สหรัฐฯ กลับสู่ “ความตกลงปารีส” อย่างเป็นทางการ

by ThaiQuote, 4 มีนาคม 2564

ไม่รอช้า!! “โจ ไบเดน” เดินหน้านโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมตามคำสัญญา นำสหรัฐฯ กลับสู่ “ความตกลงปารีส” อย่างเป็นทางการ ลั่น ร่วมมือนานาประเทศต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

เพียงแค่ 1 เดือน หลังพิธีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี (20 มกราคม 2564) นาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ได้นำสหรัฐฯ ประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและถือเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก กลับเข้าร่วมความตกลงปารีสที่มุ่งปกป้องโลกจากวิกฤตอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

สหรัฐฯได้ถอนตัวออกจากความตกลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้สั่งการ ทำให้สหรัฐฯกลายเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่ถอนตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่ข้อตกลงนี้ได้เริ่มต้นเมื่อปี 2558

การกลับเข้าร่วมในความตกลงปารีสนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของคณะบริหารของไบเดนที่จะพลิกนโยบายด้านสภาพอากาศในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ทรัมป์ได้ทำให้กฎระเบียบและนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ต้องหย่อนยาน

นาย Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทวิตเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า นี่ถือป็นวันที่ดีในการต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และสหรัฐฯจะร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลกโดยจะไม่ยอมเสียเวลาอีกต่อไป เพื่อสร้างโลกที่พร้อมรับมือและต้านทานภัยพิบัตินี้ได้

“เวลานี้ ก็สำคัญเท่า ๆ กับการเข้าร่วมความตกลงเมื่อปี 2559 และก็สำคัญเท่า ๆ กับการกลับเข้าร่วมความตกลงในวันนี้ และสิ่งที่เราจะทำในสัปดาห์ เดือน และปีถัด ๆ ไปนั้น ก็ยิ่งสำคัญขึ้นไปอีก” Blinken เสริมในคำกล่าว

ภายใต้ความตกลงปารีสนี้ ประเทศต่าง ๆ ต่างถูกคาดหวังให้ยกระดับการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุก ๆ 5 ปี เป้าหมายของการร่วมมือระดับโลกนี้คือควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ภายใต้การดำเนินการของคณะบริหารอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามาได้ให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 26% - 28% เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยในปี 2548 ภายในปี 2568

ทั้งนี้ในปี 2563 ควรจะเป็นก้าวสำคัญอีกขั้นของนานาประเทศในการยกระดับคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ได้ทำให้การเจรจาด้านสภาพอากาศในเดือนพฤศจิกายนที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ถูกเลื่อนออกไป

นอกจากนี้ โจ ไบเดน ได้วางแผนที่จะรับเป็นเจ้าภาพการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศของผู้นำทั่วโลกในวันคุ้มครองโลก (22 เมษายน) ซึ่งจะเป็นงานที่ไบเดนจะประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกๆไซด์ภายในปี 2573 ของสหรัฐฯ หรือที่รู้จักกันในนาม Nationally Determined Contribution (NDC)
Alok Sharma ประธานการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 26 แสดงความยินดีที่สหรัฐฯ กลับสู่ความตกลงปารีสเมื่อวันศุกร์โดยเขียนใน CNN op-ed ว่าเขาหวังว่า "จะเดินหน้าทำงานอย่างเร่งด่วนกับฝ่ายบริหารและรัฐบาลของประธานาธิบดี ไบเดน ทั่วโลกเพื่อดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างเด็ดขาด "

ข้อมูล : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง” มรดกภูมิปัญญาชัยภูมิ “ออร์แกนิก” ทุกขั้นตอนการผลิต