“เรือนจำท่องเที่ยวหนองเรียง” น้อมนำ “เกษตรทฤษฎีใหม่” สร้างคนดีคืนสังคม

by ThaiQuote, 9 มีนาคม 2564

ทำความรู้จัก “เรือนจำท่องเที่ยวหนองเรียง” สวรรคโลก ศูนย์การเรียนรู้ “โคก หนอง นา โมเดล” ใช้ “เกษตรกรรม” นำทางชีวิต วิถีแห่งความสุข ของ “ผู้พ้นโทษ”


จากจำนวนเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง ในปัจจุบัน ที่มีพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ กำลังแต่งองค์ทรงเครื่องให้กลายเป็น “เรือนจำท่องเที่ยว” ที่ไม่เพียงจะเปลี่ยน “คุก” จาก “แดนสนธยา” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมและฝึกอาชีพให้กับประชาชน และ “ผู้ต้องขัง” อีกด้วย

สำหรับ “เรือนจำท่องเที่ยว” เป็นนโยบายของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม เพื่อส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ฝึกทักษะด้านต่างๆ ต่อยอดเป็นอาชีพหลังพ้นโทษได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ สร้างประกายแห่งความหวังและความเชื่อมั่นที่ดีของสังคม ในการหยิบยื่นโอกาสแก่ผู้ต้องขัง

 

 

ปัจจุบัน มีการเปิดนำร่องแล้ว 7 แห่ง ได้แก่ เรือนจำชั่วคราวดอยราง จ.เชียงราย เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง จ.เพชรบุรี เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จ.ตราด เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว จ.ระยอง เรือนจำชั่วคราวเขาบิน จ.ราชบุรี ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง จ.ระยอง และเรือนจำชั่วคราวหนองเรียง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และในปีนี้ (2564) เตรียมเปิดเพิ่มอีก 24 แห่ง

เราได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ “กิตติพงษ์ ละชั่ว” ผู้บัญชาการเรือนจำ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของ “เรือนจำท่องเที่ยวหนองเรียง”

 

“เรือนจำชั่วคราวหนองเรียง มีจำนวนผู้ต้องขัง ประมาณ 700 คน โดยมีพื้นที่ว่างเปล่า 35 ไร่ เราจึงใช้พื้นที่ส่วนนี้ เปลี่ยนให้กลายเป็นเรือนจำท่องเที่ยว เพื่อดำเนินการฝึกอาชีพผู้ต้องขัง “คืนคนดีสู่สังคม” ตามนโยบายของ ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ซึ่งเราได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.63 และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาเยี่ยมชมอย่างไม่เป็นทางการแล้วในขณะนี้”

 

เรือนจำชั่วคราวหนองเรียง แบ่งพื้นที่ 35 ไร่ ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ

1.พื้นที่ส่วนของงานบริการ ที่มีศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ฟาร์มสัตว์ขนาดเล็ก ครัวหนองเรียง และร้านกาแฟ

2. พื้นที่ส่วนการประยุกต์ใช้หลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง โดยน้อมนำพระราชดำริของในหลวง ร.9 และร.10 มาปรับใช้ เพื่อฝึกอาชีพผู้ต้องขัง ประกอบไปด้วย โครงการ “1ไร่ 1 แสน” และ โครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความยั่งยืน” ของกรมราชทัณฑ์ แปลงนาสาธิต พื้นที่ปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ วัว หมู และการปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ฯลฯ

3.พื้นที่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และแลนด์มาร์กสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้รูปที่ระลึก สวนดอกไม้ ปลูกพันธุ์ไม้ดอก เช่น ทานตะวัน ทองอุไร บานชื่น ฯลฯ

 

 

 

“พื้นที่ทั้ง 3 ส่วนนั้น จะมีผู้ต้องขังเป็นผู้รับผิดชอบดูแล โดยเราจะมีเกณฑ์คัดเลือกผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษ ประมาณ 50-60 คน สลับหมุนเวียนในแต่ละรอบ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ต้องขังด้วย หลักคิดง่ายๆ ที่เราจะบอกกับผู้ต้องขังเสมอคือ พื้นที่ตรงนี้ จะสร้างอาชีพให้กับเขาได้ โดยอาศัยหลักการทำงาน ทั้งงานด้านบริการ เกษตรกรรม การอยู่อย่างพอเพียง และการฝึกปรับตัวเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมในสังคมภายนอก”

 

 

 


สิ่งที่เป็นไฮไลต์ของเรือนจำท่องเที่ยวหนองเรียง คือ เมนูอาหาร “ผัดไทยปลาย่าง” ,“โคโคนัท คอฟฟี่” จาก “หนองเรียง คาเฟ่” และ สวนดอกไม้ รวมทั้งการเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ที่สนใจ

“จุดเด่นของเราคือ “หนองเรียงคาเฟ่” ซึ่งมีเมนูเด็ดอย่าง ผัดไทยปลาย่าง ที่ใช้วัตถุดิบ อย่าง ปลาดุก จากโครงการของเราเอง นอกจากนี้เมนูอื่นๆ ก็ใช้ผักปลอดสารพิษ และวัตถุดิบที่มีอยู่ในโครงการ “1 ไร่ 1 แสน” และ “โคก หนอง นา” เป็นหลัก ขณะเดียวกัน เรายังเปิดพื้นที่โครงการดังกล่าวเป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้ การทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งขณะนี้ก็มีประมาณ 15-20 คณะแล้ว”

 

ขณะที่การฝึกอาชีพ จาก “เรือนจำท่องเที่ยว” นั้น มีทั้งเรื่องของการบริการ ฝึกการทำอาหาร ชงกาแฟ การปรับตัวเข้าสู่สังคมผ่านการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม นอกจากนี้ประโยชน์หลักที่ผู้ต้องขังได้รับจากโครงการดังกล่าว คือ การสร้างอาชีพเกษตรกรรม ตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง และ เกษตรนวัตวิถี ที่ผสมผสานระหว่างการใช้นวัตกรรม และวิถีท้องถิ่น

“เราสอนเรื่องการบริการในพื้นที่ของ “หนองเรียงคาเฟ่” ขณะที่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม มีหลักพื้นฐานทางเกษตรอยู่แล้ว เราจึงสอนเรื่อง “1 ไร่ 1 แสน” ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม มีหลักพื้นฐานทางเกษตรอยู่แล้ว มีพื้นที่ 1 ไร่จะบริหารจัดการรูปแบบการทำเกษตรกรรมให้มีรายได้ 1 แสน/ปี โดยแบ่งพื้นที่ ทำนา ปลูกผัก ปลูกไม้ผลยืนต้น ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงสัตว์ และพื้นที่ปลูกบ้าน ตามสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ด้วยแนวทางการพึ่งพาตนเอง และแบบนวัตวิถี ที่ใช้นวัตกรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่นควบคู่กันไป”

 

 

วันนี้ “เรือนจำท่องเที่ยวหนองเรียง” มีรายได้ในช่วงเริ่มต้นจากโครงการ ประมาณ 40,000-50,000 บาท ต่อเดือน โดยเงินดังกล่าวหลังหักค่าใช้จ่าย จะนำเข้ากองทุนปันผล เพื่อแบ่งสัดส่วนให้กับผู้ต้องขัง ที่เข้ามาฝึกอาชีพในโครงการต่อไป

เมื่อมีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับ ผบ.เรือนจำสวรรคโลก อย่างนี้แล้ว เราจึงใช้โอกาสนี้ ถามถึงเรื่อง “คุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง” ซึ่งคนภายนอกมักมองเป็น “ดินแดนสนธยา” ว่าเป็นอย่างไร

“ณ เวลานี้คุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังดีมาก โดย 1.กรมราชทัณฑ์ ได้น้อมนำโครงการ “ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ในพระราชดำริของในหลวง ร.10 เข้ามาใช้บริการจัดการเรือนจำ ด้านการรักษาพยาบาล ที่มีรพ.แม่ข่ายในพื้นที่ เชื่อมโยงกับเรือนจำ

2.นโยบายลดความแออัดผู้ต้องขัง ของ รมว.ยุติธรรม พร้อมทั้งการตรวจสอบด้านอาหารการกิน ซึ่งโครงการเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังดีขึ้น ทั้งเรื่องความเจ็บป่วย อาหารการกิน และพื้นที่กินอยู่หลับนอน โดยผู้ต้องขังบางคนเจ็บป่วยจากภายนอก ก็มารักษาหายภายในเรือนจำ บางคนเรียนจบ กศน.มีความรู้จากที่นี่”

 

กรมราชทัณฑ์ได้พัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อการการยอมรับในสังคมให้กับผู้ต้องขัง นอกเหนือจากการฝึกอาชีพ และโครงการ “เรือนจำท่องเที่ยว” ผ่านการดูแลด้านจิตใจ ในโครงการ พัฒนาจิตใจผู้ต้องขัง “สัคคสาสมาธิ” โดยฝึกปฏิบัติสมาธิประพฤติตนตามคำสอนของพระพุทธศาสนา โครงการส่งเสริมความรู้ด้านการศึกษา (กศน.)

ผบ.เรือนจำ สวรรคโลก เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความสุขให้กับ “ผู้ต้องขัง” ได้ในระหว่างต้องโทษ แม้พวกเขาจะต้องอยู่ในพื้นที่จองจำเพื่อชดใช้โทษที่ได้กระทำผิด และเมื่อพ้นโทษไปแล้วความรู้และสิ่งที่ได้รับจากโครงการเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นภาในสังคมได้อย่างไม่แปลกแยก

“การสร้างการยอมรับของสังคม ถือว่ามีความสำคัญมากที่จะทำให้ผู้ที่พ้นโทษไม่กลับมากระทำผิดซ้ำอีก โครงการที่เราทำอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาให้ผู้ต้องขังได้ปรับตัวเข้าสู่สังคมปกติได้ ส่วนตัวมองว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เมื่อพ้นโทษไปแล้ว จะไม่กระทำผิดซ้ำ หรือสร้างปัญหาให้กับสังคม และพร้อมจะเป็นคนดี หากสังคมให้โอกาส ให้พื้นที่สำหรับเขาในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ”

“เรือนจำท่องเที่ยวหนองเรียง” น้อมนำ “เกษตรทฤษฎีใหม่” สร้างคนดีคืนสังคม

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“เกาะเกร็ด” ในความสุข ของ “สาวมอญ” รุ่นใหม่