“ขยะข้างทาง” สะท้อนปัญหาสังคมไทย ใครต้องรับผิดชอบ?

by ThaiQuote, 24 กุมภาพันธ์ 2564

ภาพกองขยะข้างทาง ตามชานเมือง ถือเป็นตามสะท้อนถึงการดูแลจัดการของหน่วยงานในพื้นที่ และที่สำคัญ คือจิตสำนึก ของคนไทย ที่ยังขาดหายอยู่ในปัจจุบัน สรุปแล้ว ใครกัน? ที่ต้องรับผิดชอบปัยหานี้

บ่อยครั้งที่เรามักเห็น กองขยะเกลื่อนกลาด ปรากฏอยู่ข้างทางริมถนนตามชานเมือง สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึง “จิตสำนึก” ของผู้ทิ้งได้เป็นอย่างดี แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์และแก้ไขปัญหา ในระดับภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคประชาชน

จากการลงพื้นที่ สำรวจของเรา พบว่ายังมีหลายพื้นที่ย่านชานเมือง ได้กลายเป็น “บ่อขยะจำเป็น” ของคนบางกลุ่ม ขอหยิบยกบริเวณพื้นที่ชานเมือง อย่าง ถ.เลียบด่วน ลำลูกกาคลอง 5 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ใกล้เคียงกับด่านมอเตอร์เวย์ธัญบุรี

 



เขตพื้นที่รับผิดชอบ อุปสรรค “การจัดการขยะ”

ไม่แปลก หากเมื่อถามหาความรับผิดชอบจากเจ้าของพื้นที่ เรามักจะพบกับการบอกปัดของหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่เอง เนื่องจากพื้นที่ถนนสาธารณะ บางครั้งมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้ง กรมทางหลวง ทางหลวงชนบท การทางพิเศษฯ และสารพัดหน่วยงานปกครองท้องถิ่น อย่าง อบต. หรือ เทศบาล

 

“เราปฏิเสธไม่ได้เมื่อมีการร้องเรียนเรื่องของปัญหาการลักลอบทิ้งขยะข้างทาง ซึ่งเราก็ดำเนินการ ขุดฝังกลบ มาโดยตลอด บางครั้ง ก็จะมีหน่วยเทศกิจคอยเฝ้าระวังและจับปรับผู้กระทำความผิด แต่เนื่องจากบางพื้นที่อย่างเช่น ริมถนนเลียบด่วนคลอง 5 ซึ่งไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบโดยตรงของ อบต.บึงคำพร้อย เราจึงทำอะไรไม่ได้มากเพราะเป็นพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานอื่น” นายสิทธิเกียรติ เจนวนิช นายก อบต.บึงคำพร้อย กล่าวกับเรา

สร้างจิตสำนึกในชุมชน ไม่มีความหมาย

นายก อบต.บึงคำพร้อย ยังบอกกับเราอีกว่า การสร้างจิตสำนึกในชุมชน เรื่องของขยะ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะ แต่ “การลักลอบทิ้งขยะข้างทาง” แม้จะสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชน ก็ยังพบปัญหาดังกล่าวอยู่เช่นเดิม

“ปัญหาข้างทาง มันเกิดขึ้นจากคนไร้จิตสำนึก และส่วนใหญ่จะไม่ใช่ และส่วนใหญ่จะไม่ใช่คนในชุมชนเอง แต่คนนอก ที่มักจะลักลอบทิ้งขยะในพื้นที่ว่างเปล่า หรือพื้นที่เปลี่ยว ทางแก้จึงทำได้แค่ปลายเหตุ คือ การขุดกลบฝัง จนปัจจุบัน อบต.เองก็ต้องขนไปทิ้งยังที่ทิ้งขยะที่ถูกต้อง เนื่องจากพื้นที่เหล่านั้นถูกขุดกลบฝังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนไม่สามารถทำได้อีก”

 



การเดินทางของ “ขยะชุมชน” ก่อนเป็น “ขยะข้างทาง”

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ขยะมูลฝอยชุมชนรวมทั้งประเทศ ในปี 2562 มีจำนวน 28.71 ล้านตัน โดยมีปริมาณขยะที่ถูกจำกัดถูกต้องในสถานที่กำจัดขยะ 409 แห่ง จำนวน 9.81 ล้านตัน ถูกนำไปใช้ประโยชน์ (รีไซเคิล) 12.52 ล้านตัน และพบว่า มีขยะอีกจำนวน 6.38 ล้านตัน ที่ถูกกำจัดโดยไม่ถูกต้อง ในสถานที่กำจัดขยะไม่ถูกต้อง จำนวน 2,257 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการ “เทกอง” ถึง 2,123 แห่ง และมีการเผากลางแจ้ง อีก 25 แห่ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด PM2.5

ดังนั้นการ “เทกอง” จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด “ขยะริมทาง”

 



ใช้ “ไม้แข็ง” ปราบคนไร้จิตสำนึก

ข่าวคราวการจับกุมการ “ทิ้งขยะข้างทาง” แม้จะแทบไม่มีให้เห็น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีกฎหมายลงโทษ “คนลักลอบทิ้งขยะ” ซะทีเดียว เราพบว่า มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการทิ้งขยะ ที่สามารถใช้ ปราบ “คนไร้จิตสำนึก” ได้ แบ่งออกเป็น

1.ความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535
-มาตรา 31(2) และ 54) การทิ้งขยะในที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

-มาตรา 26 และ 54 การทิ้งขยะ หิน กรวด ดิน เลน ทราย ลงในบริเวณที่ได้ปลูกหญ้าหรือต้นไม้ซึ่งราชการส่วนท้องถิ่นราชการส่วนอื่นหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

 



2.ความผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

-ป.อาญา มาตรา 380 การทิ้งขยะในน้ำที่เป็นบ่อ สระ หรือที่ขังน้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-ป.อาญา มาตรา 396 การทิ้งซากสัตว์ซึ่งอาจเน่าเหม็น ในหรือริมทางสาธารณะ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

3.ความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535

-มาตรา 25(1) การทิ้งขยะที่ส่งกลิ่นเหม็นหรือละอองสารเป็นพิษ หรือน่าจะเป็นที่เพาะพันธุ์พาหะนำโรค หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

-มาตรา 25(4) การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้นั้น หากไม่ใช่การกระทำแบบจะแจ้ง ต่อหน้าต่อตา ก็นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษไม่ได้ สุดท้ายแล้ว เรื่องของการ “ทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง” จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยจิตสำนึกส่วนตัวบุคคลโดยแท้จริง

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

บสย.เข้าสู่ปีที่ 30 โชว์ยอดค้ำสินเชื่อแตะ 1 ล้านล้านบาท