1.รถเมล์ธรรมดา-ปรับอากาศ ขสมก.

ผู้มีสิทธิ “เราชนะ” ซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก.ทุกประเภท ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” ได้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. – 31 พ.ค.64 ณ จุดจำหน่ายบัตรโดยสารที่มีสัญลักษณ์ “เราชนะ” กว่า 30 แห่ง เพื่อนำบัตรโดยสารดังกล่าว มาใช้ชำระค่าบริการบนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. - 31 พ.ค. 64


2.บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)

ผู้มีสิทธิ “เราชนะ” ใช้สิทธิชำระค่าโดยสารรถโดยสาร บขส. ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้ที่ ช่องจำหน่ายตั๋ว สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ สถานีเดินรถและจุดจอดรถโดยสารของ บขส. ทั่วประเทศ (ยกเว้นซื้อตั๋วผ่านระบบออนไลน์ และเคาน์เตอร์เซอร์วิส) ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. – 31 พ.ค.64

สำหรับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ใช้สิทธิได้พร้อมกันทั้ง 2 สิทธิ แต่ต้องแจ้งพนักงานจำหน่ายตั๋วก่อนซื้อตั๋วโดยสาร โดยหากเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่พอ ก็ใช้ “เราชนะ” ชำระแทนได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อซื้อตั๋วรถโดยสาร บขส. โดยใช้สิทธิ “เราชนะ” และออกบัตรโดยสารเรียบร้อยแล้วจะขอคืนตั๋วหรือแลกเป็นเงินสดไม่ได้ แต่เลื่อนการเดินทางได้

ล่องเรือ ชิลๆ ก็ใช้ “เราชนะ” ได้

สุดท้ายกับ บริการระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำ ซึ่ง กรมเจ้าท่า ร่วมสนับสนุนการใช้ “เราชนะ” โดยให้ กลุ่มเรือโดยสารที่เจ้าของเป็นนิติบุคคล ประกอบด้วย เรือข้ามฟาก เรือโดยสารในแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล สมัครเข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” ได้ที่ ธ.กรุงไทยทุกสาขา โดยจะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องและถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการรายย่อยทั่วไป ให้ลงทะเบียนได้ด้วยตนเองทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ในฐานะ “ร้านค้า” เพื่อรับชำระค่าบริการ

สำหรับผู้มีสิทธิ “เราชนะ” ที่จะใช้บริการเดินทางโดยเรือ สังเกตเรือที่เข้าร่วมโครงการได้ โดยจะมีสติ๊กเกอร์จาก ธ.กรุงไทย ติดอยู่บริเวณตัวเรือ


พี่วิน ลุงแท็กซี่ น้าคนขับรถตู้ ก็ร่วมได้นะ

รัฐบาล เปิดโอกาสให้ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ และรถตู้โดยสาร ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร ซึ่งใช้จ่ายผ่านสิทธิ “เราชนะ”


โดยมีเงื่อนไข สำหรับ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่มิเตอร์ และรถตู้โดยสาร จะต้องทำการโหลดแอปฯ “ถุงเงิน” เพื่อใช้รับเงิน และจะต้องลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 มี.ค.64 โดยจำเป็นต้องมี บัญชี ธ.กรุงไทย แบบบุคคลธรรมดา ใช้ประกอบการลงทะเบียนด้วย

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

เปิดมาตรการหลัก เยียวยา “ชนชั้นแรงงาน” ผลกระทบโควิด-19