“ช่างทำเครื่องถม” วิชาเปิด ที่อยากให้ทุกคนได้ทำความรู้จัก

by ThaiQuote, 18 กุมภาพันธ์ 2564

เพราะเป็นงานหัตถศิลป์ที่ทรงคุณค่า และมีมูลค่าราคาสูง จึงทำให้ “เครื่องถม เงิน-ถมทอง” ถูกรู้จักในวงจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้นิยมสินค้าราคาแพง

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หากไม่ใช่ผู้มีอันจะกิน ผลิตภัณฑ์ “งานคราฟต์โบราณ” (งานฝีมือ หรือหัตถกรรม) ที่สืบทอดมาในสายตระกูลช่างเหล่านี้ ก็ไม่อาจปรากฏอยู่ให้เห็นทั่วไปในตลาดมากนัก จึงยากที่จะสามารถคาดเดาอนาคตของการสืบทอดหัตถศิลป์แขนงนี้ไว้ได้

 

จาก “ความจำใจ” สู่ “ความรัก”

“ต้องบอกว่างานเครื่องถม คืองานที่ต้องอาศัยความตั้งใจ ความอดทน ที่สำคัญต้องมีใจรัก ขณะเดียวกันครูคนหนึ่งจะต้องคัดเลือกคนที่มารับช่วง หรือ มาเรียน ก็ต้องดูลักษณะนิสัย เขาจะต้องมีที่มาที่ไป ไว้ใจได้ เพราะของแต่ละชิ้นล้วนเป็น ทอง หรือเงิน จริง ที่มีมูลค่าสูง”

 

 

“ครูอุทัย” หรือ “อุทัย เจียรศิริ” ประธานกลุ่มอาชีพสหกรณ์สืบสานวัฒนธรรมไทย จ.นนทบุรี “เครื่องถมครูอุทัย” บอกกับเรา ถึงการคัดเลือกคนสืบทอดงานฝีมือในแขนงนี้

ขณะที่ประวัติของ “ครูอุทัย” เองนั้น เติบโตมาในครอบครัว ช่างเครื่องถมเมืองนคร ร่ำเรียนการทำ “เครื่องถม” จากลุง ซึ่งเป็นครูช่างเครื่องถม ประจำวิทยาลัยศิลปหัถตกรรม จ.นครศรีธรรมราช จากเด็กไม่ค่อยตั้งใจเรียน ถูกหอบหิ้วย้ายถิ่นฐานตามลุง ซึ่งมารับราชการที่ “เพาะช่าง” ทำให้ “ครูอุทัย” ต้องจำใจเป็น “ช่างเครื่องถม” ไปโดยปริยาย

 

 

“แม้จะเกิดในครอบครัวของช่างทำเครื่องถม แต่ไม่ได้ชอบการทำเครื่องถมนะ จนเมื่อต้องถูกบังคับให้ทำ เรามีพื้นฐานเรื่องของการเขียนแบบเขียนลายอยู่แล้ว อาจเป็นเพราะสายเลือด มารักการทำเครื่องถมก็ต่อเมื่อเรารู้ว่า อาชีพนี้จะเป็นอาชีพที่เลี้ยงดูเราได้ไปตลอดนั่นแหละ”

เอกลักษณ์ “เครื่องถมครูอุทัย”

ระหว่างการสัมภาษณ์ เรานั่งมอง ลวดลายไทยวิจิตร บน “เครื่องถมเงิน-ถมทอง” อย่างสายตาของคนธรรมดา ที่บอกได้แค่เพียงว่า “สวย” เท่านั้น ไม่แปลกหากในอดีต จะมีน้อยคนนักที่รู้จัก

“ก่อนอื่นต้องบอกว่างานพวกนี้มีราคาที่ค่อนข้างสูง เพราะใช้ทอง หรือเงินจริงเป็นส่วนประกอบ มีลูกค้าจำกัดอยู่ในวงแคบ เราจึงต้องมาประยุกต์ เพื่อให้เข้าถึงคนทั่วไปมากขึ้น ดังนั้นสินค้าที่เราทำจึงมีราคาตั้งแต่หลักร้อย-หลักล้าน ซึ่งก็ต้องใช้เวลาทำตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมง จนไปถึงเกือบปีก็มี”

 

 

“ครูอุทัย” ปรับเปลี่ยนแนวคิดการสร้างงาน ในรูปแบบที่ทันยุคสมัยเข้ากับสังคมมากยิ่งขึ้น ด้วยการคงลวดลายไทยที่สื่อความหมายของความเป็นมงคล ในยุคที่ผู้คนกำลังขวนขวายสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ

“สมัยก่อน งานเครื่องถม จะถูกสั่งทำโดยคนที่ชอบ ส่วนมากก็จะเป็นลายไทยโบราณ ช่างก็ทำตามสั่ง หรือที่เรียกว่าทำตามประเพณีนิยม โดยไม่ได้คิดประยุกต์ลายขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันเรามาคิดใหม่ บอกเล่าเรื่องราวของลวดลายต่างๆ มากขึ้น สื่อให้รู้ว่าลายเหล่านี้มีความเป็นมงคลอยู่ในตัว และใช้งานได้หลากหลาย เช่น

ลวดลายทศชาติชาดก

ลายดอกพุดตาน สื่อถึงความเมตตา

ลายประจำยาม หมายถึง ลายเทพคุ้มครอง

ลายกนกเปลว หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

ลายบัวน้ำ ที่โบราณบอกว่า ผิดไปจากลักษณะเครื่องถม

 

 

เอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกอย่างที่สำคัญ คือ การใช้เทคนิคผสมผสานระหว่างงานสกุลช่างนคร ที่โดดเด่นในเรื่องการสลักลวดลายลงบนเครื่องเงิน ก่อนลงถมเงิน-ทอง ผนวกกับวิธีการสร้างลวดลายด้วยการกัดกรด ของตระกูลช่างภาคกลาง ที่เรียกว่า “ถมจุฑาธุช” กลายมาเป็นเครื่องถมเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่เรียกว่า “เครื่องถมครูอุทัย”

 

 

 

เมื่อเป็น “ครู” ต้องสอนให้หมด

“ครูอุทัย” เป็นอดีตครู “เครื่องถม” ประจำโครงการศิลปาชีพสวนจิตรลดา ได้รับยกย่องให้เป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน – ครูช่างศิลปหัตถกรรม–ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" ประจำปี 2562 ของ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)

“เคยมีลูกศิษย์ ซึ่งเราสอนให้ยึดเอางานนี้เป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ มีช่าง 7-8 คนทำงานอยู่ที่บ้าน มีรายได้ตั้งแต่หมื่นปลายๆ ไปจนถึง 40,000 บาทต่อเดือน สอนตั้งแต่การเขียนลาย เมื่อก่อนนี้มีโครงการของจังหวัดที่จะส่งคนมาฝึกอาชีพ เป็นหลักสูตรระยะสั้น 3 เดือน ซึ่งเขาก็มีความรู้ แต่ยังนำไปเป็นอาชีพไม่ได้เพราะขาดการส่งเสริมต่อยอด ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจำหน่าย หากคนไหนที่มีฝีมือดี เราก็รับไว้ ป้อนงาน จ่ายเงินเดือนให้”

 

 

ขั้นตอนที่ “ครูอุทัย” สอน เริ่มตั้งแต่การทำเครื่องมือเอง เพราะเครื่องมือที่ใช้ในงานนี้ เป็นเครื่องมือเฉพาะที่ต้องออกแบบเอง แม้ว่าปัจจุบันมีหลายสถานศึกษาเปิดสอนหลักสูตร “ช่างทำเครื่องถม” แต่ลึกๆ แล้วครูผู้สอนเอง ก็จะสอนเฉพาะหลักการพื้นฐาน โดยถือว่า “เทคนิคเฉพาะ” นั้น เป็นความลับ สำหรับบางคน

“ช่างทำเครื่องถมโบราณ จะหวงแหนวิชามาก การสืบทอดเป็นลักษณะเฉพาะตระกูล แต่สำหรับที่นี่ ถือว่าเป็น “วิชาเปิด” ที่สอนให้ทุกคนรู้จัก และรับรู้ถึงคุณค่าของงานหัตถกรรมแขนงนี้ได้ เวลาไปสอนที่ไหนเราบอกหมด บางครั้งไม่รับค่าสอน เพระอยากให้เอาเงินตรงส่วนนี้ไปซื้ออุปกรณ์ให้นักศึกษาได้มาเรียน แต่ก็มีปัญหาว่าคนบางกลุ่มไม่พอใจ เพราะกลัวว่าผลิตภัณฑ์จากงานเหล่านี้จะราคาตก”

 

 

 

ถึงตรงนี้เราเลยไม่แปลกใจ ที่เห็นการล่มสลายของศิลปกรรมไทย งานฝีมือบางแขนง ซึ่งไร้ผู้สืบทอด หรือมีผู้สืบทอดแต่ไม่อาจสร้างงานให้เหมือนกับคนรุ่นเก่า

อนุรักษ์ “เครื่องถม” สร้างอาชีพคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

“งานศิลปหัตถกรรม เริ่มมาจากชุมชน วันนี้หากรัฐบาลเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง ผ่านหน่วยงานท้องถิ่น จะช่วยฟื้นฟูงานศิลป์แขนงต่างๆ ของท้องถิ่นได้ โดยอาศัยกลุ่มคนรุ่นใหม่ภายในชุมชน ซึ่งว่างงาน หรือเพิ่งจบใหม่ บางครั้งพวกเขาต้องการทำงาน แต่ไม่มีงานให้ทำ เราต้องหามาตรการทำอย่างไรให้เขามาฝึกอาชีพได้ จัดหาแหล่งตลาดให้ นำเสนองานออกไปขายภายนอกชุมชน อยากเห็นโครงการในลักษณะนี้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เขาก็ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานเฉพาะในเมืองอย่างเดียว”

 

 


ไม่ว่าจะเป็น “เครื่องถม” หรือหัตถกรรมประเภทใด ล้วนมีส่วนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมประเพณีของไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งควรได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ ด้วยการส่งเสริมผ่านเยาวชน เพราะนอกจากการอนุรักษ์แล้ว ศิลปะแขนงต่างๆ นี้ยังใช้เพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้อีกด้วย นี่คือ สิ่งที่ “ครูอุทัย” ตั้งความหวังเอาไว้ในอนาคต เพื่อไม่ให้งานหัตถกรรมอันทรงคุณค่าต้องเลือนหายไป

 

 

 

 

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“กกคราม” ปั้นแบรนด์ผ้าทอท้องถิ่น ต่อลมหายใจ 2,000 ชีวิตในชุมชน